สปิริตทางการเมือง กับความรับผิดชอบต่อสังคม

14 เม.ย. 2564 | 06:26 น.

สปิริตทางการเมือง กับความรับผิดชอบต่อสังคม : คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน ฉบับ 3670 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 15-17 เม.ย.2564 โดย...ประพันธุ์ คูณมี

เรื่องสปิริตทางการเมือง เป็นเสียงเรียกร้องต่อนักการเมืองไทย ดังอื้ออึงไปทั่วบ้านทั่วเมืองอีกครั้งหนึ่ง หลังจากปรากฏข่าวว่ามีนักการเมืองระดับรัฐมนตรีและผู้ติดตาม รวมถึง ส.ส.ร่วมพรรคอีกหลายคนติดโควิด-19 จากการเข้าไปเที่ยวในสถานบันเทิงหรูย่านซอยทองหล่อ ซึ่งบัดนี้ได้กลายเป็นคลัสเตอร์แพร่เชื้อแหล่งใหม่ ทำให้มีผู้ติดเชื้อหลายร้อยคนในเวลาอันรวดเร็ว และกำลังสร้างปัญหาและความเดือดร้อน แก่ประชาชนหรือกลุ่มธุรกิจอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องให้พลอยรับกรรมไปด้วย จากมาตรการต่างๆ ของรัฐที่จะตามมา ทั้งๆ ที่ภาคธุรกิจอื่นๆ ที่มิใช่ผับ บาร์ หรือ แหล่งบันเทิงยามค่ำคืน ไม่มีส่วนเป็นผู้ก่อปัญหาให้เกิดการระบาดระลอกใหม่แต่อย่างใด

ปัญหาการเจ็บป่วยเป็นเรื่องปกติธรรมดาของประชาชนและคนทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่ผู้มีตำแหน่งทางการเมือง คนยากคนจน หรือคนชั้นสูง ต่ำ ดำขาว ทุกคนย่อมมีโอกาสติดเชื้อจากโรคระบาดดังกล่าวกันได้ทุกๆ คน แต่เหตุที่ประชาชนและสื่อมวลชนทั้งหลาย รวมถึงนักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลด้วยกันหรือฝ่ายค้าน ต่างประสานเสียงออกมาเรียกร้องให้รัฐมนตรีท่านหนึ่ง ซึ่งบัดนี้ก็ทราบตามข่าวแล้วว่าคือ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้แถลงรับว่าตนติดโควิด พิจารณาตนเองลาออกนั้น

ก็เป็นเพราะว่า เมื่อรัฐบาลมีนโยบายเคร่งครัดกับประชาชน ในการปฏิบัติตน ไม่ให้ไปในพื้นที่เสี่ยง กินร้อนใช้ช้อนกลาง ล้างมือ สวมใส่แมส ป้องกันเชื้อ เว้นระยะห่าง กระทั่งเรียกร้องว่าถ้าไม่จำเป็นก็ให้อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ และเมื่อพบว่าตนมีอาการผิดปกติ หรือสัมผัสผู้มีความเสี่ยงสูงและติดเชื้อ ต้องรีบแจ้งให้หน่วยงานสาธารณสุขและผู้เกี่ยวข้องกับตนทั้งหลายได้ทราบ รวมถึงต้องแจ้งไทม์ไลน์ของตนโดยละเอียดต่อเจ้าหน้าที่ผู้สอบสวนโรค โดยมิปิดบังความจริงแต่อย่างใด

แต่ปรากฏว่า ในรายของรัฐมนตรีศักดิ์สยามฯ ที่มีฐานะตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี เป็นผู้ที่ต้องปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชน ประชาชนทั้งหลายกลับมีความเห็นว่าท่านมิได้ปฏิบัติตนเช่นนั้น ไม่ได้ยึดถือแนวทางการปฏิบัติตนตามที่รัฐบาลออกมาตรการมาบังคับให้ประชาชนปฏิบัติโดยเคร่งครัด และเมื่อปรากฏข่าวว่าท่านน่าจะติดเชื้อโควิด ซึ่งต่อมาก็ติดโควิดจริงๆ นั้น ท่านกลับมิได้เปิดเผยไทม์ไลน์ต่อสังคมอย่างตรงไปตรงมา ทำให้เป็นที่สงสัยเคลือบแคลงต่อสังคม

ทั้งนี้โดยการพิจารณาเปรียบเทียบเรื่องของท่านกับดารา นักแสดง สาวพริตตี้ หรือประชาชนอื่นๆ ที่ติดเชื้อ พวกเขาต่างให้ความจริงและความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐด้วยดี โดยเปิดเผยอย่างละเอียด ตรงไปตรงมาทุกประการ อันผิดแผกไปจากบรรดาเสนาบดี และบรรดานักการเมือง ซึ่งประชาชนคาดหวังว่า ควรจะมีมาตรฐานความสำนึกรับผิดชอบที่สูงยิ่งกว่าประชาชนโดยทั่วไป

แต่ผู้คนทั้งหลายต่างรู้สึกว่า การกระทำของท่าน หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ นี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ประชาชนทั้งหลาย หรือฝ่ายต่างๆ ออกมาทวงถามหาความรับผิดชอบของท่านต่อสังคม และควรที่จะแสดงสปิริตทางการเมืองในเรื่องนี้ ซึ่งย่อมเป็นสิทธิโดยชอบของผู้คนเหล่านั้น

เรื่องการแสดงความรับผิดชอบ หรือ การแสดงสปิริตทางการเมืองของนักการเมืองและผู้บริหารประเทศ เป็นประเด็นที่สังคมไทยหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันบ่อยๆ แม้แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีที่ผ่านไปเมื่อไม่นาน ก็มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ พิจารณาตนเองด้วยเช่นกัน

แต่แม้ว่าจะมีเรื่องฉาวโฉ่เพียงใด เช่น รัฐมนตรีบางท่านเคยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกมาแล้ว ฐานพัวพันเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดให้โทษ หรือบางท่านเกี่ยวข้องกับการยึดถือครอบครองที่ดินของการรถไฟ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งที่มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยในเรื่องนี้แล้ว แต่นักการเมืองไทยก็ดื้อตาใส ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนนั่งกอดเก้าอี้รัฐมนตรี โดยมิได้สำนึกและไม่เข้าใจถึงคำว่า "สปิริตทางการเมือง" ว่ามีความหมายและแปลว่าอย่างไร

ซึ่งจะว่าไปแล้วในบรรดานักการเมืองด้วยกัน ทั้งผู้ถูกเรียกร้องและบรรดาฝ่ายการเมืองที่เรียกร้องให้ผู้อื่นแสดงสปิริต ทั้งหมดก็พอๆ กัน จนเป็นที่เอือมระอาแก่ประชาชนโดยทั่วไป ปัญหาเรื่องสปิริตทางการเมือง สำหรับนักการเมืองไทย จึงเป็นของหายากและมีมาตรฐานต่ำจริงๆ น้อยมากที่สังคมประชาธิปไตยแบบไทยๆ จะได้เห็นการแสดงออกด้วยความรับผิดชอบของนักการเมืองไทย ยิ่งพวกอดีตนายกรัฐมนตรีที่หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ ยิ่งหนักกว่ารายอื่นๆ ดังนั้นจะหวังให้นักการเมืองด้วยกัน มาเรียกร้องกดดันกันเองในเรื่องนี้จึงยากที่จะเห็นผล

การแสดงสปิริตทางการเมือง ของนักการเมือง ผู้บริหาร และผู้นำประเทศ ในสังคมประชาธิปไตยนั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นดัชนีชี้วัดถึงจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญยิ่ง เพราะถ้านักการเมืองไม่ละอายต่อความชั่ว ไม่กลัวความผิด และไม่มีสำนึกรับผิดชอบต่อการกระทำของตน ที่มีผลเสียหายต่อบ้านเมืองและสังคม ประเทศชาติแล้ว เขาก็ไม่สมควรที่มาเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชนชาวไทยแต่อย่างใด ประชาชนย่อมไม่อาจไว้วางใจให้บริหารดูแลกิจการสำคัญของบ้านเมือง และบริหารจัดการเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของชาติจำนวมหาศาลได้ เพราะโดยพื้นฐานแล้วคนเช่นนั้น ย่อมเห็นแก่ประโยชน์ตนมากยิ่งกว่าประโยชน์ของส่วนรวมนั่นเอง

ถ้าเทียบดีกรีกับประเทศที่เจริญและพัฒนาแล้ว ไม่ว่าฝั่งตะวันตกหรือในเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ ประเทศไทยมาตรฐานต่ำกว่าประเทศเหล่านั้นหลายเท่า ปี 2550 นายโทชิคัตสึ มัตสุโอะ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ป่าไม้และการประมง ผูกคอตายเพราะถูกกล่าวหาว่า พัวพันเงินหาเสียงเลือกตั้ง และการทุจริตโครงการประมูล และถูกกล่าวหาว่าใช้อาคารสำนักงานฟรี ไม่เสียค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ

นายโยชิทาดะ โคโนอิเกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีฝ่ายกิจกรรมการเมือง ขอลาออกเนื่องจากเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับผู้หญิงที่มิใช่ภรรยาแค่พาไปในบ้านพักของสมาชิกสภาสูง และพาเธอนั่งรถไฟไปกลับด้วยเงินภาษีประชาชนจำนวนแค่ห้าพันบาท ยังไม่ถึงขนาดเข้าไปเที่ยวผับ บาร์ทริปเด็กบริการสาวพริตตี้ที่คริสตรัลคลับ เขาก็ลาออกแล้ว

ส่วนเกาหลีใต้นั้นไม่ต้องพูดถึง สปิริตเขาแรงกว่าเราเยอะ อดีตประธานาธิบดี นายโรห์ มู ฮุน ถึงกับโดดหน้าผาฆ่าตัวตายพร้อมกับทิ้งจดหมายไว้ เนื่องจากอับอายที่ภรรยาและหลานชายมีส่วนเกี่ยวกับการรับสินบน ทั้งๆที่ตัวเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และได้ชื่อว่าเป็นผู้นำประเทศที่ซื่อสัตย์ที่สุดคนหนึ่ง

และเมื่อไวๆ นี้ เมษายน 2563 นายเอี๋ยน เต๋อฟา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจีน ได้ออกมาขอโทษกรณีทหารเรือ 27 นาย ที่ประจำกองเรือรบติดเชื้อโควิด โดยขอให้ประธานาธิบดีลงโทษเขาทุกกรณีและเขาพร้อมลาออกจากตำแหน่ง

คนที่สง่างามที่สุดคือเมื่อกรกฎาคม 2563 นายเดวิด คลาร์ก รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของนิวซีแลนด์ ลาออกจากตำแหน่งหลังถูกวิจารณ์เกี่ยวกับการฝ่าฝืนมาตรการล็อกดาวน์ ขับรถพาลูกเมียไปเที่ยวชายหาดขณะเกิดโรคระบาดโควิด-19

นี่คือการแสดงสปิริตของนักการเมืองประเทศที่เจริญแล้ว ส่วนของไทยหัวหน้าพรรคเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลูกพรรคไปเที่ยวไหนไม่รู้ติดโควิด จนต้องเข้าทำหน้าที่ร่วมประชุมสภาไม่ได้ ทำหน้าที่ตามปกติไม่ได้ พี่ไทยเฉยๆ ครับ ถามหาสปิริต แหกปากไปก็คงเท่านั้น เพราะความสำนึกนักการเมืองไทยต่างกันลิบลับกับต่างประเทศ

เห็นบ้านอื่นเมืองอื่นแล้ว ย้อนมาดูการเมืองไทย จึงทำให้เหนื่อยใจยิ่งนัก เพราะในประวัติศาสตร์การเมืองไทยในยุคหลังๆ นี้ หาคนที่มียางอายได้ยากจริงๆ ความดื้อด้านของนักการเมืองไทย เริ่มหนักหนาที่สุดมาแต่ยุคทักษิณถึงปัจจุบัน จนประชาชนมิอาจฝากความหวังกับนักการเมืองได้ว่า จะสร้างสังคมการเมืองที่ก้าวหน้า สร้างประชาธิปไตยที่มั่นคง ด้วยคุณภาพและมาตรฐานที่สูงส่งของนักการเมือง ที่อาสามาทำงานรับใช้ประชาชนได้อย่างไร

สาเหตุที่ประเทศเป็นเช่นนี้ มีนักวิชาการทางรัฐศาสตร์ท่านหนึ่งกล่าวว่า "ระบบการเมืองไทยไม่มีความรับผิดชอบ นี่คือฐานของนักการเมืองไทย จะเอาไปเปรียบเทียบกับประเทศใกล้บ้านอย่างเกาหลี ญี่ปุ่นไม่ได้ เพราะของเราฐานความรับผิดชอบต่อประโยชน์สาธารณะมันไม่มี เพราะฉะนั้นอย่าไปหวังสิ่งนี้กับนักการเมืองไทยเลย เพราะพวกเขาไม่ยอมรับหรอกว่า มันคือความผิดพลาดของตัวเอง"

ซึ่งผู้เขียนก็เห็นพ้องด้วยว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงๆ ครับ ตราบใดที่ระบบโครงสร้าง และจิตสำนึกทางการเมืองของประเทศเรายังไม่ได้รับการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง สปิริตทางการเมือง และความรับผิดชอบต่อสังคมของนักการเมือง ก็จะเป็นเช่นนี้อีกนาน