“ชิดชอบ”กับที่ดินเขากระโดง ครอบครองถูกต้อง-บุกรุก?!?

22 ก.พ. 2564 | 12:14 น.

“ชิดชอบ”กับที่ดินเขากระโดง ครอบครองถูกต้อง-บุกรุก?!? : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3656 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 25-27 ก.พ.2564 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

ร้อยร้าวจากปรากฏการณ์ “งดออกเสียง” ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ที่ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 268 เสียง “งดออกเสียง” จากส.ส.เป็นจำนวนมากถึง 12 เสียง โดยใน 12 เสียงนั้น มีจำนวนส.ส. 6 เสียง เป็น ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ กลุ่มดาวฤกษ์ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นับเป็นความล่อแหลมทางการเมืองต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอย่างยิ่ง

ในความจริงเป็นหากใครที่ได้ฟังการอภิปรายของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ที่อภิปรายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่าได้กระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายร่วมกันถือครองบุกรุก และพักอาศัยในพื้นที่สมบัติของแผ่นดิน หรือที่สงวนหวงห้ามที่มีไว้เพื่อประโยชน์ประชาชนโดยรวม ที่รถไฟเขากระโดง จ.บุรีรัมย์

พ.ต.อ.ทวี ได้ยกคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยที่ดินทั้งแปลงที่เขากระโดง โดยระบุว่า หลังปี 2560 สถานะของที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ที่สงวนหวงห้ามไว้เป็นที่รถไฟ ใครที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่นี้จะต้องมีการขับไล่ และเพิกถอนสิทธิ์ ไม่สามารถมีใครมีเอกสารสิทธิ์ที่ดินส่วนนี้ได้ แต่บ้านพักของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อยู่ในพื้นที่แห่งนี้ จึงเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง และเป็นเรื่องสำคัญ แต่หลังจากศาลฎีกาตัดสินแล้ว การรถไฟฯ ได้ไปฟ้องให้เพิกถอนโฉนดชาวบ้าน ซึ่งศาลก็สั่งให้เพิกถอน

ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานของรัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ควรฟ้องทุกคน ไม่ใช่ฟ้องเฉพาะคนใดคนหนึ่ง และเมื่อได้ข้อยุติแล้วจะต้องทำให้ถูกต้องตามคำพิพากษา และทำอย่างไรที่จะเอาที่ดินสงวนหวงห้ามที่เป็นที่ดินสาธารณสมบัติกลับมา จึงเป็นหน้าที่ของการรถไฟฯ และ “รัฐมนตรี” ที่มีหน้าที่ต้องเอาที่ดินคืนให้การรถไฟฯ แต่กลับไม่ดำเนินการใดๆ ผิดหลักนิติรัฐ นิติธรรม และจริยธรรมนักการเมืองหรือไม่?

พ.ต.อ.ทวี ยังอภิปรายไม่ไว้วางใจไปยัง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ว่า เมื่อศาลฎีกามีคำตัดสินสิ้นสุดแล้ว ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการสอบสวนเรื่องดังกล่าวภายใน 60-90 วัน แต่กลับปล่อยเรื่องนี้มาตลอด หรือท่านนำเรื่องนี้เป็นข้อสมประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ จึงต้องทำความจริงให้ปรากฏ

ขณะที่ นายศักดิ์สยาม ชี้แจงว่า ภาพรวมที่ดินการรถไฟแห่งประเทศทั่วประเทศกว่า 2.4 แสนไร่ มีการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ของที่ดิน 2 ช่องทาง คือ จากการเวนคืน และได้มาโดยเหตุอื่นๆ ตนไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องการบริหารที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งกรณีที่ดินเขากระโดง การรถไฟฯ ได้สำรวจผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ในพื้นที่เมื่อปี 2550 พบว่า มีผู้ถือครองเอกสารสิทธ์ ใบแจ้งการครอบครองที่ดิน (สค.1) มากกว่า 35 ราย เอกสาร นส.3 ประมาณ 500 ราย เอกสารครอบครองที่ดินเป็นโฉนด และหน่วยงานราชการจำนวนหนึ่ง ปัจจุบันที่ดินแยกเขากระโดงมีข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์หลายราย ซึ่งการรถไฟฯดำเนินการอยู่

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ที่ดินดังกล่าวที่อ้างถึงเป็นที่ดินที่มีโฉนดเลขที่ 3466 มีการซื้อขายกันมาจนออกเป็นโฉนด มีการชี้แนวเขตโดยวิศวกรการรถไฟ และมีประชาชนอยู่ในที่ดินบริเวณดังกล่าวมานาน ขนาดที่ว่า เราเกิดกันไม่ทัน ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ดำเนินการและสั่งการให้ยึดหลักธรรมภิบาล คุณธรรม โปร่งใสตรวจสอบได้ ไม่เคยแทรกแซง สั่งการใดๆ ในที่ดินดังกล่าว ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่า คนใกล้ชิด หรือไม่ใกล้ชิด ต้องยึดหลักภายใต้หลักกฎหมาย

แต่ในทางปฏิบัติต้องยอมรับว่า จนบัดป่านนี้ การรภไฟ ไม่มีการดำเนินการใดๆ ต่อที่ดิน 2 แปลง ที่เป็นข้อพิพาทในการรุกที่ดินรถไฟฯ หลายคนอาจมองภาพไม่เห็นว่า ข้อพิพาทในการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินรถไฟเป็นเช่นไร...

          ++                           

 

ผมพามาดูคดีพิพาทเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเกี่ยวพันกับคนในครอบครัวตระกูลชิดชอบ ผ่าน 2 เหตุการณ์

เหตุการณ์แรก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2554 ป.ป.ช.พิจารณาคดีบุกรุกที่สาธารณะเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ป.ป.ช.ชี้มูลว่ามีความผิดฐานสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่รัฐออก น.ส.3 ก.โดยมิชอบ แต่ไม่มีอำนาจเอาผิด เพราะคดีหมดอายุความ...

คดีนี้ นายอภินันทน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เลขาธิการ ป.ป.ช.ในช่วงนั้น ระบุว่า ที่ประชุมป.ป.ช.ได้พิจารณากรณีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดิน จ.บุรีรัมย์ ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 และ น.ส.3 ก. ในท้องที่ ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ทับที่สาธารณประโยชน์ “ทำเลเลี้ยงสัตว์โคกเขากระโดง” ให้แก่ นายเนวิน ชิดชอบ โดยมิชอบ

โดยจากการตรวจสอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2952 - 2964 ต.อิสาณ จำนวน13 แปลง ที่ออกให้ นายเนวิน ชิดชอบ เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2537 วันที่ 2 และวันที่ 17 พ.ย.2537 พบว่า น.ส. 3 ก. เลขที่ 2958 และ 2959 เป็นการออกโดยรังวัดเปลี่ยนมาจาก น.ส. 3 เลขที่ 239/192 และ 301/239 ซึ่งเป็น น.ส. 3 ที่ออกโดยคลาดเคลื่อน ไม่เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2515

อีกทั้ง น.ส. 3 ก เลขที่ 2958 ยังออกทับที่สาธารณประโยชน์ทำเลเลี้ยงสัตว์โคกเขากระโดงด้วย จึงเป็นการออกโดยมิชอบ ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่งที่วันที่ 13 ก.พ. 2552 ให้เพิกถอน น.ส. 3 ก. ดังกล่าวแล้ว

ส่วน นายชาญชัย เธียรวรรณ เจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดิน 5 ผู้ทำการรังวัดเปลี่ยน น.ส. 3 เป็น น.ส. 3 ก. เลขที่ 2958 , 2959 นั้น ที่ประชุม ป.ป.ช.เห็นว่า มีความผิดวินัยร้ายแรงในการออก น.ส.3 ก รุกล้ำที่สาธารณประโยชน์ ทำให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง แต่ไม่สามารถเอาผิดทางอาญาได้ เนื่องจาก น.ส. 3 ก. เลขที่ 2958 ออกตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 2537 แต่ความผิดทางอาญา ตามมาตรา 157 มีอายุความ 15 ปี คดีนี้ จึงขาดอายุความแล้ว

วันเดียวกัน นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ในส่วนของ นายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งเป็นผู้ขอรังวัดเปลี่ยน น.ส.3 เป็น น.ส.3 ก. เลขที่ 2958 ป.ป.ช.เห็นว่า มีมูลเป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 แต่คดีขาดอายุความแล้วเช่นกัน เนื่องจากกรณีการเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิด จะมีอายุความแค่ 10 ปี ซึ่งคดีนี้ ป.ป.ช.ได้รับเรื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อวันที่ 18 ก.ย.2550 แต่มีการออก น.ส.3 ก.ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.2537 กว่าเรื่องจะมาถึงป.ป.ช. คดีจึงขาดอายุความไปแล้ว 3 ปี จึงไม่สามารถเอาผิดได้...

           ++                          

 

++

เหตุการณ์ที่สองเกิดขึ้นเมื่อเวลา 13.30 น. ของวันที่ 10 ก.ค. 2555 ที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อ.522/2550 ที่ นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย และ นายชัย ชิดชอบ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร มอบหมายให้ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคภูมิใจไทย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา และละเมิด เรียกค่าเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 , 328

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 28-29 ม.ค. 2550 นายอลงกรณ์ แถลงข่าวและแจกจ่ายเอกสารต่อสื่อมวลชนว่า นายเนวิน และ นายชัย เป็นนักการเมืองผู้มีอิทธิพลในจังหวัดบุรีรัมย์ บุกรุกที่ดินของการรถไฟฯ ที่ ต.เขากระโดง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ รวม 2 แปลง จำนวนกว่า 44 ไร่ โดยใช้อิทธิพลความเป็นนักการเมืองให้ออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แล้วนำที่ดินไปจำนอง กับสหธนาคาร และธนาคารกรุงไทยกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงเกินจริง ทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ มีนายเนวิน และ นายศุภชัย เบิกความในทำนองเดียวกันว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงออกโฉนดถูกต้องตามระเบียบของกรมที่ดิน และมีผู้รับมอบอำนาจจากการรถไฟฯ มาระวังแนวเขต ทั้งยังสามารถอธิบายความเป็นมาของการออกโฉนดที่ดินทั้งสองแปลง โดยมีหลักฐานยืนยันประกอบการเบิกความว่า ที่ดินทั้งสองแปลง นางกรุณา ชิดชอบ ภรรยาของ นายเนวิน ซื้อมาจากนายประสิทธิ์ ตั้งศรีเกียรติกุล

และสำนักงานที่ดินจังหวัดมีหนังสือ ลงวันที่ 11 มี.ค. 2552 ซึ่งมีความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนว่า ที่ดินทั้งสองแปลงไม่ได้ออกทับที่ดินของการรถไฟฯ จึงมีมติไม่ควรเพิกถอนที่ดินทั้งสองแปลง ที่นายเนวิน ยอมรับว่า ก่อนที่นางกรุณา จะซื้อที่ดินนั้นนายเนวิน รู้อยู่แล้วว่า มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวง จากนครราชสีมา ถึง อุบลราชธานี ซึ่งเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยว่า ก่อนการแถลงข่าว จำเลยได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเอกสารของการรถไฟฯ กรมที่ดิน และเอกสารของ กมธ.พิจารณาสอบสวนและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตของวุฒิสภาแล้ว

จำเลยยังได้ตรวจสอบบัญชีรายชื่อผู้มีเอกสารสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟทางแยกเขากระโดง ที่ระบุว่า นายชัย ชิดชอบ บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ และ นางละออง ชิดชอบ เป็นผู้ครอบครองที่ดิน รวมทั้งระบุด้วยว่า นายเนวิน ขออาศัยที่ดินของการรถไฟฯ และการรถไฟฯ ยินยอมให้อาศัย

จึงเห็นได้ว่า พฤติการณ์แห่งคดีเกี่ยวกับออกโฉนดที่ดินพิพาทยังเป็นกรณีที่พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสอง และพยานหลักฐานของจำเลยยืนยันในทางตรงกันข้ามว่า การออกโฉนดที่ดินเป็นไปโดยชอบหรือไม่ กรณีจึงมีเหตุให้จำเลยเข้าใจว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นของการรถไฟฯ และหลังจากการแถลงข่าวจำเลยมีหนังสือถึง พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ประธาน กมธ.คมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนั้น เพื่อให้ตรวจสอบการครอบครองที่ดิน

จึงเห็นได้ว่า ก่อนการแถลงข่าวจำเลยได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเป็นลำดับขั้นตอน สามารถชี้แจงที่มาที่ไปของเอกสารหลักฐาน รวมทั้งยังอธิบายข้อเท็จจริงในเรื่องที่ได้สืบสวนมาที่ไม่ใช่การแถลงข่าวอย่างปัจจุบันทันด่วน หรือการกล่าวอ้างลอย ๆ ปราศจากพยานหลักฐาน แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่า จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่า มีมูลความจริงตามที่จำเลยแถลงข่าวโดยไม่มีเจตนาใส่ความโจทก์ทั้งสอง

แม้ข้อความที่แถลงข่าวอาจเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสอง แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นนักการเมืองเคยดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง รวมทั้งเสนอตัวต่อประชาชนให้เลือกเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. ก็แสดงว่า ตนเองเป็นคนดี มีความซื่อสัตย์สุจริตไว้วางใจให้เข้าไปบริหารกิจการแทนประชาชน  

ดังนั้น เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องถูกตรวจสอบความถูกต้องของการปฏิบัติงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ การที่จำเลยแถลงข่าวกรณีดังกล่าว จึงมีความชอบธรรมที่จะเปิดเผยให้ประชาชนทราบเพื่อป้องกันการมีส่วนได้ส่วนเสีย อันเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 (1) และ (3) จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท พิพากษายกฟ้อง...

นับตั้งแต่นั้นมาข้อพิพาทเรื่องที่ดินรถไฟฯ เป็นจุดที่มืดดำจนปัจจุบันนี้ และสว่างวาบเป็นสปอร์ตไลต์ขึ้นมาอีกครั้งเมื่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ยกมาอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ศักดิ์สยาม ชิดชอบ และส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ใช้จิตวิญญาณของ ส.ส.งดออกเสียงไว้วางใจ...

คุณคิดอย่างไรก็เรื่องของคุณละครับ ผมนำมาบันทึกให้รู้เรื่องกันเท่านั้นครับ!

                 “ชิดชอบ”กับที่ดินเขากระโดง ครอบครองถูกต้อง-บุกรุก?!?                  

 

          ++