รู้ยัง! “ปฏิวัติ”ดอกเบี้ยไทย ห้าม“ขูดรีดประชาชน”

21 เม.ย. 2564 | 05:40 น.

รู้ยัง! “ปฏิวัติ”ดอกเบี้ยไทย ห้าม“ขูดรีดประชาชน” : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3672 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 22-24 เม.ย.2564 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ในขณะที่ผู้คนทั้งประเทศกำลังเผชิญมรสุมกับความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกสาม จนเกิดความหวาดผวากันไปทั่ว จนไม่เป็นอันทำมาหากินกันนั้น

ข่าวใหญ่ที่กระทบกับชีวิตของคนไทยทั้งประเทศ ที่ยอมรับชะตากรรมกันมาหลายชั่วอายุคน เรื่องหนึ่งก็มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

เป็นการประกาศใช้ “พระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564” อย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 ถือเป็นประวัติศาสตร์ในการคิดดอกเบี้ยของประเทศไทยเลยทีเดียว 

สาระสำคัญของ “พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ที่แก้ไขใหม่มีอะไรบ้าง ผมสรุปให้เห็นภาพคร่าวๆ ก่อนนะครับ 

หนึ่ง ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ในสัญญา ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ฉบับเดิม จากร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้เหลือในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี  

เดิมใครที่กู้หนี้ 1,000,000 บาท จะต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดเป็นเงิน 75,000 บาทต่อปี หลังจากนี้จะเสียดอกเบี้ยแค่ 30,000 บาทต่อปี ...ดีมั้ยครับ

สอง กำหนดให้กระทรวงการคลังทบทวนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ให้มีความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจทุก 3 ปี

สาม มีการปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยในกรณีผิดนัด ตามมาตรา 224 ของกฎหมายฉบับเดิม โดยให้บวกเพิ่มจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใหม่ขึ้นมาได้อีกร้อยละ 2 คือให้เดื่มได้แค่ร้อยละ 5 เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตรงเวลา

สี่ ได้แก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 224/1 โดยกำหนดวิธีคิดดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระให้เป็นธรรมกับประชาชนมากขึ้น จากเดิมสัญญาเงินกู้บางประเภทอาจกำหนดให้ลูกหนี้เสียดอกเบี้ยกรณีผิดนัด ด้วยวิธีคำนวณจากเงินต้นที่เหลือทุกงวด แม้ลูกหนี้จะผิดนัดเพียงงวดเดียวก็ตามที 

กฎหมายใหม่นั้น ได้มีการแก้ไขให้คิดดอกเบี้ยเฉพาะงวดที่ผิดนัดชำระบนฐานของเงินต้นที่ผิดนัดจริงเท่านั้น ห้ามไม่ให้รวมเงินต้นของค่างวดในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ 

ฟังแล้วงงใช่มั๊ย สมมุตินะว่า ลูกหนี้เป็นหนี้เขา 1,000,000 บาท ต้องผ่อนชำระ 10 งวด ดอกเบี้ย 5% ผ่อนงวดละ 105,000 บาท หากชำระไปแล้ว 4 งวด แต่ในงวดที่ 5 ชำระหนี้ไม่ไหว กฎหมายเดิมกำหนดดอกเบี้ยกรณีผิดนัดไว้ที่ร้อยละ 7.5 โดยมิได้กำหนดว่า ให้คิดเงินยอดไหน เจ้าหนี้ทุกคนในประเทศนี้คิดดอกเบี้ยผิดนัดจากเงินต้นที่เหลือทั้งหมด คือ 630,000 บาท ทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดในงวดดังกล่าวถึง 47,250 บาท ...โหดและเป็นธรรมมั่ยละพี่น้องไทย

แต่ตามพระราชกำหนดที่แก้ไขใหม่นี้ จะจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดเพียงร้อยละ 5 ของเงินต้นที่ผิดนัด 105,000 บาท คิดเป็นดอกเบี้ย 5,250 บาทเท่านั้น....ห้ามคิดเกินกว่านี้   

ผมจึงบอกว่า นี่คือประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่ไม่เคยมีรัฐบาลหน้าไหนกล้าที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ที่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่โหดร้ายและคิดสูงลิ่วมายาวนานหลายชั่วอายุคน

หากนับแต่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 วันที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชกฤษฎีกาโดยพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ยกเลิกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 และบรรพ 2 ที่ประกาศไว้เมื่อ ปี2466 แต่เดิมเสียสิ้น และให้ใช้ฉบับที่ได้ตรวจชำระใหม่แทน ก็ตกประมาณ 96 ปี ที่ราชการไทยปล่อยให้คนรวยขูดรีดคนจนด้วยดอกเบี้ยอย่างน้อย 7.5% ต่อปี

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่คนด่ากันทั้งแผ่นดินว่า “สืบทอดอำนาจ-บริหารงานไม่เป็น-โง่-งี่เง่า-รัฐบาลเฮงซวย ส้น...” นี่แหละคือพ่อพระมาเกิด เป็นผู้หาญกล้า “ปลดแอก” ให้คนไทยทั้งแผ่นดินลืมตาอ้าปาก 

บรรดาเกษตร ชาวไร่ชาวนา มนุษย์เงินดือนกลุ่มคนจน คนที่เป็นลูกหนี้ คนที่หาเช้ากินค่ำ คนที่มีเงินในบัญชีเงินฝากไม่ถึง 50,000 บาท ที่มีอยู่ราว 94 ล้านบัญชี...

บรรดาคนที่มีเงินฝากอยู่ในบัญชีรายละไม่เกิน 100,000 บาท อีกราว 4.25 ล้านบัญชีด้วย...

บรรดาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งหลาย ที่ส่วนใหญ่ชักหน้าไม่ถึงหลัง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีเงินอยู่ในบัญชีตั้งแต่ 100,001-500,000 บาท ซึ่งมีอยู่ราว 6.5 ล้านบัญชี.... 

พวกคุณควรจำไว้ว่า “รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่เราคาดหวัง” ไม่เคยมีใครกล้าแก้ปัญหาการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ผู้ปล่อยกู้ คิดเงินเอาจากผู้กู้ แม้แต่รัฐบาลเดียว

จุ๊ๆ อย่ามาว่าผม “เชลียร์” รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แบบไม่ลืมหูลืมตานะครับ 

แต่รัฐบาลลุงตู่ “ที่พูดไม่รู้เรื่อง-กรรโชกโฮกฮาก-เดี่ยวดีเดี่ยวร้าย” นี่แหละครับ ที่ทูลเกล้าพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ให้พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2564 เป็นปีที่ 6 ในรัชกาลปัจจุบัน

หลายคนอาจจะไม่รู้ กว่าจะแก้กฎหมายฉบับนี้ได้ เปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไป 3-4 คน  

กว่าจะแก้ไขด้วยการออกพระราชกำหนดฉบับนี้ออกมาต้องฝ่านักกฎหมายที่เป็นด่านอรหันต์กลุ่มทุนว่า การออกกฎหมายแบบนี้เป็นจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 

“มาตรา 26 การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิ หรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย

กฎหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง” 

หลักการของร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ให้รัฐมีอำนาจออกกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ หากสิทธิเสรีภาพประเด็นใดที่รัฐธรรมนูญเขียนเงื่อนไขไว้โดยเฉพาะแล้วก็ต้องเป็นไปตามนั้น ส่วนสิทธิเสรีภาพโดยทั่วไปที่ไม่มีเงื่อนไขเฉพาะ กฎหมายจะออกมาแล้วที่มีผลต่อการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างน้อยต้องมีลักษณะทุกข้อดังต่อไปนี้ 

1) ต้องไม่ขัดกับหลักนิติธรรม 2) ต้องไม่เพิ่มภาระให้ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ 3) ต้องไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 4) ต้องระบุเหตุผลความจำเป็นเอาไว้ 5) กฎหมายต้องใช้เป็นการทั่วไปมีผลต่อทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ใช่มุ่งใช้กับบางคนเท่านั้น 

นี่จึงเป็นที่มาของการที่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชกำหนดนี้ มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ เพื่อป้องกันมิให้เจ้าหนี้เรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ในอัตรา หรือ วิธีการที่ก่อให้เกิดภาระแก่ลูกหนี้สูงเกินสมควร ซึ่งการตราพระราชกำหนดนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดฉบับนี้ขึ้นมาใช้

เป็นอย่างไรบ้างครับ เห็นความดีงามของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กันบ้างมั้ย? 

เอาเรื่องนี้เรื่องเดียวนะผมว่า เป็นโบแดงรัฐบาลชัดๆ ช่วยคนที่เป็นหนี้ทั่วฟ้าเมืองไทยได้มหาศาล 

เอาเฉพาะหนี้ครัวเรือนของไทยที่ตอนนี้ทะลุเกือบ 90% เฉพาะหนี้ในไตรมาส3/2563 นั้นปาเข้าไป 13.77 ล้านล้านบาท รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แก้กฎหมายฉบับนี้ตัวเดียว ลดภาระดอกเบี้ยให้กับประชาชีที่ช้ำชอกกันทั้งประเทศได้มากถึง 260,000 ล้านบาท ต่อปีแล้วครับ 

แต่เป้าหมายจริงแล้ว กฎหมายฉบับนี้เน้นลึกลงไปในกลุ่มหนี้นอกระบบที่คิดเป็น 5% ของหนี้ทั้งหมดที่มี 14.4 ล้านล้านบาท หรือ ประมาณ 7.2 แสนล้านบาท ซึ่งจำนวนจะใกล้เคียงกับคนที่ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1.3 ล้านล้านคน ที่เป็นหนี้นอกระบบเฉลี่ยคนละ 6.5-7.2 หมื่นบาท กฎหมายนี้จะไปแก้ตรงจุดนี้ด้วย....เห็นฤทธิ์ของการปฏิวัติการคิดดอกเบี้ยหรือยังครับพี่น้อง

ทำดีแบบนี้ต้องเชียร์กันบ้างสิครับ 

เสียดายรัฐบาลประชาสัมพันธ์ ชี้แจงกับชาวบ้านชาวช่องไม่เป็น บรรดา “พ่อโฆ แม่โฆ” ทั้งหลาย ไม่เข้าใจเรื่องราว เอามติมาอ่าน แบบนกแก้ว นกขุนทอง ชาวบ้านจึงไม่รู้เรื่องนะสิครับ ...เฮ้อ กรรม

                                                            --------------------

กฎหมาย“คุมคิดดอกเบี้ย”


มาตรา 1พระราชกำหนดน้ีเรียกว่า “พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ พ.ศ. 2564”

มาตรา 2 พระราชกาหนดนี้ให้ใช้บังคับต้ังแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 7 ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือ โดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี

อัตราตามวรรคหนึ่งอาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มข้ึนเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ของประเทศได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยปกติให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนทุกสามปี ให้ใกล้เคียงกับอัตราเฉลี่ยรายระหว่างอตัราดอกเบี้ยเงินฝากกับอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์”

ขณะที่มาตรา 7 เดิมนั้นระบุว่า ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี

มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 224 หนี้เงินน้ันให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่ กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่าน้ันโดยอาศัยเหตุอย่างอื่น อันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด การพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่นนอกจากน้ัน ให้พิสูจน์ได้”

ความในมาตรา 224  ใหม่ต่างจากมาตรา 224 เดิมที่ระบุว่า หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น

ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด การพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่นนอกกว่านั้น ท่านอนุญาตให้พิสูจน์ได้

มาตรา 5ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 224/1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 224/1 ถ้าลูกหนี้มีหน้าที่ผ่อนชำระหนี้เงินเป็นงวด และลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในงวดใด เจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดได้เฉพาะจากต้นเงินของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดนั้น ข้อตกลงใดขัดกับความในวรรคหนึ่ง ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ”

มาตรา 6 บทบัญญัติตามมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ ให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดน้ี ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ

มาตรา 7 บทบัญญัติตามมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ ให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่ พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่ พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ 

มาตรา 8 บทบัญญัติตามมาตรา 224/1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยพระราชกำหนดนี้ ให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดในงวดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ

มาตรา 9 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รักษาการตามพระราชกำหนดนี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ 
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี