ถึงเวลาแล้วที่ต้องศึกษา แนวคิดการบริหารธุรกิจของจีน

17 มี.ค. 2564 | 06:20 น.

ถึงเวลาแล้วที่ต้องศึกษา แนวคิดการบริหารธุรกิจของจีน :

เป็นครั้งแรกที่จำนวนของบริษัทจีนในรายชื่อ Fortune 500 ล่าสุด (ปี 2020) แซงหน้าจำนวนบริษัทอเมริกัน และขึ้นแท่นเป็นอันดับหนึ่ง ถึงแม้กว่า 70% ของจำนวนบริษัทจีนที่ติดอันดับเป็นรัฐวิสาหกิจทั้งของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งได้เปรียบจากขนาดของตลาดในประเทศและบางส่วนมีลักษณะผูกขาด

อย่างไรก็ตาม การผงาดขึ้นมาของบริษัทจีนและแบรนด์จีนในเวทีโลกเป็นแนวโน้มที่มีแต่จะเร่งขึ้น ในขณะที่นักธุรกิจทั่วโลกยังไม่ค่อยได้มีโอกาสเข้าใจถึงแนวคิดของการบริหารธุรกิจของนักธุรกิจจีน เนื่องจากการศึกษาวิจัยเรื่องการบริหารธุรกิจที่ผ่านมามุ่งไปที่แนวคิดของประเทศตะวันตก มีบ้างในเอเชียก็คือแนวคิดของธุรกิจญี่ปุ่นในบทความนี้ ผู้เขียนเรียบเรียงแนวคิดการบริหารของนักธุรกิจจีนในส่วนที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ

บริษัทจีนที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจมีประวัติอย่างมากไม่เกิน 30 กว่าปี นับแต่ที่ประเทศ จีนเริ่มนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ (Reform and Opening) และถ้าพูดถึงบริษัทเทคโนโลยีก็จะมีอายุน้อยกว่ามาก อาทิบริษัท Tencent และ บริษัท Alibaba มีอายุเพียง 20 กว่าปีเท่านั้น ถึงแม้ธุรกิจจีนมีประวัติไม่ยาวนานแต่แนวคิดเรื่องการบริหารธุรกิจ มักอิงกับแนวคิดลัทธิขงจื้อที่มีมาช้านาน ซึ่งเน้นสถาบันครอบครัวและความกลมเกลียวกัน (Harmony)

ดังนั้น การบริหารจัดการโดยทั่วไป เน้นไปที่ความเชื่อใจในพนักงานและทีมงานมากกว่ากระบวนการ การทำธุรกิจเริ่มจากความสัมพันธ์ส่วนตัว ในหลายส่วนยึดถือสัจจะวาจามากกว่าตัวสัญญา กฎระเบียบกติกาอาจผ่อนปรนกันได้บ้าง โดยมองผลสำเร็จสุดท้ายเป็นสำคัญ นักธุรกิจจีนมักใช้คำว่าแลกเปลี่ยน “ทรัพยากร” (Resources) เพื่อประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

บริษัท Haidilao ซึ่งเป็นเครือร้านอาหาร hotpot ที่ใหญ่ที่สุด และไม่น่ามีคนจีนคนไหนที่ไม่รู้จัก ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับพนักงานมากที่สุดแห่งหนึ่งในจีน ขนาดที่มีการพูดกันว่าพนักงานสำคัญกว่าลูกค้า โครงสร้างองค์กรมีลักษณะค่อนข้างแบน และผู้จัดการแต่ละร้านมีความคล่องตัวในการจัดการสูง สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดความเป็นเลิศในการบริการ

ด้วยความที่ประเทศจีนมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมายาวนาน จึงทำให้นักธุรกิจจีนโดยเฉลี่ยมีลักษณะเฉพาะตัวคือ มีความภูมิใจ ชาตินิยม และมีความขยันอดทนสูง สิ่งนี้เป็นพื้นฐานของการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในระยะเวลาอันสั้น จากที่แรกเริ่มต้องพึ่งพาและเรียนรู้เทคโนโลยีจากตะวันตกเป็นส่วนมาก

บริษัท Sany Heavy Industry ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 1989 ผลิตเครื่องจักรเพื่อการก่อสร้าง อาทิ ปั๊มคอนกรีต รถขุด (Excavator) ฯลฯ โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ลองผิดลองถูกเพื่อลดการพึ่งพาชิ้นส่วนนำเข้า และเพิ่มคุณภาพของสินค้าจนก้าวขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งเบียดคู่ต่อสู้ อาทิ Caterpillar และ Komatsu ที่แต่เดิมเป็นผู้นำตลาดออกไป และในปี 2012 บริษัทได้เข้าซื้อกิจการทั้งหมดของบริษัท Putzmeister ซึ่งเป็นบริษัทผลิตปั๊มคอนกรีตยักษ์ใหญ่จากเยอรมัน

ถึงเวลาแล้วที่ต้องศึกษา  แนวคิดการบริหารธุรกิจของจีน

เรื่องราวทำนองนี้มีให้เห็นอีกมากในประเทศจีน ตัวอย่างที่เห็นผลได้ชัดเจนที่สุดน่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง ที่เริ่มจากเทคโนโลยีต่างชาติเกือบทั้งหมด อาศัยตลาดในประเทศขนาดมหึมาเพื่อพัฒนาจนกลายมาเป็นเทคโนโลยีจีน 100%

ตรงนี้เองผู้เขียนขอเสริมจากประสบการณ์ว่า นอกจากความภูมิใจและความขยันอดทนแล้ว นักธุรกิจจีนที่ประสบความสำเร็จมีความ “ดุดัน” สูงเป็นพิเศษ คุณ Ren Zhengfei ผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเว่ยกล่าวในหนังสือ “Dedication : The Huawei Philosophy of HR Management” ว่าหัวเว่ยต้องหล่อหลอมเพื่อพัฒนาฝูงหมาป่าที่มีความจมูกไว ต่อสู้กันเป็นฝูง และมีความทรหดสูง

ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจคือ ผู้บริหารธุรกิจจีนไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก รัฐสาหกิจหรือเอกชน มักอ้างอิงแผนพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล (ที่ปัจจุบันกำลังเข้าสู่แผนฉบับที่ 14) ในการจัดทำแผนธุรกิจของตัวเอง เป็นผลให้นโยบายธุรกิจค่อนข้างสอดคล้องกับนโยบายอุตสาหกรรมที่รัฐบาลผลักดัน

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนเห็นว่าแนวคิดด้านการบริหารของจีน มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในหลายๆ ด้านก็จริง แต่ยังไม่มีด้านไหนที่อาจเรียกได้ว่า Breakthrough (อาทิ อย่างที่ญี่ปุ่นมีการจัดการแบบ Just in Time) ทั้งนี้คงเป็นเพราะอายุของธุรกิจจีนที่ยังไม่นานนัก และแบรนด์จีนที่ก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์ระดับโลกอย่างแท้จริงยังมีนับมือได้ แต่ด้วยขนาดและความสำคัญของเศรษฐกิจจีน จึงชวนให้ติดตามศึกษาวิวัฒนาการของปรัชญาการบริหารธุรกิจจีนกันต่อไป 

 

หมายเหตุ : ความเห็นในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่ผู้เขียนสังกัดอยู่แต่อย่างใด ผู้อ่านสามารถแสดงความเห็นได้ที่ facebook: manop sangiambut

เกี่ยวกับผู้เขียน : มาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ มีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนและการเงินในประเทศจีนกว่า 15 ปี ในอดีตเคยเป็นหัวหน้านักวิเคราะห์หุ้นจีน เอ แชร์ และข้าราชการกระทรวงการคลัง จบการศึกษาปริญญาตรีด้านสารสนเทศการบัญชี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและปริญญาโท MBA จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลล่อน สหรัฐอเมริกา

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,662 วันที่ 18 - 20 มีนาคม พ.ศ. 2564