"ทำบุญตามประเพณีได้บุญมากน้อยอย่างไร"

07 เม.ย. 2564 | 21:30 น.

"ทำบุญตามประเพณีได้บุญมากน้อยอย่างไร" : คอลัมน์ ทำมา... ธรรมะ โดย ราช รามัญ

 

ผู้คนมักจะชอบถามว่าการทำบุญตามประเพณีนั้นได้บุญจริงหรือไม่ ตอบได้เลยครับทันที ว่าได้บุญ เพราะว่าการทำบุญคือการทำความดีอย่างไรเสียก็ได้บุญไม่ว่าจะทำตอนไหนก็ตาม

แต่สิ่งที่เราต้องกลับมานั่งทำความเข้าใจ นั่นก็คือประเพณีเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคหลังๆ คำว่าหลังหมายถึงหลังพุทธกาลหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว

ก็จะมีผู้คนสงสัยอีกว่าแล้วประเพณีต่างๆในพุทธศาสนาที่เราทำกันทุกวันนี้มาจากไหนและอย่างไร ก็ต้องตอบว่าเป็นการค้นคิดร่วมกันทำเริ่มจากแต่ละตำบลพื้นที่อำเภอ พอนานวันเข้าก็กลายเป็นประเพณีไป

ส่วนประเพณีในทางพุทธศาสนาที่ ก่อกำเนิดเกิดขึ้นในครั้งพุทธกาลหมายความว่าตอนที่พระพุทธเจ้ามีชีวิตอยู่มีอยู่จริงไหมและมีอะไรบ้าง

ประเพณีที่เกิดขึ้นในครั้งพุทธกาล สิ่งแรกเลยก็คือการตักบาตรพระในยามเช้า อันนี้เป็นพุทธะประเพณีที่พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ทรงบัญญัติไว้ เพราะว่าพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ ต้องใส่บาตรในยามเช้า

ดังนั้นชาวพุทธที่ตื่นเช้ามาใส่บาตรพระหรือตักบาตร ถือว่าได้ทำบุญทำกุศลตามประเพณีที่พุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้

ต่อมาการถวายสังฆทาน คำว่าสังฆทานนี้ไม่ใช่หมายถึงซื้อสิ่งของที่อยู่ในกระป๋องเหลืองแล้วเอาไปถวายพระแล้วเรียกว่าสังฆทาน คำว่าสังฆทานหมายถึงการที่เราเอาอาหารก็ดีเอาเครื่องใช้ที่จำเป็นของพระภิกษุสงฆ์ไปถวายพระ โดยที่มีตัวแทนสงฆ์อย่างน้อย 4 รูป(ครบองค์สงฆ์) มารับถวาย แล้วนำของนั้นไว้ที่ส่วนกลาง มิได้เป็นของพระรูปใดรูปหนึ่ง แล้วพระทั้งวัดสามารถมาเบิกนำไปใช้ได้ อย่างนี้จึงเรียกว่าสังฆทาน ใครได้ถวายสังฆทานแบบนี้มีบุญใหญ่อานิสงส์ใหญ่และเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้

การถวายจีวรพระหลังจากที่ออกพรรษาแล้ว ก็เป็นประเพณีที่พระพุทธเจ้าทรงมีพุทธานุญาตให้ทำ คนรุ่นใหม่ๆเราเรียกกันว่า กฐิน หรือทอดกฐิน  การถวายจีวรพระ ก็ได้บุญใหญ่อานิสงส์มาก เช่นกันและ เป็นประเพณีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งพุทธกาล

ดังนั้นถ้าใครทำบุญตามประเพณีควรยึดถือใน 3 ลักษณะที่กล่าวมาจึงกล่าวได้ว่าเป็นการทำบุญตามประเพณี ที่สมบูรณ์ และมีผลมากมีอานิสงส์มากต่อผู้ที่ทำ