รัฐต้อง “รุก” หาวัคซีน เพิ่มทางเลือกประชาชน

18 เม.ย. 2564 | 00:05 น.

รัฐต้อง “รุก” หาวัคซีน เพิ่มทางเลือกประชาชน : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3671 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 18-21 เม.ย.2564

ร้องระงมกันทั้งประเทศถามหาวัคซีนต้านโควิด-19 ที่แม้จะทยอยเข้ามาบ้างแล้ว 2-3 แสนโดสแรกตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม แต่ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ยิ่งเมื่อการติดเชื้อปะทุพุ่งเพิ่มด้วยอัตราเร่งจากคลัสเตอร์สถานบันเทิง ผู้คนยิ่งต้องการได้รับการฉีดวัคซีนเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี จนเกิดคำถามสารพัดถึงนโยบายการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐ

ก่อนหยุดยาววันสงกรานต์ นายกรัฐมนตรีล้อมวงคุยตัวแทนโรงพยาบาลเอกชน ภาคธุรกิจ พร้อมหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเรื่องการจัดหาวัคซีน ก่อนมีคำสั่งตั้งนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาธร ที่ปรึกษาศบค. เป็นประธานคณะกรรมการจัดหาวัคซีนทางเลือก มีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งองค์การเภสัชกรรม คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สถาบันวัคซีนฯ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เป็นกรรมการ เพื่อให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมจัดหาวัคซีนทางเลือกอีก 10 ล้านโดส โดยไม่ซ้ำกับวัคซีนที่ภาครัฐจัดหาเพื่อให้หลากหลาย และให้ได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน

ก่อนหน้านี้ภาคเอกชนต้องการให้เร่งฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ครอบคลุมโดยเร็ว และเสนอตัวช่วยดำเนินการ แต่ติดขัดหลายเรื่อง เช่น เจ้าของวัคซีนต้องการหนังสือจากรัฐอำนวยความสะดวก หรือเสนอให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สั่งซื้อเข้ามาแล้วเอกชนรับซื้อต่อไปกระจายฉีด เป็นต้น ซึ่งข้อติดขัดทำให้โรงพยาบาลเอกชนยังเข้าไม่ถึงวัคซีน จนเกิดกระแสว่ารัฐบาลปิดกั้นไปจนถึงสงสัยว่ามีใครได้ประโยชน์จากการนี้หรือไม่
 

ขณะที่หน่วยงานรัฐยืนยันไม่ได้ปิดกั้นการนำเข้าวัคซีน การใช้วัคซีนต้านโควิด-19 ทั่วโลกเวลานี้เป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉิน ความต้องการวัคซีนทั่วโลกมีมากกว่าจำนวนวัคซีนที่ผลิตได้ รวมทั้งการจะนำเข้าต้องมีขั้นตอนเพื่อความปลอดภัย มีคุณภาพประสิทธิภาพ รวมทั้งเพิ่มช่องทางพิเศษเพื่อให้การพิจารณาเร็วขึ้น พร้อมเผยว่ามีผู้ยื่นขอจดทะเบียนนับสิบราย แต่ยื่นเอกสารแล้วเพียง 4 ราย อนุมัติแล้ว 3 รายคือ ของซิโนแวค แอสตร้าเซเนก้า และจอห์นสัน แอนด์ จอนห์สัน พร้อมกระตุ้นให้รายที่เหลือรีบยื่น

แม้ภาครัฐจะปรับกระบวนการเพิ่มความยืดหยุ่นในกระบวนการพิจารณา แต่ยังเป็นการตั้งรับ คือรอให้เจ้าของวัคซีนหรือผู้ขอนำเข้ามายื่นเอกสาร ขณะที่เจ้าของวัคซีนสามารถขายวัคซีนให้ลูกค้าที่ต้องการทั่วโลก จึงไม่สนใจจะเข้ามาทำตลาดในไทย ทำให้ไทยมีวัคซีนให้บริการประชาชนได้จำกัดอย่างที่ปรากฏ 

การจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 ต้องทำงานเชิงรุก ให้หน่วยงานรัฐในประเทศต่าง ๆ หาข้อมูลและเจาะหาเจ้าของวัคซีนของประเทศต่าง ๆ ที่ผลิตออกมาใช้งานแล้วในประเทศตนเอง แล้วให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) หรือกระตุ้นผู้นำเข้าขอยื่นจดทะเบียนวัคซีนกับทางอย. เพิ่มโอกาสและทางเลือกในการจัดหาวัคซีนให้โรงพยาบาลเอกชนหรือผู้นำเข้า เพื่อนำไปให้บริการประชาชน ให้ทันกับสถานการณ์การระบาดและความต้องการของคนไทยเวลานี้ จะได้เพิ่มทั้งปริมาณการฉีดและความหลากหลายของวัคซีนรองรับการแปรผันของเชื้อโควิด-19