‘ดร.ศุภชัย’กับข้อคิด การใช้‘เงินกู้’ฟื้นเศรษฐกิจ

10 มี.ค. 2564 | 04:40 น.

‘ดร.ศุภชัย’กับข้อคิดการใช้‘เงินกู้’ฟื้นเศรษฐกิจ : คอลัมน์อินไซด์สนามข่าว โดย...จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,660 หน้า 10 วันที่ 11 - 13 มีนาคม 2564

เป็น 1 ชั่วโมงเต็ม ที่คุ้มค่าอย่างยิ่งกับการรอคอยและฟังปาฐกถาพิเศษจาก “ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์” อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังก์ถัด) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) ในงาน TJA Talk เนื่องในโอกาสครบรอบ 66 ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หัวข้อ “มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก”

ดร.ศุภชัย ฉายภาพให้เห็นถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งไทยและโลก ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้กู้เงินด้วยการออกพ.ร.ก.มาแล้ว ตอนนี้ยังมีเงินพอแน่นอน แต่ก็ต้องใช้ให้เหมาะสม ถูกเรื่อง ถูกเวลา ใช้กระสุนให้พอถ้าจะตุนเอาไว้ ดีกว่าไปถล่มใช้ทีเดียวหมดแล้วกู้ใหม่ แต่ถ้าหมดก็ต้องลองมาดูกันอีกที 

อย่างเอามาช่วยเอสเอ็มอี อยากให้ใช้ให้หมดไปเลย เงินยังเหลืออยู่อีก อยากให้ปล่อยเงินให้ง่าย อย่าหวงให้เขาเอาเงินไปใช้ลงทุน ถ้าทำได้เร็วเขาจะดีขึ้นทั้งหมดเลย แต่ถ้าเรายังชะลอๆ เขาจะอยู่ไม่รอดเมื่อสถานการณ์กลับมาดีแล้ว ตอนนี้เป็นเวลาไม่ปกติ ขืนไปรบแบบปกติคุณก็แพ้สงคราม

ไฮไลท์ของปาฐกถา อยูู่ที่การยกประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงปี 2564 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุเอาไว้ 8 ข้อ ซึ่ง ดร.ศุภชัยบอกว่า “ตรงกับที่คิดเอาไว้” คือ 

1. การควบคุมการแพร่ระบาดและการป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงภายในประเทศ ที่ผ่านมาเราจัดการดีแต่ปล่อยคนเข้ามาน้อย แต่ก็ต้องดูให้เหมาะสมค่อยๆ เปิด โดยเฉพาะหลังจากมีวัคซีนเต็มที่ ซึ่งทั่วโลกจะทำแบบบับเบิ้ลเทรนด์ทั้งนั้น

2. การรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศ และการเมืองมีเสถียรภาพ ส่วนตัวคิดว่า ชั่วกัปชั่วกัลป์ เราขอกับประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยผมเริ่มต้นการเมืองมา จนเลิก การเมืองมีเสถียรภาพของบ้านเราเป็นอะไรที่ลำบาก แต่ว่าเฉพาะบ้านเรามีปัญหาก็ไม่ถูก เพราะจากที่ไปทำงานมากับหลายสิบประเทศทั่วโลก ก็เห็นปัญหานี้ว่าทำได้ยาก 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา ประชาธิปไตยกำลังอยู่ในช่วงฟูมฟัก อ่อนแอ ก็ยังเป็นปัญหา และหวังว่าสักวันหนึ่งจะมี Political Distancing หรือการเมืองแบบเว้นระยะห่างเกิดขึ้นมาบ้าง ให้สงบๆ อยู่ห่างๆ กันบ้าง อย่าประชิดตัวกันมากเกินไป หรือใช้การเมืองแก้ปัญหาการเมืองอย่างเดียว โดยไม่ได้แก้เศรษฐกิจ เพราะทั้งหมดนั้นใช้เงินกระเป๋าเดียวกัน

 

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์

 

3. ช่วยเหลือการท่องเที่ยวและเอสเอ็มอี เป็นการท่องเที่ยวเพื่อแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ทำลายสิ่งแวดล้อม 

4. เร่งการใช้งบประมาณภาครัฐ โดยเฉพาะเรื่องของการลงทุน 

5. เร่งให้ภาคเอกชนได้ลงทุนจริง โดยจะต้องผลักดันให้เกิดการลง ทุนจริงให้ได้ เพราะปัจจุบันเรามีสัด ส่วนการลงทุนจริงต่อจีดีพี 23% ขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาอยู่ที่ 30% ดังนั้นจึงต้องทำให้ได้ 27-30% 

 

6. การเตรียมความพร้อมทางด้านการท่องเที่ยว 

7. การแก้ไขปัญหาภัยแล้งและภาคเกษตร และการรับความเสี่ยง ของเศรษฐกิจโลก 

และ 8. การเตรียมตัวรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก

“หากเราจะพูดถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงต่อไปนี้ แนวโน้มมันไม่ น่าจะเลวลง แนวโน้มมันมีแต่จะเรียบๆ ทั่วโลก อาจมีการสะดุดบ้าง เพราะกระบวนการต่อสู้กับโรคระบาดมันจะเวียนกลับมา เพราะว่าเราสู้ชนะส่วนหนึ่งไปแล้ว เขาจะกลายเป็นพันธุ์ใหม่ แล้วกว่าเราจะเอา 100 กว่าประเทศทั่วโลกที่ติดไปกลับมาหายพร้อมเพรียงกัน อย่างน้อยคงต้องใช้เวลาถึง 5-7 ปี”