รัฐบาลลุงตู่อย่าขึ้นภาษี อย่ากลัว“การกู้เงินมาใช้”

02 เม.ย. 2564 | 23:30 น.

รัฐบาลลุงตู่อย่าขึ้นภาษี อย่ากลัว“การกู้เงินมาใช้” : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3667 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 4-7 เม.ย.2564 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

กลายเป็นเรื่องทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 เมื่อ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้รายงานความเสี่ยงทางการคลัง ประจำปีงบประมาณ 2563 ให้ที่ประชุมครม.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกัฐมนตรี เป็นประธาน จนมีประเด็นข้อถกเถียงในเรื่องแนวคิดการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ขึ้นมาหลังจากมีการประเมินแล้วว่า รายได้รัฐบาลที่มาการจัดเก็บภาษีอาจไม่ได้ตามเป้า และงบประมาณที่มีอยู่จำเป็นต้องใช้ในการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19 และกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพ

ความจริงหากมีการพิจารณาในรายละเอียดของ รายงานความเสี่ยงทางการคลัง ประจำปีงบประมาณ 2563 ไม่น่าจะมีปัญหาสำหรับรัฐบาลในตอนนี้ เพราะรายงานความเสี่ยงทางการคลังต่อครม.นั้นเป็นเรื่องความเสี่ยงสำหรับรัฐบาลในปีที่แล้ว และมีการแก้ปัญหานั้นผ่านมาแล้ว

และนี่คือปัญหาในกระบวนการทำงานของรัฐบาลมาตลอด เนื่องจากการรายงานความเสี่ยงในเรื่องฐานะการเงิน ฐานะการคลังของรัฐบาลในแต่ละปีละนั้นจะมีการรายงานย้อนหลังให้รับทราบอยู่เสมอ ภาษาเอกชน ภาษาการบริหารราชการแผ่นดินเขาเรียกว่า “ไม่ทันกิน”

 ทำไมถึงไม่ทันกินละครับ!     

เพราะรายงานความเสี่ยงทางการคลัง ประจำปีงบประมาณ 2563 ที่ตั้งข้อสังเกตให้รัฐบาลตระหนักว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบต่อการจัดเก็บรายได้รัฐบาล โดยผลการจัดเก็บรายได้สุทธิในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 อยู่ที่ 2,391,570 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563) ต่ำกว่าปีก่อน 6.80% สาเหตุสำคัญมาจากรายได้ภาษีที่ลดลง ขณะที่รายได้ของหน่วยงานอื่นและเงินนำส่งของรัฐวิสาหกิจยังคงขยายตัวจากปีก่อน

ขณะที่สัดส่วนรายได้รัฐบาลสุทธิต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 3 ปี ลดลงจาก 16.51%  ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 - 2556 เหลือแค่ 15.30% ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 - 2563 และยังคงมีแรงกดดันต่อเนื่องในระยะสั้นจากผลกระทบของโควิด-19

นอกจากนี้ผลของการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ยังคงมีแรงกดดันจากผลประกอบการในปี 2563 ที่จะใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีงบประมาณ 2564 และการนำผลขาดทุนสุทธิที่เกิดขึ้นไปหักค่าใช้จ่ายสำหรับการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ต่อเนื่องในเวลา 5 ปี ข้างหน้า รวมถึงแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกในการพิจารณาปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล หากต่างประเทศมีนโยบายปรับลดอัตราเพิ่มเติมในอนาคต 

ด้านการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับต่างประเทศ นอกจากนี้ การจัดเก็บภาษียาสูบและรายได้นำส่งคลังของโรงงานยาสูบมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากโครงสร้างตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

ผลกระทบของการจัดเก็บภาษีจากฐานรายได้อยู่ในระดับต่ำ โดยสัดส่วนภาษีจากฐานรายได้ต่อ จีดีพี ลดลงอย่างต่อเนื่อง สัดส่วนภาษีจากฐานรายได้ต่อภาษีจากฐานบริโภคของไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศ สะท้อนถึงกลไกการกระจายรายได้และการสร้างเสถียรภาพในตัวเอง ของระบบภาษีของไทยที่อาจไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร  

   ความเสี่ยงเหล่านี้ ที่ผมคัดย่อมารายงานให้ครม.รับทราบ และหาทางรับมือกันในปลายเดือนมีนาคม 2564

ซึ่งถ้าย้อนดูกระบวนการก็เป็นเช่นนี้แทบทุกปี รายงานความเสี่ยงทางการคลัง ประจำปีงบประมาณ 2562 ตั้งข้อสังเกตว่า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด รวมไปถึงความล่าช้าของการบังคับใช้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จะเป็นประเด็นความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการทางการคลังในปีงบประมาณ 2563 ความเสี่ยงที่รัฐบาลอาจต้องกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงการกระจุกตัวของการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการติดตามและบริหารจัดการอย่างใกล้ชิดต่อไป

ขณะที่ ระดับหนี้สาธารณะ ภาระดอกเบี้ยต่องบประมาณ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่อยู่ในระดับต่ำจะเป็นปัจจัยบวก ที่เอื้อต่อการกู้เงินเพิ่มเติมของรัฐบาลในกรณีจำเป็น

นอกจากนี้ สัดส่วนรายได้สุทธิของรัฐบาลต่อ GDP ก็ยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2562 มีสัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่เพียงร้อยละ 15.19 ต่ำสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และยังคงมีแรงกดดันต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2563 จากแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ ประกอบกับรัฐบาลยังคงมีการจัดทำนโยบายลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการและประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ข้อสังเกตที่เป็นความเสี่ยงทางการเงินการคลังแบบนี้มารายงานเอาในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563   

ดังนั้น ความเสี่ยงทางด้านการคลัง-งบประมาณแผ่นดิน ที่จะต้องให้รัฐบาลและฝ่ายบริหารพิจารณาหาทางรับมือนั้น ควรมีการปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับห้วงเวลาที่จะดำเนินการแก้ปัญหาได้ทันท่วงที

ผมเห็นว่าการรายงานเพื่อรับทราบเรื่องที่แล้วมาให้ครม.รับทราบในเรื่องที่เป็น ข้อพึงระวัง ของรัฐบาลควรต้องปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งกระบิ

เช่นเดียวกับกระบวนการตรวจสอบงบการเงินของ รัฐวิสาหกิจ-องค์การมหาชน-สถาบันของรัฐ ที่กว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน จะรายงานต่อรัฐสภาให้พิจารณาขีดความสามารถของหน่วยงานรัฐ ล้วนแล้วแต่ผ่านพ้นไปอย่างน้อย 2-3 ปี ควรต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้รวดเร็วขึ้น

ไม่เช่นนั้นกระบวนการทำงานขององค์กรของรัฐในบ้านเมืองของเรา ก็เช้าชามเย็นชามเช่นเดิม

กลับมาในประเด็นการรายงานความเสี่ยงทางด้านการคลังในรอบนี้ ที่เป็นปัญหาและเป็นประเด็นสาธารณะขึ้นมา เนื่องจากมีข้อสังเกตบางประการในเรื่องการปรับโครงสร้างภาษี และการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และกระทบกับผู้คนทั้งประเทศ รวมถึงการตัดสินของภาครัฐที่จะจัดการกับปัญหา รายได้ไม่พอรายจ่าย เหมือนกับบริษัทเอกชนทุกรายที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในปัจจุบันจากผลกระทบของโควิด  

เพราะเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก รัฐบาลลุงตู่ได้ขยายระยะเวลาการจัดเก็บภาษีออกไป มีการลดอัตราการเสียภาษีเพื่อให้เอกชนได้มีต้นทุนที่ลดลงเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย รัฐบาลก็ไม่สามารถจะจัดเก็บรายได้ภาษีได้ตามเป้าหมายอยู่แล้ว

แต่พอมีการโยนระเบิดเรื่องการขึ้นภาษี การกระทบโครงสร้างภาษี ซึ่เป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลจะต้องขบคิดหาทางปรับปรุงการจัดเก็บรายได้ แต่สำหรับประชาชนที่กำลังเผชิญความยากลำบากในการทำมาหากินพวกเขามีสิทธิ์ที่จะร้องโวยวายเช่นเดียวกัน

เพราะเส้นทางของกระบวนการพิจารณาการเก็บภาษีกับเสียงของมหาชนนั้นไม่มีทางที่จะเดินไปทางเดียวกันอยู่แล้ว 

   แม้ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ยืนยันว่า ภายในสองปีนี้จะไม่ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากที่ปัจจุบันที่จัดเก็บอยู่ 7%  เพราะรายงานดังกล่าวประเมินไว้แค่ในระยะสองปีข้างหน้า และในการประชุมครม.ก็ไม่มีคุยเรื่องนี้ และไม่มีข้อเสนอแนะใดๆ เพียงแต่ ครม.มีข้อสังเกตและเป็นห่วงจำนวนประชาชนที่อยู่ในระบบภาษีของเรา ยังมีจำนวนน้อย จึงขอให้กระทรวงการคลังไปทำการศึกษาโครงสร้างภาษี เพื่อดึงดูดให้คนเข้าใจ เพื่อเข้ามาในระบบ ว่าเป็นประโยชน์อย่างไร จะได้ช่วยกันช่วยเหลือประเทศ และเงินเหล่านั้นได้กลับมาถึงมือประชาชนอย่างไร 

ทำไมคำยืนยันดังกล่าวประชาชนส่วนใหญ่จึงไม่เชื่อ...

 ที่ไม่เชื่อเพราะ 1.ประชาชนรับรู้ว่า การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิ (ช่วง 4 เดือน ต.ค. 2563-ม.ค. 2564) รัฐบาลจัดเก็บได้ 709,007 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการเอกสารงบประมาณ 60,030 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 7.8% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 106,292 ล้านบาท หรือ 13% 

2.กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 38,291 ล้านบาท ต่ำเป้า 7.3% แม้ว่ากรมสรรพากรจะยืนยันว่าในช่วงเดือน ก.ย. 2564 นี้ กรมสรรพากรจะมีรายได้เพิ่มจากการเก็บภาษี e-Service ประมาณ 5,000 ล้านบาท จากผู้ให้บริการต่างประเทศ แล้วเข้ามาให้บริการในประเทศไทย เช่น เฟซบุ๊ก, กูเกิล, ยูทูบ และเน็ตฟลิกซ์ ผู้ให้บริการดาวน์โหลดเกมออนไลน์ ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น สติ๊กเกอร์ แต่การจะจัดเก็บรายได้ให้เป้าจัดเก็บรายได้ตามเอกสารงบประมาณ 2,085,330 ล้านบาทนั้นคงลำบาก

3.กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 10,993 ล้านบาท ต่ำเป้า 5.4% ที่ตั้งไว้ว่าจะจัดเก็บภาษีให้ได้ 5.5 แสนล้านบาท จากเป้าเดิมตามเอกสารงบประมาณ 6.3 แสนล้านบาท  โดยจะเร่งปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ ให้ใช้ได้ในวันที่ 1 ต.ค. 2564

4.รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 20,909 ล้านบาท หรือต่ำเป้า 37.5% รัฐวิสาหกิจและกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่า 50% นำส่งในช่วง 5 เดือน (ต.ค. 2563-ก.พ. 2564) นำส่งรายได้ต่ำกว่าเป้า 28,252.80 ล้านบาท สองหน่วยงานนี้พลาดไปกว่า 48,000 ล้านบาท

แค่ 4 ประเด็นนี้ก็ทำให้เขาประเมินได้ว่า รัฐบาลไม่มีทางจะหารายได้มารองรับค่าใช้จ่ายที่คงที่มากมายมหาศาลได้ นอกจากจะหาทางพิจารณาขึ้นภาษี ปรับฐานภาษี ปรับโครงสร้างภาษีในประเทศขนานใหญ่

สถานการณ์แบบนี้ ผมเสนอว่ารัฐบาลไม่ควรจะตระหนกในเรื่องเหล่านี้ แต่ควรจะบอกความจริงกับประชาชนให้รับรู้ว่าเรายืนอยู่ตรงจุดไหน  

นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคัง รองนายฯรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ควรประกาศให้ชัดลงไปว่า รัฐบาลจะไม่สร้างภาระในการขึ้นภาษีหลัก เพื่อผลักภาระให้กับประชาชนในระยะสั้น ของการปรับปรุงธุรกิจให้ฟื้นตัวขึ้นมาได้ แต่หลังจากนั้นรัฐจำเป็นต้องปรับโครงสร้างภาษีเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในอนาคต

 คำถามก็มาอีกว่า ในระยะหลังจากนี้รัฐบาลจะเอาเงินมาจากไหนในการบริหารบ้านเมืองให้เดินหน้าไป...กู้สิครับ  

อย่ากลัวการกู้ยืมเงินจากประชาชนในประเทศ หากเงินกู้นั้นจะนำไปเพื่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชนให้อยู่ดีกินดี 

 แต่จงกลัว...การกู้ยืมเงินจากประชาชนมาใช้อย่างสุรุ่ยสุร่าย แล้วมีเงินทอน เกิดการทุจริตแล้วแก้เศรษฐกิจพัง....