ฟื้นเศรษฐกิจยั่งยืน“หลังโควิด” ต้อง“ทันกาล-เป็นธรรม”

05 มี.ค. 2564 | 23:40 น.

ฟื้นเศรษฐกิจยั่งยืน“หลังโควิด” ต้อง“ทันกาล-เป็นธรรม” : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3659 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 7-10 มี.ค.2564

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ทิศทางฟื้นเศรษฐกิจฝ่าวิกฤติโควิด 2564 ในงานสัมมนาจับทิศทางการลงทุนยุค New Normal จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ เมื่อ 3 มี.ค.2564 ชี้กรอบแนวทางการบริหารเศรษฐกิจในปีนี้ภาครัฐยังเป็นตัวนำในการประคองเศรษฐกิจ ด้วยมาตรการเชิงเยียวยาและกระตุ้นต่อไป   

แม้เริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ในการรับมือสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 จากการทยอยฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ทั้งในไทยและหลายประเทศทั่วโลก แต่การฟื้นตัวยังต้องใช้เวลา เนื่องจากธุรกิจหลายกลุ่มต้องเยียวยาความเสียหาย ฟื้นฟูศักยภาพองค์กรจากวิกฤติโควิดที่เกิดขึ้น อาทิ ภาคท่องเที่ยว ซึ่งสร้างรายได้ปีละ 3 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 12% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทย ต้องรออีก 2 ปีจึงจะกลับที่เดิม

 ทั้งนี้ คลังคงคาดการณ์จีดีพีไทยปี 2564 ว่าจะกลับมาเป็นบวกคือเติบโตได้ที่ 2.8% เนื่องจากฐานจีดีพีปีก่อนหน้า(2563) ที่หดตัวลงไปมาก คือที่-6.1% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ไม่มาก จากเดิมที่เศรษฐกิจไทยก่อนเกิดโควิดสามารถขยายตัวได้ที่เฉลี่ย 4% เท่ากับว่ายังมีส่วนต่างผลผลิต (Output Gap) ที่ต้องทำเพิ่มอีก แต่เนื่องจากปีก่อนหน้าติดลบ ถ้าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้เต็มศักยภาพต้องทำให้ได้ถึง 7% 

 อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีคลังรับว่า เศรษฐกิจปีนี้เราคงไม่ขึ้นไปถึง 4% เพราะปัจจัยหลัก คือดีมานด์จากต่างประเทศที่ยังไม่มา ทั้งจากการท่องเที่ยวที่เดิมคาดจะกลับมากลางปีนี้ ก็เจอการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ ขณะที่การส่งออกยังผันผวนทั้งบวกและลบรายไตรมาส ซึ่งต้องติดตามต่อเนื่อง  มาตรการรัฐยังต้องดำเนินการต่อ โดยนำมาตรการที่เคยทำแล้วกลับมาทำซํ้าแต่จะปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งมาตรการส่วนใหญ่จะเป็นมาตรการระยะสั้น เพื่อดูแลเศรษฐกิจในประเทศและประชาชน

รัฐมนตรีคลังเสนอยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจไทยยุคหลังโควิดอย่างยั่งยืน ว่าต้องมุ่ง 3 ด้าน คือ

1. ฟื้นฟูความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดยเดินหน้าแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่อเพื่อสร้างความเชื่อมั่นนานาชาติ และลดอุปสรรคด้านกฎหมายระเบียบต่าง ๆ ให้ทำธุรกิจง่ายยิ่งขึ้น

2.มุ่งใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งระบบอี-เพย์เมนต์  การใช้เอไอ หุ่นยนต์

และ 3.สร้างการคุ้มครองทางสังคมรับยุคสูงวัย เพิ่มทักษะดิจิทัลแก่กำลังแรงงานทุกระดับ 

 ส่วนการดูแลภาคธุรกิจ โดยเฉพาะที่ดำเนินการผ่านพ.ร.ก.ซอฟท์โลนนั้น ที่ผ่านมาทำไปได้เพียงประมาณ 1 แสนล้านบาท ยังเหลือวงเงินอีก 3.5 แสนล้านบาท จะหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อปรับเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี.เข้าถึงได้มากขึ้น จากเดิมธปท.ให้กู้ 0.1% เพื่อให้แบงก์พาณิชย์ไปปล่อยกู้ให้ลูกค้าที่ไม่เกิน 2% จะขยายอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น โดยปล่อยกู้ต่อราย 20 ล้านบาท สูงสุดไม่เกิน 500 ล้านบาท รวมถึงมาตรการโกดังหนี้ (Asset Warehousing) ที่ธนาคารกับลูกหนี้จะทำกันเอง แต่ทางรัฐจะอำนวยความสะดวกให้ เช่น ด้านภาษี

 ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ รัฐบาลต้องประคับประคองอย่างต่อเนื่องและรอบคอบ เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งความเสี่ยงเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ ประสิทธิผลของวัคซีน  รวมถึงภาวะเศรษฐกิจภายในและนอกประเทศ จึงต้องดูแลประชาชนและกิจการที่ได้รับผลกระทบให้ทันกาล ทั่วถึง และเป็นธรรม เพื่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน