10 เมืองเจ๋งสุดในแดนมังกร (4)

27 ก.พ. 2564 | 03:35 น.

10 เมืองเจ๋งสุดในแดนมังกร (4) : คอลัมนมังกรกระพือปีก โดย... ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

อันดับ 4 ฉงชิ่ง มหานครแห่งเดียวของซีกตะวันตกของจีน มีขนาดพื้นที่ราวครึ่งหนึ่งของพื้นที่ภาคอีสานของไทย ตัวเมืองตั้งอยู่บนเนินสูงเหนือบริเวณที่แม่น้ำแยงซีเกียงและแม่น้ำเจียหลิงไหลมาบรรจบกัน คล้ายกับอยุธยาที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาและป่าสักคดเคี้ยวอยู่รายรอบ หลายคนจึงขนานนามว่าเป็นเมืองแม่น้ำ

สภาพอากาศของฉงชิ่งก็มีลักษณะเฉพาะที่น่าสนใจ กล่าวคือ แต่ละฤดูมีอุณหภูมิที่แตกต่างกันมาก ฤดูร้อนก็ร้อนจริง ฤดูหนาวก็หนาวจัด ในฤดูร้อน อุณหภูมิอาจสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสูง ทำให้รู้สึกเหนอะหนะไม่สบายตัว ขณะที่ในฤดูหนาว ก็เย็นจัดถึงขั้นมีหิมะหนา และพออุณหภูมิอุ่นขึ้นหน่อย แม่น้ำ 2 สายหลักดังกล่าวก็ปล่อยหมอกควันหนาตาทั่วไปหมด จนถูกขนานนามว่าเป็นเมืองในหมอก  

แม้กระทั่งในช่วงเวลากลางวันหมอกที่หนาตา ทำให้ทัศนวิสัยของผู้ใช้รถยนต์จำกัดมากจนต้องเปิดไฟหน้ารถช่วย หากใครจะบินไปเมืองนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวก็ขอให้ทำใจเผื่อไว้หน่อย เพราะอาจจะเจอกับปัญหาการเลื่อนตารางเที่ยวบิน ซึ่งเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ  

ฉงชิ่งเคยเป็นเมืองเอกของมณฑลเสฉวนในหลายสมัย ย้อนไปในทศวรรษ 1940 รัฐบาลก๊กมินตั๋งก็ยกระดับเป็นเมืองหลวง และใช้เป็นฐานตั้งมั่นในการต่อสู้กับการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่น จึงถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่าเป็นนครแห่งสงคราม ความเป็นเมืองในหมอกดังกล่าวก็ทำให้ฉงชิ่งรอดจากการถล่มของกองทัพญี่ปุ่นในอดีตได้ เพราะนักบินญี่ปุ่นในขณะนั้นไม่สามารถมองเห็นเป้าหมายที่จะถล่มได้ชัดเจน 

นอกจากนี้ อดีตผู้นำจีนอย่าง เติ้ง เสี่ยวผิง และบรรพบุรุษของหลี่ เผิง อดีตนายกรัฐมนตรี ก็มีพื้นเพดั้งเดิมจากเมืองนี้ ในปลายปี 2007 รัฐบาลจีนยังได้แต่งตั้งโปว ซีไหล อดีตรัฐมนตรีพาณิชย์ และหนึ่งในแคนดิเดตผู้นำจีนในยุคนั้น ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคนครฉงชิ่ง ซึ่งต่อมาภายหลังก็เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองพ้นจากตำแหน่งไป  

ในด้านเศรษฐกิจ ฉงชิ่งมีประชากรกว่า 30 ล้านคน และมีสินแร่เป็นจำนวนมาก อาทิ ถ่านหิน สตรอนเตียม ก๊าซธรรมชาติ อลูมิเนียม และแมงกานีส ในจำนวนนี้ แร่สตรอนเตียมมีมากเป็นอันดับ 1 ของจีน และเป็นอันดับ 2 ของโลก

ฉงชิ่งเริ่มมีชื่อเสียงอีกครั้งในช่วง 20 ปีหลังนี้เมื่อรัฐบาลกลางกำหนดให้ฉงชิ่งเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาภาคตะวันตกของจีน โดยมุ่งเป้าให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมและความเจริญด้านตอนในของจีน 

ในอดีต เมืองนี้มีจุดเด่นในการเป็นเมือง “5 ต่ำ” ของต้นทุนการประกอบธุรกิจ ได้แก่ การเงิน สินค้า ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ โลจิสติกส์ และภาษี แต่ก็มีแนวโน้มขยับสูงขึ้นโดยลำดับ 

มหานครฉงชิ่ง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนยังอัดเม็ดเงินเข้าพื้นที่เฉลี่ยถึงปีละราว 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ ท่าเรือ ทางด่วน เส้นทางรถไฟความเร็วสูง และสนามบินเพื่อเชื่อมเศรษฐกิจกับภูมิภาคอื่น 

เขื่อนซันเฉีย หรือเขื่อนสามโตรก ซึ่งเสร็จสมบูรณ์เมื่อราว 10 ปีก่อน ก็เป็นอีกโครงการที่สะท้อนถึงความเอาจริงเอาจังของรัฐบาลจีน เขื่อนยักษ์ดังกล่าวช่วยลดปัญหาน้ำท่วมและกระตุ้นเศรษฐกิจของ 9 มณฑล/มหานครในบริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง เพราะระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นถึง 25 เมตรช่วยให้เรือขนาดขนส่งสินค้าและผู้โดยสารขนาดใหญ่สามารถแล่นเข้ามาถึงตอนในของประเทศได้ 

ด้วยการทุ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ มาตรการส่งเสริมการลงทุน ปัจจัยการผลิต และความได้เปรียบด้านต้นทุน ทำให้กิจการต่างชาติเพิ่มการลงทุนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเคมี ยา โทรคมนาคม ยานยนต์ อสังหาริมทรัพย์ คอมพิวเตอร์และซอฟท์แวร์ ส่งผลให้จีดีพีของฉงชิ่งพุ่งแตะ 1 ล้านล้านหยวนเป็นครั้งแรกในปี 2011 และเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในเวลาต่อมา 

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในฉงชิ่งก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ความฝันที่ผู้คนอยากเห็น “ผู่ตง 2” ที่เต็มไปด้วยอาคารสูงทรงทันสมัยเกิดเป็นจริงขึ้น จนมหานครแห่งนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ชิคาโกแห่งซีกโลกตะวันออก” 

ขณะเดียวกัน ธุรกรรมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมเติบโตมากกว่า 20 เท่าตัว และแตะหลัก 386,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2020 ด้วยการพัฒนาดังกล่าว ทำให้ฉงชิ่งเป็นเมืองในด้านซีกตะวันตกที่ได้รับคะแนนความพึงพอใจสูงสุดในด้านขีดความสามารถในการแข่งขันอยู่เสมอ ทั้งจากการประเมินของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ

นอกจากนี้ ฉงชิ่งยังเป็นหนึ่งในจุดเชื่อมโยงสำคัญจากจีนไปยังตะวันออกกลางและยุโรปภายใต้ BRI และด้วยกำลังซื้อที่มีอยู่สูงและเติบโตแรง ฉงชิ่งจึงเป็นตลาดเป้าหมายที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย เพราะความได้เปรียบในระยะทางขนส่งจากไทยเมื่อเทียบกับของต่างประเทศ

ในด้านการท่องเที่ยว นอกจากการล่องเรือชมวิวทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำแล้ว ผมแนะนำให้ไปเยือนพิพิธภัณฑ์สติลเวลล์ ซึ่งตั้งอยู่ในสวนสาธารณะอี้หลิง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้รวบรวมเหตุการณ์ในยุคสงครามจีนและญี่ปุ่นเอาไว้มากมาย และสะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างกองทัพสหรัฐฯ กับรัฐบาลจีนในการต่อสู้ในครั้งนั้นได้เป็นอย่างดี

ถ้าชอบเมืองเก่าก็ต้องแวะไปฉือชี่โคว่ ซึ่งเป็นถนนสายเก่าของเมือง และเคยเป็นหมู่บ้านปั้นเซรามิคที่โด่งดังในอดีต รวมทั้งไปเยี่ยมถนนคนเดินแถวย่านจตุรัสเจี่ยฟางเป่ย ซึ่งอยู่บริเวณใจกลางเมือง 

และหากมีเวลามากพอ ท่านผู้อ่านก็ไม่ควรพลาดการเยือนเมืองต้าจู๋ ด้านซีกตะวันตกเฉียงเหนือของฉงชิ่งที่เต็มไปด้วยหินสลักมากกว่า 100,000 ชิ้นกระจายอยู่กว่า 75 จุดในย่านนั้น ซึ่งสะท้อนถึงความรุ่งเรืองของศาสนาและความเชื่อในอดีต อาทิ ศาสนาพุทธ ลัทธิเต๋า และปรัชญาของขงจื๊อ

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,657 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม พ.ศ. 2564

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :