“โขกภาษี”ซ้ำเติม ภาระตกที่ประชาชน

03 เม.ย. 2564 | 23:00 น.

“โขกภาษี”ซ้ำเติม ภาระตกที่ประชาชน : คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3667 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 4-7 เม.ย.2564 โดย... ว.เชิงดอย

+++ ทำเอา “แตกตื่น” กันพอสมควร หลังเกิดกระแสข่าว “รัฐบาลลุงตู่”เตรียมขึ้น ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ Vat จาก 7% เพื่อนำเงินมาเป็นสวัสดิการให้กับประชาชน หลังเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า ...กระแสข่าวนี้เกิดขึ้นหลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 30 มี.ค.2564 ที่ผ่านมา โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน และมีรายงานข่าวออกมาว่า ได้มีการพูดถึงการจัดเก็บรายได้ของประเทศ ซึ่งที่ประชุมใช้เวลาหารือกันเป็นพิเศษ โดยทางกระทรวงการคลังได้รายงานภาพรวมเศรษฐกิจที่เก็บภาษีไม่ได้ตามเป้า และงบประมาณที่มีอยู่ก็จำเป็นต้องใช้แก้ปัญหาสถานการณ์โควิด และ กระตุ้นเศรษฐกิจ

+++ มีรายงานว่า จุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ความเห็นในที่ประชุมว่า การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จาก 7% นั้น ขอให้พิจารณาอย่างตรงไปตรงมา อย่ากังวลจะเป็นประเด็นการเมือง เพราะใครที่เข้ามาก็กลัวประชาชนคัดค้าน แต่ในบางประเทศเขาเลือกที่จะขึ้นภาษีในช่วงโควิดเพื่อนำรายได้ไปเพิ่มสวัสดิการให้ประชาชน และมีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ เห็นด้วย พร้อมกับกล่าวสนับสนุนแนวของนายจุติ แต่ทาง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ระบุว่า ประเทศไทยไม่ได้มีการขึ้นภาษีดังกล่าวมานานแล้ว ดังนั้น ควรไปศึกษาให้รอบคอบก่อน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม จึงได้สอบถามนายจุติว่า ต่างประเทศที่พูดถึงว่าขึ้นภาษีในช่วงนี้ เป็นประเทศเพื่อนบ้านเรา หรือประเทศไหน โดยที่ประชุมได้มอบให้กระทรวงการคลังไปศึกษารายละเอียดก่อนเสนอผลเข้าสู่ที่ประชุมครม.อีกครั้ง

+++ ความ “ตกอกตกใจ”  ที่เกิดขึ้นกับกระแสข่าวการขึ้น Vat ทำให้ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ออกมา “สยบข่าว” ดังกล่าว โดยระบุว่า ไม่มีสัญญาณใดๆ ที่บอกว่ารัฐบาลจะ “ถังแตก” เพียงแต่ในที่ประชุม ครม.มีการรายงานเรื่องความเสี่ยงทางการคลัง ที่เป็นการรายงานประจำปี ที่ต้องรายงานตามวาระเพื่อทราบ ไม่มีสาระสำคัญใดๆ ที่ต้องน่าห่วง ข้อสังเกตของความเสี่ยงถือเป็นเรื่องปกติ โดยมีการพูดถึงการใช้เงินในช่วงวิกฤติโควิด-19 และเรื่องการ “จัดเก็บภาษี” ในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่รายได้น้อยลงไป เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ แต่บทสรุปของการรายงานความเสี่ยง ได้มีการประเมินความเสี่ยงออกมาเป็นตัวเลข คือ 2.47 ถือเป็นระดับความเสี่ยงที่ไม่สูงมาก และเชื่อว่าอีก 2 ปี วิกฤติทางด้านการเงินการคลัง หรือ “ความเสี่ยง” จะไม่มีเกิดขึ้น “ผมไม่เข้าใจข่าวที่ออกมา มันทำให้เกิดความกังวล ว่าดูเหมือนจะไปขึ้นภาษีบ้าง ถังแตกบ้าง ซึ่งไม่มีสัญญาณใดๆ ทั้งสิ้น”  

+++ “ยืนยันว่าภายใน 2 ปีนี้จะไม่ขึ้นภาษี เพราะรายงานดังกล่าวประเมินไว้แค่ในระยะ 2 ปีข้างหน้า และในการประชุม ครม.ก็ไม่มีคุยเรื่องนี้ และไม่มีข้อเสนอแนะใดๆ เพียงแต่ ครม.มีข้อสังเกตและเป็นห่วงจำนวนประชาชนที่อยู่ในระบบภาษีของเรา ยังมีจำนวนน้อย จึงขอให้กระทรวงการคลังไปทำการศึกษาโครงสร้างภาษี เพื่อดึงดูดให้คนเข้าใจ เพื่อเข้ามาในระบบว่าเป็นประโยชน์อย่างไร จะได้ช่วยกันช่วยเหลือประเทศ และเงินเหล่านั้นได้กลับมาถึงมือประชาชนอย่างไร” นั่นคือคำยืนยันจาก “รองนายกฯ” ที่ดูแลด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล

+++ สำหรับ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” Value Added Tax หรือ VAT เป็นภาษีทางอ้อมที่เรียกเก็บจากบุคคลที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการ โดยจัดเก็บเฉพาะจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นผลิต การจำหน่ายหรือการให้บริการ เช่น สมมติว่าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% ซื้อวัตถุดิบ วัสดุอุปกรณ์มา 100 บาท และมีภาษีซื้อ 10 บาท เมื่อผลิตเป็นสินค้าขายในราคา 150 บาท ตอนขายไปจะต้องคิดภาษีขาย 15 บาท ดังนี้ ก็จะเสีย “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” เฉพาะผลต่างจำนวน 15-10 = 5 บาท ถ้าการซื้อ และขายเกิดขึ้นภายในรอบการจ่ายภาษีเดียวกัน ...ปัจจุบัน “ประเทศไทย” ได้กำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 10%  ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา แต่ “คณะรัฐมนตรี” ก็ออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 7% เป็นประจำทุกปี โดยที่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1 ใน 9 ที่เก็บได้ จะถูกโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และที่เหลืออีก 8 ส่วนจะถูกโอนให้แก่รัฐบาลกลาง

+++ ย้อนไป “ประเทศไทย” ได้เริ่มมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นครั้งแรก ในวันที่ 1 ม.ค. 2535 จากเหตุที่เศรษฐกิจของประเทศไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีการพิจารณาถึงความไม่เหมาะสมของโครงสร้างภาษีการค้าต่อเศรษฐกิจของประเทศ อันได้แก่ความซ้ำซ้อนของระบบภาษีการค้าที่เป็นอยู่ และความหลากหลายของโครงสร้างอัตราภาษี นอกจากความบกพร่องของระบบภาษีการค้า ความต้องการเปลี่ยนแปลงระบบภาษีของทางการ และสืบเนื่องมาจากเหตุผลทางด้านภาษีอากร ทำให้ความสามารถในการหารายได้ของรัฐผ่านเครื่องมือทางภาษีการค้าและภาษีศุลกากรได้ลดน้อยลงเป็นลำดับ

+++ ด้วยเหตุผลดังกล่าว กระทรวงการคลัง จึงได้เสนอพิจารณายกเลิกภาษีการค้า และนำ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” มาใช้แทน โดยภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวจะมีอัตราเดียวที่ใช้กับสินค้าและบริการทุกชนิด สำหรับสินค้าใดที่มีเหตุผลทางเศรษฐกิจที่จะเก็บสูงกว่าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่มเติมจากภาษีมูลค่าเพิ่ม …สำหรับ “ว.เชิงดอย” เห็นว่าในภาวะเศรษฐกิจเป็นเช่นนี้ ไม่สมควรอย่างยิ่งที่ “รัฐ” จะเก็บ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” เพราะจะเป็นการ “ซ้ำเติม” ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชน เมื่อรัฐขึ้น Vat ผู้ประการธุรกิจก็จะ “ผลักภาระ” มาให้ประชาชนเป็นผู้จ่ายภาษีแทน ทุกข์จาก “โควิด-19” ก็มากพอแล้ว หากมาเจอกับการ “โขกภาษี” อีก ยิ่งไปกันใหญ่ หาก “เศรษฐกิจ”ดีดี ประชาชนไม่มีปัญหาเรื่อง “ปากท้อง” จะไม่ว่าเลย...

+++ เปลี่ยนไปเรื่องอื่นดีกว่า ไป “อัพเดท” การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสมฤตยู “โควิด-19” ล่าสุดเมื่อ 31 มี.ค.64 ที่ผ่านมา ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการให้วัคซีนกับกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่การระบาดและพื้นที่เสี่ยง 13 จังหวัด ตั้งแต่ 20 ก.พ.-30 มี.ค.2564 ว่า ได้รับวัคซีนแล้ว 180,477 โดส โดยเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 151,413 โดส และเข็มที่ 2 จำนวน 29,064 โดส สำหรับวัคซีนแอสตราเซเนกา 85,880 โดส ได้จัดสรรไปยัง 5 พื้นที่ ประกอบด้วย สมุทรสาคร 30,000 โดส นนทบุรี 6,800 โดส ปทุมธานี 5,000 โดส สมุทรปราการ 5,000 โดส และ กรุงเทพมหานคร 39,080 โดส …วัคซีนกระจายฉีดให้ได้ทั่วถึงประชาชนเมื่อไหร่ ก็จะเกิดผลดีต่อประเทศเร็วขึ้นเท่านั้น...