โควิดสาหัส รัฐบาลต้องเร่งเยียวยา

06 พ.ค. 2564 | 05:00 น.

โควิดสาหัส รัฐบาลต้องเร่งเยียวยา : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ  3676 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 6-8 พ.ค.2564

 

     สาหัสสากรรจ์กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอก 3 มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละวันกว่า 1 พันราย ต่อเนื่องติดต่อกัน มียอดผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 303 ราย แค่เมษายน 2564 เดือนเดียวเสียชีวิตไปกว่า 200 ราย และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากยังมีผู้ติดเชื้ออาการหนักที่อยู่ระหว่างการรักษานับพันราย

     สถานการณ์ดังกล่าว แม้รัฐบาลจะยังยืนยันว่า สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ แต่ในความเป็นจริงยังเห็นการติดเชื้อจากคลัสเตอร์ต่างๆ ออกมาเป็นระยะ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการไม่ระมัดระวังหรือการป้องกันของประชาชน และมาตรการที่ไม่เข้มงวดพอของภาครัฐ โดยเฉพาะการล็อกดาวน์ประเทศเหมือนครั้งไวรัสโควิด-19 ระบาดรอบแรก

     การที่รัฐบาลไม่เลือกที่จะล็อกดาวน์ประเทศครั้งนี้ ก็มีความเข้าใจ เพราะเป็นห่วงเรื่องเศรษฐกิจที่อาจจะหยุดชะงักลง และไปเลือกดำเนินการที่จะควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดแทน อย่างการขอความร่วมมืองดออกจากที่อยู่อาศัยหลัง 21.00 น. และการปิด ผับ บาร์ ร้านอาหารให้ขายได้ไม่เกิน 21.00 น. และห้ามนั่งทานในร้าน ให้สั่งกลับบ้านเท่านั้น ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ลดเวลาการเปิด เพียงแค่ออกมาตรการดังกล่าวออกมา ก็สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างแล้ว

     สมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ทำการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกที่มีช่องทางจำหน่ายรวมกันกว่า 23,000 แห่ง และร้านค้าปลีกบริการภัตตาคารร้านอาหารที่มีช่องทางบริการกว่า 6,000 แห่ง ชี้ให้เห็นว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกเดือนเมษายน ปรับลดลงกว่า 43% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกระจายเป็นวงกว้างกว่าที่ผ่านมา

     สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รอบนี้ ทุกฝ่ายต่างเร่งรัดให้รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาตรการเยียวยา หรือฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะภาคการค้าปลีก ค้าส่ง ศูนย์การค้า ร้านอาหาร เสนอให้รัฐบาลออกมาสนับสนุนค่าจ้างพนักงาน ลดภาระค่าใช้จ่ายด้วยมาตรการภาษี เพื่อไม่ให้มีการลดพนักงานหรือเลิกจ้าง

     การให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แก่ผู้ประกอบการอย่างจริงจังและรวดเร็ว เพราะผู้ประกอบการค้าปลีกจะสามารถดำเนินธุรกิจได้เพียง 3-6 เดือน และการประกาศจ้างงานแบบรายชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับการบริการต่อผู้บริโภคที่มาเป็นช่วงเวลา

     ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ได้เห็นความชัดเจน ถึงมาตรการเยียวยา หรือลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ต่างๆ ออกมา ในการนำเงินที่เหลืออยู่ราว 3 แสนล้านบาท ออกมาใช้ดำเนินโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการเราชนะ และโครงการม33 เรารักกัน เป็นต้น

     รวมถึงมาตรการด้านการเงินผ่านการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ มาตรการด้านสินเชื่อ มาตรการพักชำระหนี้ มาตรการลดค่าใช้จ่ายของประชาชน

     ทั้งนี้ เชื่อว่า หากรัฐบาลเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ จะช่วยรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศและมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้สามารถเดินหน้าต่อไป ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดที่เป็นอยู่ได้