ค่าระวางเรือพุ่งเท่าตัว ‘เอ็นซี โคโคนัท’ พลิกแผน ลุยนวัตกรรมใหม่ดันยอด

05 เม.ย. 2564 | 02:10 น.

ธุรกิจยุคโควิด และมีปัจจัยเสี่ยงมากมายจะบริหารอย่างไรให้อยู่รอด "ฐานเศรษฐกิจ" สัมภาษณ์ นายณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน กรรมการผู้จัดการ บจก.เอ็นซี โคโคนัท

ลำพังธุรกิจเดินหน้าฝ่าวิกฤติโควิด-19 ให้รอดได้ก็นับว่ายากอยู่แล้ว แต่ล่าสุดมีปัจจัยเสี่ยงส่งออกเพิ่มจาก เรือ Ever Given เกยตื้นขวางคลองสุเอซเส้นทางขนส่งสินค้าหลักเอเชีย-ยุโรป ทำส่งออกเป็นอัมพาตไปกว่าหนึ่งสัปดาห์ แม้ขณะนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว แต่มีผลการส่งมอบสินค้ามีความล่าช้า

สำหรับ บริษัท เอ็นซี โคโคนัท จำกัด (บจก.) ที่กำลังจะก้าวพ้นบริษัทเอสเอ็มอีในไม่ช้า เดินแผนบริหารความเสี่ยงเหล่านี้อย่างไร ทำไมรักษาระดับรายได้ไม่ให้ลดฮวบฮาบทั้งที่ธุรกิจพึ่งพาตลาดส่งออกเป็นหลัก “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ นายณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน กรรมการผู้จัดการ บจก.เอ็นซี โคโคนัท ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวในรูปแบบต่าง ๆ ภายใต้ แบรนด์ “NC COCONUT” โดยเฉพาะมะพร้าวนํ้าหอมสดหรือมะพร้าวควั่นที่กำลังเป็นที่นิยมในตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะจีน

พลิกวิกฤติสร้างโอกาสใหม่

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวยอมรับว่าวิกฤติโควิด-19 ธุรกิจได้รับผลกระทบด้วย เพราะสัดส่วน 70% ต้องพึ่งพาตลาดส่งออก ในช่วงวิกฤติโควิดทำให้ตลาดแผ่วลง ล่าสุดมาเจอผลกระทบคลองสุเอซทำให้การส่งออกไปยุโรปและอเมริกาเกิดความล่าช้า นอกจากหาเรือวิ่งส่งสินค้าให้ยากแล้ว ค่าเฟรท (Freight) หรือค่าระวางเรือยังพุ่งสูงขึ้นเท่าตัว  ยกตัวอย่าง จากเดิมเคยจ่ายค่าเฟรท 600-700 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเที่ยวเพิ่มเป็น 1,200-1,400 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเที่ยว ทำให้ราคาสินค้าต้องปรับขึ้น-ลงตามต้นทุนจริง

ดังนั้นช่วงที่จีนคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ บริษัทได้เร่งปรับแผนส่งออกไปยังตลาดจีนมากขึ้น จากเดิมจีนเป็นตลาดหลักอยู่แล้ว เวลานี้ยอดขายจากจีนพุ่งสูงขึ้นสามารถชดเชยกับบางตลาดที่แผ่วลงได้โดยเฉพาะการส่งออกมะพร้าวควั่นที่คนจีนจะชอบมาก คาดไตรมาส 3 และ 4 ภาพรวมส่งออกไปจีนจะขยายตัวหลายเปอร์เซ็นต์ โดยผู้บริโภคจีนให้น้ำหนักมะพร้าวดีต่อสุขภาพหลายด้าน ทำให้แผนการขายตอนนี้โฟกัสตลาดโซนเอเชีย โดยเฉพาะจีน เป็นตลาดหลัก

บริษัทยังใช้เวลาทุ่มเทกับการวิจัยและพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่องจน ล่าสุดพัฒนาสินค้าร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดตัวนวัตกรรมใหม่คือการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบสำเร็จเป็นที่แรกของโลกไปเมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา ในงานฉลองครบรอบ 12 ปีของธุรกิจบริษัท โดยดึงความได้เปรียบตรงที่มีสายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมที่หอมหวานโดยมีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ตรวจจับว่ามะพร้าวน้ำหอมต้นไหนเป็นพันธุ์แท้ 100% เพื่อนำไปขยายพันธุ์ใหม่ให้ได้เพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก โดยมองว่าถ้าสามารถรักษาสายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมที่ดีได้ก็จะสู้คู่แข่งอย่างเวียดนามได้ และไทยจะครองตลาดมะพร้าวน้ำหอมได้ยาวนาน

นอกจากนี้ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่เกิดจากการดีไซน์ถุงหุ้มมะพร้าวน้ำหอมที่ช่วยคงความสดช่วยยืดอายุมะพร้าวให้ยาวนานขึ้นเมื่อเปิดถุงบรรจุมะพร้าวน้ำหอมออกมาจะมีหลอดและตัวนำเจาะเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคสามารถรับประทานมะพร้าวน้ำหอมให้ง่ายขึ้นภายใต้แบรนด์ “ COCO BUCKET” โดยผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ส่งออกไปจีนและประเทศอื่น ๆ มากขึ้น 


ผลิตภัณฑ์มะพร้าวน้ำหอม NC

ปี 64 ยอดขายจ่อพุ่ง 30%

จากการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสครั้งนี้ ตั้งความหวังว่าสินค้าตัวใหม่จะเป็นเรือธงสำคัญในการเพิ่มยอดขายเติบโตขึ้นมาตั้งแต่ 20-30% จากที่มียอดขายที่ผ่านมาตั้งแต่ 300-400 ล้านบาทต่อปี  โดยผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวตัวหลักเป็นมะพร้าวน้ำหอมสดหรือมะพร้าวควั่น วุ้นมะพร้าวน้ำหอม  และขายมะพร้าวน้ำหอมสดให้กับโรงงานอุตสาหกรรมและเจียส่งออกให้เหลือแต่กะลามะพร้าวรวมถึงการแปรรูปเป็นน้ำและเนื้อแช่แข็งส่งออก

ค่าระวางเรือพุ่งเท่าตัว  ‘เอ็นซี โคโคนัท’ พลิกแผน  ลุยนวัตกรรมใหม่ดันยอด

สำหรับหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจมะพร้าวน้ำหอม เรื่องพื้นที่ส่งเสริมการปลูกมะพร้าวน้ำหอม บริษัทได้ส่งเสริมชาวสวนมะพร้าวในพื้นที่จังหวัดราชบุรีเป็นหลัก โดยพื้นที่ที่ส่งเสริมจะมีมะพร้าวน้ำหอมออกมาขายได้ต่อปีราว 16 ล้านลูกจากสวนมะพร้าวน้ำหอมขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 4,000-5,000 ไร่และภายในปีนี้จะเพิ่มพื้นที่ส่งเสริมอีก 20-30%

ค่าระวางเรือพุ่งเท่าตัว  ‘เอ็นซี โคโคนัท’ พลิกแผน  ลุยนวัตกรรมใหม่ดันยอด

“ปัจจุบันมะพร้าวน้ำหอมมีไม่พอขายในตลาดโลก ผลผลิตมีมากแค่ไหนก็ขายหมด ยังไม่มีคำว่าล้นตลาด  ราคาหน้าสวนมะพร้าวน้ำหอมลูกละประมาณ 16 บาท  พอไตรมาส 2 ของทุกปีจะเป็นช่วงนิวไฮสูงสุดในรอบปี ก่อนหน้านี้ราคาช่วงนี้เคยขยับเป็นลูกละ 20-30 บาท ซึ่งแต่ละปีราคาขึ้น-ลงไม่เหมือนกันขึ้นกับดีมานต์-ซัพพลาย”  

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,667 วันที่ 4 - 7 เมษายน พ.ศ. 2564