กปน.ไม่ช่วยแล้ว ยังซ้ำเติมประชาชน

27 เม.ย. 2564 | 11:24 น.

กปน.ไม่ช่วยแล้ว ยังซ้ำเติมประชาชน : คอลัมน์ฐานโซไซตี ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3674 ระหว่างวันที่ 29 เม.ย.-1 พ.ค.2564 โดย...กาแฟขม

*** หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับ 3674 ระหว่างวันที่ 29เม.ย.-1พ.ค.2564 โดย...กาแฟขม

*** สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังคงรุนแรง อินเดียเข้าขั้นวิกฤติติดเชื้อ เสียชีวิต มีข่าวผู้ที่พอมีกำลังหตรือพวกเศรษฐีเหมาลำเครื่องบิน หนีโควิดออกนอกประเทศ นานาชาติต้องส่งความช่วยเหลือ อังกฤษ ฝรั่งเศส ประกาศให้ความช่วยเหลืออินเดียฝ่าวิกฤติ สหรัฐส่งสารที่ใช้ในการผลิตวัคซีนเข้าช่วยอินเดีย ไม่เฉพาะอินเดียแต่ญี่ปุ่นประกาศล็อกดาวน์รอบ4 รอบ5 ในเมืองใหญ่ๆอีกครั้งหลังสถานการณ์การแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น

*** โลกสะเทือนสั่นไหวกับเจ้าไวรัสวายร้าย แถมกลายพันธุ์เร็ว ในประเทศไทยเองก็เข้าขั้นวิกฤติเต็มที วิกฤติการจัดการ เมื่อผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลักพันรายต่อวัน วิ่งสู่หลัก 2 พันรายต่อวัน และยังไม่มีทีท่าลดลง ยอดผู้ป่วยสะสมรักษาในโรงพยาบาล 25,767ราย ผู้ป่วยสะสม 57,508 ราย เสียชีวิต 148 รายสำหรับการระบาดระลอก 3 วิกฤติเตียงพยาบาลไม่พอรองรับ หากยังพุ่งเรื่อยๆยอดสะสมจะทะลุแสนรายในไม่ช้า วิกฤติบุคลากรการแพทย์ไม่พอ ยาไม่พอ

*** “หมอไม่ทน” กับระบบบริหารจัดการ กับ เจ้ากระทรวงสาธารณสุข ออกมารณรงค์ขับไล่ อนุทิน ชาญวีรกูล พ้นรัฐมนตรีสาธารณสุข ยอดล่าสุดทะลุ 2 แสนรายไปแล้ว ไม่ทนหลังเห็นความล้มเหลวในการจัดการโควิด ประชาชนออกมาไลฟ์สดนอนเจ็บป่วย 4-5 วัน แจ้งแล้วแจ้งอีกยังไม่มีการช่วยเหลือ สุดสลดใจเมื่อครอบครัวอาม่าย่านบางคอแหลม กทม.ติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่ได้รับการรักษาในสถานพยาบาล ต้องกักตัวอยู่บ้านร่วมกัน ทั้ง 3 คนเป็นพี่น้องกัน อายุ 85, 75 และ 70 ปี คนที่อายุ 85 ปี เสียชีวิตคาบ้านพัก ไม่มีคนไปรับศพครอบครัวอาม่า

*** กลุ่มหมอไม่ทน บางรายออกปาก ที่ต้องเปิดแคมเปญไล่ ต้องเข้าใจหมอกลุ่มนี้อยู่ระดับปฏิบัติงาน ซึ่งป็นด่านหน้า ต้องเผชิญสถานการณ์กดดันอย่างแทัจริง ตระหนักรู้ข้อมูล รู้ปัญหาในระบบสาธารณสุขที่ประสบพบเจอด้วยตัวเองและชี้เปรี้ยงมาจากการบริหารจัดการที่ล้มเลวของรัฐมนตรี กรณี “วัคซีน”ค่อนข้างชัดไทยได้วัคซีนช้า ไม่หลากหลาย ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง ซึ่งการจัดหาทางรมต.สั่งเองให้ติดต่อบริษัทผู้ผลิตวัคซีน และก่อนระบาดรอบนี้ แทบไม่มีแผนฉีดวัคซีนที่ชัดเจนเลย และสับสนว่าจะฉีดให้กลุ่มไหนก่อน ทั้งที่ต้องฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ให้ครบ 100% ก่อน เพราะเป็นด่านหน้าที่มีความสำคัญที่สุดต่อการรับมือกับโควิด กระทั่งมีการระบาดระลอกใหม่ และมีกระแสเรียกร้องกดดัน จึงมีแผนฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ให้ครบ 100% ออกมา ก็เป็นความชอกช้ำของ “หมอไม่ทน”

*** เรามาถึงจุดที่ระบบคอลเซนเตอร์ ระบบไอทีล้มเหลวได้อย่างไร หรือไม่ได้ล้มเหลวแต่จัดการไม่เป็น คงเห็นภาพเจ้าหน้าที่นั่งจดบันทึกรับเรื่องร้องเรียน รับความทุกข์ร้อนระบบคอลเซนเตอร์กลาง บ้านเมืองวิกฤติต้องบริหารแบบวิกฤติ เมื่อรัฐทำไม่ได้ ติดโน่น นี่ นั่น ก็อย่าหวงอำนาจไว้กับตัว ร้องขอจากภาคเอกชนเสีย ไม่ถือเป็นการเสียหน้าแต่เป็นการช่วยเหลือในยามยาก ภาคเอกชนที่เก่งระบบไอทีมีเยอะ กรณีเตียงพยาบาลให้เขาช่วยเซตระบบรวมขึ้นมาดีไหม มีแผนที่เตียงรพ. โฮสพิเทล รพ.สนามทุกเตียงทั่วประเทศ มีศูนย์คอนโทรลกลางเชื่อมกับแล็ปเอกชนที่ตรวจหาเชื้อโควิดด้วย แล้วทำไฟเขียว ไฟแดง แบบลานจอดรถในห้าง เคสหนักรักษาในรพ. เคสเบาลงมาส่งรพ.สนามที่ใกล้ที่สุด บัญชาการโดยกรมควบคุมโรค โดยทุกฝ่ายทะลายกำแพงลงมา ไม่ต้องบอกว่ารพ.ฉันสังกัดมหาวิทยาลัย รพ.ฉันสังกัดทหาร รพ.ฉันสังกัดกรมการแพทย์ ไม่มีสังกัด ไม่เลือกรับ ส่งต่อได้หมด รถพยาบาลไม่มีขอเสริมจากภาคเอกชนได้ไหม มูลนิธิอาสากู้ภัยต่างๆ บริษัททัวร์ต่างๆ ที่ว่างงานตอนนี้ก็ระดมกันมา ศบค.หรือกระทรวงสาธารณสุข ออกหน้าเป็นเจ้าภาพระดมความคิด ความช่วยเหลือ กำลังเสริมส่วนนี้มา ไม่ใช่แบกรับเอาไว้แต่เกินกำลังแล้วบอกประหนึ่งว่า “เอาอยู่” แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏมันไม่ไหวแล้ว ผู้คนก็ล้มตายอย่างรวดเร็ว ชั่วโมงนี้แล้วไม่ต้องเหนียมอายในการระดมความช่วยเหลือในการจัดการให้บรรลุผล รักษาชีวิตคนเอาไว้ก่อน

*** ไปที่เรื่องความทุกข์ร้อนประชาชนที่แสนสาหัสอยู่แล้ว จากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่การประปานครหลวง (กปน.) อันมี นายกวี อารีกุล ผู้ว่าการกปน., นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน เป็นประธานกรรมการบอร์ดและมี นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กำกับดูแล มีวิสัยทัศน์ องค์กรสมรรถนะสูงที่ให้บริการงานประปา มีธรรมาภิบาล และได้มาตรฐานในระดับสากล มีพันธกิจสร้างการเติบโตและความยั่งยืนขององค์กร ดำเนินการตามแผนน้ำประปาปลอดภัยขององค์การอนามัยโลก ด้วยการพัฒนาระบบน้ำดิบ - ผลิต - จ่าย ให้มีเสถียรภาพ พัฒนางานประปาอย่างมืออาชีพให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชนได้มีน้ำประปาใช้ถ้วนหน้า แต่กลับไม่ได้ทำตามวิสัยทัศน์ พันธกิจที่ว่าไว้เลย

*** กลับซ้ำเติมประชาชน ไล่บี้เก็บค่าน้ำ ตัดมิเตอร์ โดยไม่มีการผ่อนปรน การตัดน้ำประชาชนในยามนี้ กลับซ้ำเติมให้พวกเขาต้องทุกข์หนัก ต้องเข้าใจเงิน200-300 บาท ค่าน้ำเขาไม่ได้เจตนาเบี้ยวหรอก แต่เขาออกจากบ้านไม่ได้ รัฐบาลก็บอกเวิร์คฟอร์มโฮม ให้ทำงานอยู่บ้าน เมื่อทำงานอยู่บ้านจะไปจ่ายได้อย่างไร อย่าบอกว่าจ่ายออนไลน์ ใช่ !จ่ายออนไลน์ได้ แต่ระบบการจ่ายของ กปน.เป็นระบบที่ห่วยที่สุดในการชำระเงินออนไลน์ กรณีบิลแจ้งค้างจ่ายเกิน 1 เดือนรวมเป็น 2 เดือน รวมยอดเงินมาให้เสร็จสรรพ แต่สแกนจ่ายออนไลน์ไม่ผ่าน เพราะแถบสแกนขึ้นตัวเลขเดือนปัจจุบัน และระบบไม่ให้เข้าไปกรอกตัวเลขรวม เมื่อคลิกจ่ายแม้จะเป็นตัวเลขเดือนล่าสุด กลับขึ้นเตือนกรอกตัวเลขไม่ถูกต้อง อ้าวหยวนๆ บางคนเดินไปจ่ายที่สาขา กปน.ก็ได้ ยอมเสี่ยงตายโควิดไป ปรากฏว่าเมื่อไปถึงกลับได้รับคำตอบว่าไม่มีหนี้สินอะไร ไม่ต้องจ่าย หรือ กรณีต้องจ่าย รับรู้ว่าค้างจ่ายค่าน้ำอยู่ แต่จะจ่ายผ่านบัตรเครดิต กลับบอกปัดปฏิเสธไม่รับจ่ายต้องเป็นเงินสด อ้าว! ก็เขารณรงค์งดสัมผัสธนบัตรเป็นความเสี่ยง เอายังไงดีท่าน! กระทำไม่สำเร็จประชาชนผิดอยู่ร่ำไป แต่คล้อยหลังกลับออกใบตัดน้ำ ผูกติดหน้าบ้าน แจ้งซ้ำให้ไปจ่ายหวังจะเรียกค่าธรรมเนียมต่อมิเตอร์เอากับประชาชนหรืออย่างไร นับเงินต่อมิเตอร์ค่าธรรมเนียมนี่ก็มากโข 500-600 บาทสำหรับประชาชนที่ต้องจ่าย ก็ซื้อข้าวได้หลายมื้ออยู่ได้หลายวัน วิงวอน ฯพณฯทั้งหลายโปรดเห็นใจชาวบ้านตาดำๆ บ้าง เขาเดือดร้อนทุกข์สาหัสอยู่แล้ว อย่าย่ำยีหัวใจประชาชนให้ต้องทุกข์จากการตัดน้ำเขาอีกเลย ไปแก้ระบบออนไลน์เสีย หรือแก้ไม่ได้ มีเบื้องหลังการจัดเก็บอะไรซ่อนอยู่หรือไม่ โปรดเห็นใจประชาชนคนเล็กคนน้อย ที่ไม่ได้อยู่ในธุรกิจผูกขาด พวกเขายากจนข้นแค้น ไม่ได้มีรถหรูประจำตำแหน่งแบบ ฯพณฯ ด้วยเถิด

*** สุดท้าย ท้ายสุด เอาละเพื่อให้เป็นไปตามคำกล่าวของนายกฯ “เมื่อถึงยามคับขันประชาชนต้องการผู้กล้าหาญ เมื่อถึงคราวปรึกษางาน ต้องการผู้ที่ไม่พูดพล่าม ไม่พูดไร้สาระ ไม่พูดสิ่งใดที่ไม่เป็นประโยชน์บิดเบือน ยามมีข้าวมีน้ำก็ต้องการผู้เป็นที่รัก ยามเกิดปัญหาก็ต้องการบัณฑิต” หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจขอปาราวณาตัวเป็นสื่อกลางในยามเกิดปัญหา เราจะสู้ภัยโควิด-19ไปด้วยกัน We fight together with Thansettakij” ท่านสามารถส่งคลิป ภาพ ข้อความมาทางอินบอกซ์แฟนเพจ THANSETTAKIJ ให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ หมอ พยาบาล ตลอดจนคลิป ข้อความ ข้อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา ความเดือดร้อน ขอความช่วยเหลือกันเข้ามาได้ จะได้ช่วยกันประสาน นำข้อเสนอผ่านไปยังผู้รับผิดชอบ ผู้ที่ควรต้องรับผิดชอบทุกฝ่าย ขอขอบพระคุณทุกท่านล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้