การประชุมสองสภา ปิดฉากลงอย่างสวยหรู (1)

20 มี.ค. 2564 | 22:00 น.

การประชุมสองสภา ปิดฉากลงอย่างสวยหรู (1) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

หลังการประชุมอย่างต่อเนื่องราวหนึ่งสัปดาห์ การประชุมสองสภา หรือ “เหลี่ยงฮุ่ย” ณ มหาศาลาประชาชน ใจกลางกรุงปักกิ่ง ได้ปิดฉากลงไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา พร้อมกับประเด็นไฮไลต์ที่น่าสนใจหลายเรื่อง ...

ที่ประชุมได้เห็นชอบกับรายงานการดำเนินงานของรัฐบาลในปี 2021 ร่างแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 (2021-2025) และร่างวิสัยทัศน์ 2035 โดยจีนตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นของแผน 14 ไว้มากกว่า 6% บนพื้นฐานของการสร้างความยั่งยืนและความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน ตัวเลขเป้าหมายดังกล่าวแม้จะต่ำกว่าการคาดการณ์ของหลายสำนักก่อนหน้านี้ แต่เลข 6 ก็เป็นตัวเลขที่ความหมายอันเป็นมงคลในวัฒนธรรมจีน และถือเป็นการตั้งเป้าหมายแบบอนุรักษ์นิยมตามสไตล์จีน รวมทั้งยังอาจสะท้อนว่า จีนมองเห็นความท้าทายใหญ่หลายอย่างรออยู่ข้างหน้า จีนจะเดินหน้าการพัฒนาระดับสูงการปฏิรูปเชิงลึก และการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ เพื่อมุ่งสู่ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมระดับสูง โดยปรับปรุงระบบการแข่งขันที่เป็นธรรมและอยู่บนพื้นฐานของกลไกตลาดที่เปิดกว้างควบคู่ไปกับการสานต่อการปฏิรูปโครงสร้างด้านอุปทาน และปรับโครงสร้างการเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อลดภาระของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs

การประชุมสองสภา ปิดฉากลงอย่างสวยหรู (1)

ท่านนายกรัฐมนตรีจีนยังยอมรับว่า จีนจะเผชิญกับความท้าทายในเรื่องอัตราการว่างงาน โดยในปีนี้ รัฐบาลจีนวางแผนจะสร้างอาชีพใหม่ในเมืองไม่น้อยกว่า 11 ล้านตำแหน่ง แต่คาดว่าจะมีคนในเมืองเข้าสู่ตลาดแรงงานถึง 14 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นบัณฑิตจบใหม่กว่า 9 ล้านคน

ในแผน 14 ยังระบุว่า จีนจะส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถด้านนวัตกรรม ซึ่งถือเป็นการสานต่อแผน 13 ซึ่งเป็นครึ่งแรกของนโยบาย Made in China 2025 โดยประกาศเพิ่มงบการวิจัยและพัฒนาอีก 7% ต่อปีจนถึงปี 2025 ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยต่อปีของจีนค่อนข้างมาก ซึ่งหมายความว่า จีนกำลังใช้ผลการวิจัยและพัฒนาเป็นกลไกขับเคลื่อนจีนสู่ยุคหน้า

จีนจะผลักดันการดำเนินแผนการวิจัยพื้นฐาน 10 ปีฉบับใหม่ และจัดตั้งกองทุนด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งเพิ่มบทบาทการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนจีนและเทศ ผ่านมาตรการส่งเสริมด้านภาษี อาทิ การหักลดภาษีจากค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา และการพัฒนาความร่วมมือในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับต่างชาติบนพื้นฐานของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาให้เกิดเป็นรูปธรรม 

จีนพูดถึงปัญญาประดิษฐ์ควอนตัม การวิจัยพื้นที่ขั้วโลก และอื่นๆ ขณะเดียวกัน เราน่าจะเห็นนวัตกรรมของจีนหลั่งไหลออกมาอีกมาก อาทิ ชิปรุ่นใหม่สำหรับคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน ระบบโทรคมนาคมยุคใหม่ และอื่นๆ

ในแผน 14 จีนจะยึดหลักเศรษฐกิจ “วงจรคู่” ที่เสริมสร้างตลาดภายในประเทศให้มีความแข็งแรง และพัฒนาไปอย่างราบรื่น รวมทั้งผสมผสานวงจรภายในและระหว่างประเทศให้เสริมสร้างระหว่างกันอย่างยั่งยืน 

ในด้านอุปทาน จีนฝันอยากมีห่วงโซ่อุปทานและระบบการผลิตที่ทันสมัยให้ถูกทิศทาง เป็นระบบ ครบวงจร และให้มีการตอบแทนเชิงมูลค่าสูง รวมทั้งยังมีความยืดหยุ่นเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการอย่างมีสมดุลมากขึ้น เพื่อก้าวข้ามการพึ่งพาเทคโนโลยีของต่างชาติ 

หลี่ เค่อเฉียง ยังระบุอีกว่า จีนจะขยายต่อความสำเร็จในการรับมือโควิด-19 ธุรกิจบริการ อาทิ เฮลธ์แคร์ การท่องเที่ยว และอื่นๆ จะถูกพลิกฟื้นให้กลับมามีความเข้มแข็ง ขณะเดียวกันก็มุ่งหวังให้ SMEs สร้างแพล็ตฟอร์มที่ดีขึ้นเพื่อความสะดวกของผู้บริโภค 

นอกจากนี้ ในการกล่าวรายงาน การที่ หลี่ เค่อเฉียง กล่าวถึงวงจรระหว่างประเทศเพียงครั้งเดียวเท่านั้น สะท้อนอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลจีนในปีนี้จะลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศ และให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับการเติบโตจากภายในประเทศ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรทำความเข้าใจและให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ในด้านสิ่งแวดล้อม จีนจะเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์จากพลังงานและทรัพยากรอย่างเหมาะสม ขยายการผลิตสีเขียว และลดระดับการปลดปล่อยมลพิษในทุกด้าน โดยประกาศจะลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์และลมเพิ่มอีก 1,200 กิ๊กกะวัตต์ และตั้งเป้าหมายอัตราการใช้พลังงานต่อหัวให้ลดลง 3% ในปีนี้ และลดลงรวมถึง 13.5% ณ สิ้นแผน 14

ในเชิงการพัฒนาด้านสังคม จีนจะริเริ่มการดำเนินนโยบาย “จีนที่สุขสงบ” และการขยายการพัฒนาสังคมที่ดีในทุกด้าน การปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพสู่อีกระดับหนึ่ง โดยจีนจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ขาดแคลนและใน ชนบท (อ่านต่อฉบับหน้า)

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหว ทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หน้า 6 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,663 วันที่ 21 - 24 มีนาคม พ.ศ. 2564