10 เมืองเจ๋งสุด ในแดนมังกร (5)

04 มีนาคม 2564

อันดับ 3 เซินเจิ้น ถือเป็น 1 ใน 4 เมืองเอกของจีน และเป็นเขตเศรษฐกิจหลักของมณฑลกวางตุ้งที่อยู่ตรงข้ามเกาะฮ่องกง 

ในบรรดา 10 อันดับแรกของเมืองมั่งคั่งสุดของจีน เซินเจิ้น นับเป็นเมืองที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดถึงกว่า 20 เท่าตัวในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งนี้ จีดีพีของเซินเจิ้นในปี 2020 เพิ่มขึ้นเป็น 432,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งใหญ่กว่าขนาดเศรษฐกิจของออสเตรียทั้งประเทศ  

ด้วยพื้นฐานที่ดีของการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแรกหลังการเปิดประเทศ กอรปกับการเป็นเมืองหลักของ GBA ซึ่งกำหนดให้เซินเจิ้นเป็นผู้นำด้านดิจิตัลและเทคโนโลยีระดับสูง ทำให้เมืองนี้สามารถต่อยอดสู่นิคมอุตสาหกรรมไฮเทคด้วยระบบนิเวศที่พร้อมพรั่งและล้ำสมัย อาทิ สวนนวัตกรรมและเทคโนโลยีฮ่องกง-เซินเจิ้น จนวันนี้ผู้คนตั้งสมญานานเซินเจิ้นว่าเป็น “ซิลิคัลวัลเลย์ของโลกซีกตะวันออก” 

กิจการชั้นนำของจีนและต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านดิจิตัล ต่างเข้าไปลงทุนและตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในเซินเจิ้นกันมากมาย ผิงอัน หนึ่งในกิจการประกันภัยที่ใหญ่สุดของโลก หัวเหว่ย เจ้าแห่งระบบโทรคมนาคมและโทรศัพท์มือถือ และบีวายดี ผู้ผลิตรถไฟฟ้ารายใหญ่ของจีน ต่างก็มีสำนักงานใหญ่ในเซินเจิ้น 

ขณะที่เทนเซ้นต์ เจ้าแห่งแอ็พวีแชต ฟ็อกซ์คอนน์ เจ้าแห่งระบบการผลิตอัจฉริยะ และผู้ผลิตหุ่นยนต์หลายรายก็ลงทุนในเมืองนี้ ส่งผลให้ เซินเจิ้น กลายเป็นหัวคลื่นหนึ่งของการพัฒนาที่ก้าวล้ำและเปี่ยมไปด้วยนวัตกรรมของจีน อาทิ ระบบ 5G สังคมไร้เงินสด และวัสดุใหม่

 

นอกจากนี้ เซินเจิ้นยังนับเป็นเมืองนำร่องด้านนวัตกรรมของจีน อาทิ รถไฟฟ้า และรถยนต์ไร้คนขับ รถยนต์ส่วนตัว รถแท๊กซี่ รถตำรวจ และ รถบัสประจำทางได้ถูกเปลี่ยนเป็นรถยนต์อัจริยะที่ประหยัดพลังงานเหล่านี้

ขณะเดียวกัน สถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาจำนวนมากในพื้นที่ยังนับว่าอยู่ในระดับชั้นนำของจีน สามารถสร้างนวัตกรรมทางความคิดและผลิตบุคลากรที่มีความสามารถ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ทำให้การพัฒนาคลัสเตอร์ด้านดิจิตัลและเทคโนโลยีพุ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง คนจีนจึงมักพูดเสมอว่า หากจะมองหามหาเศรษฐีพันล้านในจีนต้องไปดูที่เซินเจิ้น

อันดับ 2 ปักกิ่ง เป็นเมืองที่มีหลายสถานะอย่างมากในจีน สำคัญที่สุดก็คือการเป็นเมืองหลวง ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางทางการเมืองของจีน หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ และสมาคมระดับชาติของจีน รวมทั้งสถานทูตและองค์การระหว่างประเทศเกือบทั้งหมดมีสำนักงานในเมืองนี้ 

ปักกิ่งอีกหนึ่งเป็นเมืองเอกที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ และมีจำนวนมหาเศรษฐีพันล้านมากที่สุดของจีน ขณะที่กิจการข้ามชาติที่เข้าไปประกอบการที่จีนก็เลือกเมืองนี้ในการจัดตั้งสำนักงานในจีน

10 เมืองเจ๋งสุด  ในแดนมังกร (5)

ด้วยความที่ปักกิ่งเป็นหน้าตาของประเทศที่เป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ และมีแขกบ้านแขกเมืองมาเยือนอยู่ตลอด ทำให้รัฐบาลจีนทุ่มทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกมาอย่างต่อเนื่อง 

ปักกิ่งมีโครงข่ายเส้นทางรถไฟใต้ดินโดยรวมที่ยาวและซับซ้อนมากที่สุดในโลก ขณะเดียวกันก็เป็นศูนย์กลางการเดินทางของรูปแบบอื่นๆ อาทิ ถนน รถไฟความเร็วสูง และการบินที่เชื่อมต่อไปยังภูมิภาคอื่น 

หลายคนก็อาจได้ไปทดลองใช้บริการวงแหวนรอบที่ 7 ของปักกิ่งที่มีความยาวรวมเกือบ 1,000 กิโลเมตรเชื่อมโยงเมืองสำคัญในปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย ซึ่งส่วนหนึ่งเพื่อรองรับความต้องการที่จะเกิดขึ้นจากจุดหมายปลายทางและงานใหญ่ อาทิ สนามบินนานาชาติต้าชิง เมืองใหม่สวงอัน การเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 และอื่นๆ ในอนาคต

ตรุษจีนที่ผ่านมา ทางการจีนก็แจกอี-อั่งเปาแก่ประชาชนเพื่อทดลองเงินหยวนดิจิตัล เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนให้มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในต้นปีหน้า ขณะที่กระทรวงการรถไฟจีนก็เตรียมจะเปิดบริการรถไฟแม่เหล็กไฟฟ้าความเร็ว 620 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเส้นทางปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้แก่สาธารณชนในปีนี้ 

นอกจากนี้ ปักกิ่งยังเป็นมหานครที่มีประชากรอาศัยอยู่ในเขตเมืองมากเป็นอันดับที่ 2 ของจีน รองจากเซี่ยงไฮ้ แต่เนื่องจากขนาดพื้นที่ที่มีอยู่มาก และโครงข่ายคมนาคมที่พร้อมสรรพจึงทำให้ไม่รู้สึกว่าหนาแน่นมากนัก แถมบริการขนส่งสาธารณะ อาทิ รถไฟใต้ดิน รถเมล์ประจำทาง และรถแท็กซี่ ก็มีค่าบริการที่ถูกแบบสุดๆ จนทำให้ปักกิ่งมีมาตรฐานการครองชีพดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

สิ่งหนึ่งที่ท่านผู้อ่านอาจสงสัยก็คือ มลพิษทางอากาศที่เป็นปัญหาใหญ่ของปักกิ่ง ที่ชาวจีนบางส่วนเรียกร้องให้ย้ายเมืองหลวงในช่วงหลายปีก่อนคลี่คลายหรือยัง ผมก็ขอเรียนว่า ปัญหาดังกล่าวได้รับการสะสางไปเรียบร้อยแล้ว 

รัฐบาลจีนเดินหน้าแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างจริงจัง โดยกำหนดมาตรการมากมาย อาทิ การสั่งปิดและย้ายโรงงานผลิตที่ก่อให้เกิดมลพิษออกไปนอกพื้นที่ การนำเอาเครื่องจักรไฮเทคมาใช้ทดแทนของเดิม การยกเลิกการใช้ถ่านหินในการผลิตพลังงานความร้อน และการปรับโครงสร้างภาคการผลิตสู่อุตสาหกรรมทันสมัย ผมไปปักกิ่งในช่วง 2-3 ปีหลังไม่พบมลพิษทางอากาศดังเช่นในอดีตแต่อย่างใด

ศูนย์นวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี “จงกวนชุน” ที่ผมไปเยือนเป็นแห่งแรกๆ ภายหลังการรับตำแหน่งทูตพาณิชย์ ณ กรุงปักกิ่ง ผ่านไปราว 10 ปี จงกวนชุนก็กลายเป็นแหล่งรวมกิจการชั้นนำที่เกี่ยวข้องของโลก ใครสนใจด้านนวัตกรรมก็ควรไปเยือนพาวิลเลียนกลางของศูนย์ฯ ที่รวบรวมผลงานนวัตกรรรมที่สร้างสรรค์โดยกิจการที่ตั้งอยู่ในจงกวนชุนไว้กันนะครับ

ปักกิ่งยังมีสถาบันการศึกษาชั้นนำในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Tsinghua University และ Peking University ที่สร้างผู้นำและบุคลากรชั้นนำของจีนมาหลายยุคหลายสมัย ทำให้ปักกิ่งมีสถานะหนึ่งของการเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาของจีนในปัจจุบัน

การดำเนินนโยบายและโครงการเหล่านี้ ทำให้เศรษฐกิจของปักกิ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จีดีพีของปักกิ่งขยายตัวถึง 18.9 เท่า แตะ 564,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา หรือเท่ากับของสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ กาตาร์ และโอมานรวมกัน

ปักกิ่งยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมากมาย อาทิ พระราชวังต้องห้าม พระราชวังฤดูร้อน เทียนถาน (หอสักการะฟ้า) และกำแพงเมืองจีน ส่งผลให้มหานครแห่งนี้ติดอันดับ 6 ของเมืองวัฒนธรรมโลก ตามหลังนิวยอร์กซิตี้ ลอนดอน โตเกียว ปารีส และซานฟรานซิสโก โดยนำโด่งในหมวดการพัฒนาด้านอินเตอร์เน็ตและจุดกระจายสัญญาณ 4G/5G และได้รับคะแนนสูงในส่วนของสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์  

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,658 วันที่ 4 - 6 มีนาคม พ.ศ. 2564