‘ปานามา เปเปอร์ส’

25 เม.ย. 2559 | 13:00 น.
ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวเรื่องเอกสารที่รั่วไหลจากบริษัทกฎหมาย Mossack Fonseca ในปานามา หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ปานามา เปเปอร์ส"ดังไปทั่วโลกนะครับเพราะเปิดโปงข้อมูลการจัดตั้งบริษัทในต่างแดนหรือ "ออฟชอร์"ซึ่งมีแต่เปลือกนอก เพื่อใช้เป็นกลไกบังหน้าสำหรับซ่อนรายได้ที่ไม่ต้องการเสียภาษีเงินได้ในประเทศที่เป็นถิ่นที่อยู่ปกติ (หลบเลี่ยงภาษี) หรือได้ที่มาจากกิจกรรมที่ไม่สุจริตก่อนเคลื่อนย้ายต่อไป (ฟอกเงิน) และมีผู้มีฐานะ ผู้มีชื่อเสียงและผู้ทรงอิทธิพลจากแทบทุกมุมโลกเป็นลูกค้าก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงสำนึกและมโนธรรมของบุคคลเหล่านี้กับหน้าที่ต่อสังคม

บริษัท Mossack Fonsecaไม่ได้รับฝากเงินพวกนี้เสียเองนะครับ แต่ให้บริการจัดตั้งบริษัทออฟชอร์ ในประเทศที่เรียกกันว่า "สวรรค์ภาษี" กล่าวคือมีกฎหมายเปิดให้จัดตั้งบริษัทได้ง่าย ไม่มีข้อกำหนดด้านความโปร่งใส และเก็บภาษีต่ำ หรือมีระบบภาษีที่ไม่เข้มแข็งหรือไม่มีกฎหมายจำกัดความลับทางธนาคาร จึงกลายเป็นแหล่ง "ซุกซ่อน" เงินที่เจ้าของไม่ต้องการให้ใครรู้ บางประเทศถึงกับมีนโยบายดึงดูดให้มีการจัดตั้งบริษัทในลักษณะดังกล่าวเพื่อหารายได้อย่างเป็นกิจจะลักษณะไปเลยด้วยซ้ำ ซึ่งปานามาเองก็อยู่ในกลุ่มประเทศเหล่านี้ด้วย

วิธีการคือใช้ "นอมินี" (ส่วนใหญ่มักจะเป็นคนจากประเทศตะวันตก) ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศสวรรค์ภาษีที่ตั้งของบริษัท เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทนั้นแทนเจ้าของเงิน และ "นอมินี"จะดำเนินการต่าง ๆ ทุกอย่างตามความประสงค์ของเจ้าของเงิน โดยได้รับค่าตอบแทนอย่างงาม (แต่ก็ถือว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่ซ่อนได้)"นอมินี" แต่ละคนทำอย่างนี้เป็นอาชีพ บางคนถือหุ้นอยู่ในบริษัทเป็นพัน ๆ บริษัท

กิจการเหล่านี้เจริญขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหลังจากประเทศที่เป็นเหล่งซุกซ่อนเงินดั้งเดิม เช่นสวิตเซอร์แลนด์ โดนสหรัฐฯ เล่นงาน (ผ่านการฟ้องคดีสาขาของธนาคารสวิสในสหรัฐฯ เช่นยูบีเอสซึ่งในที่สุดยอมเสียค่าปรับให้รัฐบาลสหรัฐฯ ถึง 780 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อปี 2552 เพื่อให้ยังคงกิจการในตลาดสหรัฐฯ ได้) จนจำเป็นต้องออกกฎหมายจำกัดการรักษาความลับทางธนาคาร จึงไม่เป็นแหล่งซุกซ่อนเงินที่ปลอดภัยอีกต่อไป

ทั้งนี้ บุคคลที่ทำผิดแน่ ๆ หากมีการซุกซ่อนทรัพย์สินไว้ต่างแดนก็คือ บรรดานักการเมืองและบุคลากรภาครัฐระดับสูงซึ่งมักมีกฎหมายบังคับให้ต้องรายงานทรัพย์สินเพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันการทุจริต ดังนั้น เมื่อนักการเมืองคนไหนมีชื่อปรากฏใน "ปานามา เปเปอร์ส" ก็ต้องลาออกแสดงความรับผิดชอบโดยแทบไม่ต้องรอการสอบสวน เช่นกรณีนายกรัฐมนตรีไอซ์แลนด์นะครับ

"ปานามา เปเปอร์ส" นี้หลุดออกมาด้วยฝีมือ "เจ้าเก่า"คือชมรมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนระหว่างประเทศ (ICIJ)ซึ่งมีผลงานเปิดโปงบริษัทออฟชอร์ 122,000 บริษัทในปี 2556 และในปีถัดมา เปิดโปงลูกค้าบริษัทเหล่านี้กว่า 2 หมื่นคนจากจีนและฮ่องกง แถมแฉเรื่องที่หน่วยงานสรรพากรลักเซมเบิร์กตกลงเอื้อประโยชน์ทางภาษีให้บริษัทยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ จำนวนมากระหว่างปี 2545-2553

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าไม่ค่อยมีบุคคลสำคัญในสหรัฐฯ ตกเป็นข่าวเท่าไหร่เลยจากการเปิดโปงครั้งนี้ จึงเกิดทฤษฎีว่าอันที่จริงแล้วทั้งหมดเป็นแผนของหน่วยงานข่าวกรองกลาง(CIA) ของสหรัฐอเมริกาที่ต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของบุคคลสำคัญในประเทศคู่แข่ง เช่น รัสเซีย จีน ที่มีบุคคลใกล้ชิดประธานาธิบดีอยู่ในรายชื่อของลูกค้า ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ครับ เพราะในอดีต ปานามาเป็นพื้นที่ปฏิบัติการของ CIA รวมถึงการจัดตั้งบริษัทบังหน้าขายอาวุธให้อิหร่านเพื่อนำเงินไปสนับสนุน "กบฏคอนทร้า" ซึ่งต่อต้านรัฐบาลนิการากัวในช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อถูกเปิดโปงก็กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตกระเทือนเก้าอี้ประธานาธิบดีโรนัล เรแกน เพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมายสหรัฐฯ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ เป็นที่รู้กันว่าเรือชักธงปานามาเป็น "flag of convenience" คือรับเงินจดทะเบียนอย่างเดียว ไม่มีการตรวจสอบดูแลตามมาตรฐาน ซึ่งที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความจงใจของสหรัฐฯ เพื่อประโยชน์ของธุรกิจขนส่งทางเรือของตนเรื่องบริษัทออฟชอร์ก็เหมือนกันมีคนมองว่าถ้าไม่ใช่เพราะสหรัฐฯ จงใจปล่อยปละละเลย ไม่แตะกฎหมายความลับธนาคารของปานามาเนื่องจากCIA เป็นลูกค้าอยู่เอง ปานามาก็คงไม่เป็นเช่นนี้

แต่บางฝ่ายก็ไม่เชื่อทฤษฎีนี้ครับเพราะประธานาธิบดียูเครน (มิตรสหรัฐฯ)ก็โดนไปเต็ม ๆ ไหนจะ (คุณพ่อ) นายกรัฐมนตรีอังกฤษอีก ฝ่ายนี้ชี้ว่า การที่ไม่มีคนดังชาวอเมริกันใน "ปานามา เปเปอร์ส" สักเท่าไหร่ ก็คงไม่น่าแปลกในเมื่อคนอเมริกันรู้ดีว่าที่นั่น CIA คุม (หรือเคยคุม)จึงไม่น่าจะปลอดภัยจากหน่วยงานสรรพากรสหรัฐฯ(IRS)นัก อีกทั้งในสหรัฐฯ เองก็มีหลายมลรัฐที่เอื้อประโยชน์เป็นสวรรค์ภาษีพอ ๆ กัน(ซึ่งดูจะขัดกับนโยบายระดับประเทศ) และมีที่อื่น ๆ อีกหลายแห่งที่เป็นสวรรค์พอกัน เช่น หลายเกาะในทะเลแคริบเบียน หรือแม้แต่สิงคโปร์ เพื่อนบ้านเรา พูดภาษาเดียวกันรู้เรื่อง ทำไมต้องไปประเทศพูดสเปนอย่างปานามา

เรื่องนี้ ปราบยากครับ ทางเดียวคือสนับสนุนการพัฒนาประเทศเหล่านี้ อย่างเช่นปานามาก็น่าจะมีพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้นเมื่อคลองปานามา ซึ่งขณะนี้ได้รับการปรับปรุงและทันสมัย สามารถทำรายได้เข้าประเทศได้มาก รายได้จากการเป็น flag of convenience หรือเป็นแหล่งธุรกิจออฟชอร์ก็คงลดความสำคัญลง คงไม่มีรัฐบาลไหนอยากพึ่งธุรกิจสีเทาไปตลอด จริงไหมครับ

Photo : pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,151 วันที่ 24 - 27 เมษายน พ.ศ. 2559