ฉีดวัคซีนโควิดล่าช้า ทุบเศรษฐกิจพัง

24 เม.ย. 2564 | 04:12 น.

ฉีดวัคซีนโควิดล่าช้า ทุบเศรษฐกิจพัง : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3673 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 25-28 เม.ย.64

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดระลอกใหม่ ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่นับพันคน ติดต่อกันมาหลายวัน และอาจจะพุ่งขึ้นต่อเนื่อง ในช่วงระยะการกักตัว 14 วัน หลังผ่านพ้นเทศกาลสงกรานต์ไปแล้ว ซึ่งหลายฝ่ายประเมินกันว่าการแพร่ระบาดระลอกใหม่มีความรุนแรงกว่า 2 ระลอกที่ผ่านมา เนื่องจากไม่ได้มีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวด

อีกทั้งปัญหาความล่าช้าในการนำเข้าและการฉีดวัคซีน ที่มีความล่าช้า กระจายไปยังประชาชนของประเทศยังไม่ทั่วถึง ส่งผลต่อความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของการบริโภคภาคครัวเรือนลดลง

ขณะที่เครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อย่างภาคการท่องเที่ยว ที่รัฐบาลมีแผนจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า หากประเมินจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะการจัดหาวัคซีนทางเลือก 5-10 ล้านโดส ที่โรงพยาบาลเอกชน ต้องการนำเข้ามาฉีดให้กับประชาชนก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากภาครัฐให้นำเข้ามาได้ ก็ส่งผลให้การกระจายฉีดวัคซีนล่าช้ายิ่งขึ้นไปอีก

หลายสำนักฟันธงไปในทิศทางเดียวกันว่า การฉีดวัคซีนมีความล่าช้า จะมีผลต่อการแพร่ระบาด ที่อาจจะยืดเยื้อ หรืออาจเกิดการแพร่ระบาดอีกระลอกได้ และจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ความหวังของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอาจต้องล่าช้าออกไป 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้คาดเศรษฐกิจไทยในปี 2564 หรือจีดีพี มีแนวโน้มเติบโตลดลงที่ 1.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.6% ถึงแม้จะรวมปัจจัยบวกจากแนวโน้มการส่งออกที่ดี จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเข้าไปแล้วก็ตาม

ขณะที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือกกร. ได้ปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้ ขยายตัวได้ในกรอบ 1.5-3.0% จากเดิมคาดการณ์ไว้ 1.5-3.5% โดยมีตัวแปรขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมายและมาตรการของรัฐที่มีเงินราว 2.4 แสนล้านบาทใช้เยียวยาเศรษฐกิจ ซึ่งหากไม่มีเม็ดเงินดังกล่าวออกมาใช้ จีดีพีจะไม่ขยายตัวหรือเติบโต 0%

สิ่งที่หลายฝ่ายอยากนำเสนอรัฐบาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำไปกว่านี้ รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินกว่า 2-3 แสนล้านบาท เข้ามาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกระจายวัคซีนต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและประชาชน ซึ่งจะทำให้ภาพของกำลังซื้อในประเทศกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว