เอาใจช่วย“ภาครัฐ” ลุยรื้อคดี “ค่าโง่โฮปเวลล์”

19 มี.ค. 2564 | 23:10 น.

เอาใจช่วย“ภาครัฐ” ลุยรื้อคดี “ค่าโง่โฮปเวลล์” : คอลัมน์ฐานโซไซตี ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3663 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 21-24 มี.ค.2564 โดย... ว.เชิงดอย

+++ ถือเป็น “นิมิตหมาย” ที่ดีอย่างมาก ที่จะเป็นช่องทางให้ประเทศไทย ไม่ต้องจ่าย “ค่าโง่โฮปเวลล์” ราว 2.4 หมื่นล้านบาท เมื่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ” โดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการใน “ศาลปกครองสูงสุด” ครั้งที่ 18/2545 วันที่ 27 พ.ย.2545  เรื่องปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองที่กำหนด ที่กำหนดให้นับอายุความฟ้องคดีปกครองตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ วันที่ 9 มี.ค.2544  มาใช้อ้างอิงในคดีสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ เข้าข่ายเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 197 วรรคสี่ โดยให้เหตุผลว่า แม้เป็นการออกระเบียบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 มาตรา 44 แต่มิได้ดำเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง

+++ สำหรับคดีนี้ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ได้ส่งคำร้องของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ที่ขอให้วินิจฉัยว่า การที่ศาลปกครองสูงสุดนำมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดครั้งดังกล่าว ที่ไม่ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย คือไม่ได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบ ไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้หรือไม่  รวมทั้งการกำหนดให้เริ่มนับอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. 2544   ซึ่งผิดไปจาก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ที่บัญญัติว่าให้เริ่มนับระยะเวลาอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่รู้ หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเพิกถอนมติหรือการกระทำดังกล่าว  

+++ การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่า มติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ย่อมมีผลต่อการที่กระทรวงคมนาคม และ รฟท.จะยื่น “รื้อคดีใหม่” เพราะหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาสั่งให้ทั้ง 2 หน่วยงานปฏิบัติตามมติอนุญาโตตุลาการที่ให้รัฐบาลต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัทโฮปเวลล์ กว่า 2.4 หมื่นล้านบาท กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ได้มอบหมายให้ นายนิติธร ล้ำเหลือ เป็นทนายความผู้รับมอบอำนาจ  ยื่นหลักฐานใหม่ต่อศาลปกครองขอรื้อคดี โดยอ้างว่า พบว่าบริษัทโฮปเวลล์  เป็นบริษัทต่างด้าวจดทะเบียนไม่ถูกต้อง แต่ก็ถูกตีตกโดยศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำฟ้อง ทำให้คดีถึงที่สุด และนำไปสู่การที่กระทรวงคมนาคม รฟท. ยื่นคำร้องนี้ต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน

+++ สำหรับมหากาพย์คดี “ค่าโง่โฮปเวลล์” ยาวนานมาถึง 13 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่  8 พ.ย.51  อนุญาโตตุลาการ ให้ “คมนาคม-รฟท.” จ่ายค่าเสียหายแก่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด 11,888 ล้านบาท  จากนั้น 13 มี.ค.57 ศาลปกครองกลางเพิกถอนคำสั่งอนุญาโตตุลาการ คมนาคม-รฟท.ไม่ต้องจ่ายค่าโง่ 11,888 ล้านบาท ต่อมา วันที่ 22 เม.ย.62 ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คมนาคม-รฟท. จ่ายค่าโฮปเวลล์พร้อมดอกเบี้ย รวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท  ภายใน 180 วัน ถัดมาวันที่  22 พ.ย.62 รฟท.ยื่น 4 หน่วยงาน เสนอ ครม.งดจ่ายค่าโง่-สู้คดีต่อ 22 ก.ค.63 ศาลปกครองสูงสุดไม่รับพิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่ ตามคำร้องของคมนาคมและ รฟท.  17 พ.ย.63 ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความมติศาลปกครองสูงสุด กรณีมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด นับอายุความวันตั้งศาลปกครองขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และล่าสุด 17 มี.ค.64 ศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เรื่องการนับอายุความนับแต่วันตั้งศาลปกครองขัดรัฐธรรมนูญ

+++ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงคดี “ค่าโง่โฮปเวลล์” ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมา ว่า หลังจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญคงส่งคำวินิจฉัยฉบับสมบูรณ์มาที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งก็จะแจ้งกลับไปยังกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ทั้ง 2 หน่วยงานคงนำคำวินิจฉัย ซึ่งถือว่าเป็น “หลักฐานข้อมูลใหม่” ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอ “รื้อฟื้นคดีจ่ายค่าเสียหายโฮปเวลล์” ได้ แต่ที่สุดแล้วจะมีผลให้รัฐไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายหรือเปล่า เป็นของดุลยพินิจของศาลปกครอง ไม่ขอก้าวล่วง

+++ “ผมคิดว่าเป็นข้อมูลใหม่ที่อาจทำให้ผลการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดที่พิพากษาให้ รฟท.ต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัทโฮปเวลล์ ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ  เพราะทุกคดีมีอายุความ  การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นนี้ ก็อาจทำให้มติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดที่เป็นประเด็นพิพาทไม่สามารถนำมาใช้บังคับได้ ซึ่งก็จะมีผลให้การฟ้องคดีของ บริษัทโฮปเวลล์ น่าจะเป็นฟ้องเมื่อคดีขาดอายุความแล้ว  แต่ก็อยู่ที่ศาลปกครองจะพิจารณาวินิจฉัย แต่ก็ถือว่ารัฐบาลมีลุ้นที่อาจจะไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย  ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนให้กับบริษัทเอกชน” ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุ

+++ ทั้งนี้ เมื่อไปตรวจสอบมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 วันพุธที่ 27 พ.ย.45 ที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีคำวินิจฉัยว่าเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 197วรรคสี่ ซึ่งอาจมีผลนำไปสู่การ “รื้อคดีค่าโง่โฮปเวลล์”  2.4 หมื่นล้านบาทได้นั้น พบว่า มติดังกล่าวเป็นเรื่องปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาฟ้องคดี กรณีผู้ฟ้องคดีนำคดี ที่เหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดขึ้นก่อนศาลปกครองเปิดทำการมาฟ้องต่อศาลปกครองหลังจากที่ศาลปกครองเปิดทำการแล้ว โดย นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุดในขณะนั้น ได้นำปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาฟ้องคดีตามคำร้องที่ 40/2544 ซึ่งเกี่ยวกับสัญญาการกลับมารับราชการหลังรับทุนไปศึกษาอบรมคำร้องที่ 267/2544  คดีพิพาทเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดิน และคำร้องที่ 482/2545 คดีพิพาทเกี่ยวกับการจ่ายเงิน ค่าครองชีพ เข้าสู่การพิจาณาของที่ประชุมฯ โดยระบุกรณีเหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดขึ้น ก่อนศาลปกครองเปิดทำการ แต่ผู้ฟ้องคดีมิได้นำคดีไปฟ้องต่อศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาในขณะนั้นต่อมา หลังจากที่ศาลปกครองเปิดทำการเมื่อวันที่ 9 มี.ค.2544 แล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง กรณีนี้จะนับระยะเวลาการฟ้องคดีอย่างไร

+++ ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด มีมติว่าในกรณีที่เหตุแห่งการฟ้องคดีปกครอง เกิดขึ้นก่อนศาลปกครองเปิดทำการ แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้นำคดีไปฟ้องต่อศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาในขณะนั้น ต่อมาหลังจากที่ศาลปกครองเปิดทำการเมื่อวันที่ 9 มี.ค.2544 แล้วผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง โดยขณะที่ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง อายุความฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมยังไม่ครบกำหนด แต่การนำคดีดังกล่าวมาฟ้องต่อศาลปกครองนั้น จะเป็นการฟ้องคดีปกครองเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 มาตรา 50 หรือ มาตรา 51 แห่งพ.ร.บจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 แล้วแต่กรณี ในกรณีเช่นนี้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้เริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.2544 ซึ่งเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการเป็นต้นไป

+++ ในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง หลังจากที่พ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองแล้ว ศาลปกครองไม่อาจรับคดีไว้พิจารณาพิพากษาได้ เพราะเป็นการฟ้องคดีที่พ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามพ.ร.บจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แต่ถ้าเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องนั้น จะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม หรือมีเหตุจำเป็นอื่นศาลปกครองจะรับคดีไว้พิจารณาตามมาตรา 52 วรรคสองแห่งพ.ร.บจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ 2542 ก็ได้ โดยให้พิจารณาเป็นรายกรณีไป … มาถึงตอนนี้ โอกาสที่จะ รื้อคดี “ค่าโง่โฮปเวลล์” ที่จะทำให้ “ประเทศไทย” ไม่ต้องเสียเงินภาษีประชาชน ราว 2.4 หมื่นล้านบาท มาถึงแล้ว ...ต้องเอาใจช่วย “ภาครัฐ” ให้ดำเนินการต่อสู้อย่างเต็มที่ต่อไป...