“ปรับแผน” สู้โควิด-19 สงครามไวรัสยังไม่จบ

18 มี.ค. 2564 | 05:00 น.

“ปรับแผน” สู้โควิด-19 สงครามไวรัสยังไม่จบ : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3662 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 18-20 มี.ค.2564


วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ได้ฤกษ์ประเดิมปักเข็มฉีดให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปแล้ว เมื่อเช้าวันที่ 16 มีนาคม 2564 จากนี้พร้อมกระจายฉีดให้กลุ่มเสี่ยงสูงอายุเกิน 60 ปี ตามแผนของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

เดิมนายกฯ มีแผนเข้ารับการฉีดวัคซีนตั้งแต่ 12 มีนาคม 2564 แต่เผอิญมีรายงานพบผู้รับการฉีดวัคซีนนี้รายหนึ่งเสียชีวิต จากภาวะลิ่มเลือดอุดตัน จนหลายประเทศสั่งระงับการใช้ไปก่อนเพื่อรอตรวจสอบ แต่ต่อมาทั้งบริษัท แอสตร้าฯ รวมถึงองค์การอนามัยโลก และหน่วยงานกำกับคุณภาพด้านยาของสหภาพยุโรป (อียู) ระบุว่าไม่พบความเกี่ยวข้องกับกรณีการเกิดลิ่มเลือดภายหลังการฉีดวัคซีนตามที่เป็นข่าว และแนะนำให้ฉีดวัคซีนต่อไปได้

ทั้งนี้ ยุโรปหลายประเทศกำลังเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ระลอกสาม หลังจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการติดเชื้อถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ต้องประกาศล็อกดาวน์อีกครั้ง

ปรากฏการณ์นี้ชี้ว่า แม้จะได้ฉีดวัคซีนต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว ก็ยังมีโอกาสที่การติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นได้ ในกรณีของไทยเองนั้นยังมีความเสี่ยงที่การระบาดจะกลับมาทวีขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลัสเตอร์ตลาด ทั้งตลาดกลางกุ้งสมุทรสาคร ตลาดย่านปทุมธานี และล่าสุดตลาดบางแค ซึ่งเป็นแหล่งที่รวมการพบปะของผู้คน  

มีการตั้งข้อสังเกตว่า การระบาดเชื้อโควิด-19 รอบใหม่ จะปะทุเป็นจุด ๆ และกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เนื่องจากระบบการตรวจคัดกรองแบบไล่ตามหลัง เมื่อตรวจพบหรือมีคนไข้ติดเชื้อโควิด-19 ขณะที่ประสิทธิภาพการตรวจแบบแยงจมูกหาสิ่งส่งตรวจมีโอกาสผิดพลาดสูง ต้องตรวจซํ้า 2-3 ครั้ง มีโอกาสที่ผู้ติดเชื้อหลุดรอดไปแพร่เชื้อต่อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ติดเชื้อที่ไม่ปรากฏอาการ  ที่ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงแพร่เชื้อทั้งสายพันธุ์เดิม หรือเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์ต่าง ๆ จนอาจเกิดการระบาดรอบสามได้อีกเช่นกัน 

เมื่อเรามีวัคซีนเป็นอาวุธรับมือการระบาดเชื้อโควิด-19 เพิ่มเติม โดยวัคซีนของแอสตร้าฯจากโรงงานสยามไบโอไซน์ จะเริ่มส่งมอบเดือนละ 5-10 ล้านโด๊ส ตั้งแต่กลางปี จนครบ 61 ล้านโด๊สภายในปีนี้่ และมีแผนจัดหาวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติมอีก 5 ล้านโด๊ส เพิ่มเติมจากที่สั่งซื้อไปแล้ว 2 ล้านโด๊ส และพร้อมพิจารณาขึ้นทะเบียนวัคซีนต้านโควิด-19 ตัวอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก

จากนี้ไปควรปรับมาตรการรับมือโควิด-19 เพิ่มเติมควบคู่ไปด้วย อาทิเช่น ทบทวนแนวทางตรวจคัดกรองเป็นแบบถ้วนหน้า ทั่วถึง รวดเร็ว และไม่ให้หลุดรอด กระจายการจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 ให้หลากหลาย รองรับข้อจำกัดต่าง ๆ รวมถึงเขื้อกลายพันธุ์ เปิดช่องให้ภาคีอื่นมีส่วนร่วม เช่น ให้เอกชนร่วมในการกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมเร็วขึ้น  

ประการสำคัญ มาตรการสาธารณสุขพื้นฐาน หมั่นล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ยังต้องร่วมมือร่วมใจทำกันต่อไป เพราะสงครามไวรัสยังไม่จบ