ผู้ปกครองฟ้องเพิกถอนระเบียบ นำรถเข้า-ออกมหาวิทยาลัย 

21 ก.พ. 2564 | 03:25 น.

เคยไหม...เวลาไปติดต่อทำธุระต่างๆ แล้วหาที่จอดรถไม่ได้ ต้องวนหาเสียเวลาอยู่นาน!

 

อุทาหรณ์

ปัญหาที่จอดรถในส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ถือเป็นเรื่องที่หลาย ๆ ท่านก็คงเคยประสบมา เนื่องเพราะที่จอดรถมีจำกัด จนบางครั้งอาจทำให้การติดต่อราชการหรือการทำธุระต่าง ๆ ต้องล่าช้าออกไป บางกรณีเมื่อได้ที่จอดรถแล้วก็อาจมีข้อกำหนดว่าให้จอดได้ไม่เกินกี่ชั่วโมง หรือต้องมีสัญลักษณ์/เครื่องหมาย/สติ๊กเกอร์เท่านั้น จึงจะจอดรถในบริเวณนั้นได้ หากฝ่าฝืนก็จะมีบทลงโทษ เช่น การล็อกล้อรถ การเสียค่าปรับ เป็นต้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดเป็นปัญหาขัดแย้งหรือกลายเป็นข้อพิพาทขึ้นได้  

กรณีหากผู้เข้าใช้สถานที่เห็นว่า กฎหรือระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการนำรถเข้า-ออก ของหน่วยงานของรัฐไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองได้หรือไม่? และภายในกำหนดเวลาใด? 

วันนี้มีอุทาหรณ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาฝากสำหรับท่านที่อาจประสบปัญหาข้างต้นครับ ! 

เหตุของคดีเกิดจาก ... นางชูใจซึ่งเป็นผู้ปกครองของนักเรียนที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่ง  ซึ่งเวลาเข้ามาที่มหาวิทยาลัยดังกล่าวปกติก็จะนำรถไปจอดบริเวณที่จอดรถที่คิดค่าบริการเป็นรายชั่วโมง แต่ในวันเกิดเหตุ (ประมาณต้นเดือนกันยายน 2561) บริเวณที่จอดรถเดิมได้มีการจัดกิจกรรมโดยมีร้านขายสินค้าต่าง ๆ จึงทำให้ไม่สามารถจอดรถได้ นางชูใจจึงขับรถยนต์เข้าไปจอดบริเวณข้างอาคารศูนย์เรียนรวมของมหาวิทยาลัย 

หลังจากจอดรถแล้ว...นางชูใจเห็นรถยนต์ที่จอดข้างเคียงถูกล็อคล้อเป็นจำนวนมาก จึงได้สอบถามนักเรียนบริเวณนั้นได้ความว่า มหาวิทยาลัยได้ออกประกาศลงวันที่ 13 มิถุนายน 2556 เรื่อง ระเบียบว่าด้วยการนำรถผ่านเข้าออกบริเวณมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ให้บริเวณดังกล่าวเป็นที่จอดรถสำหรับผู้มีสติ๊กเกอร์ของมหาวิทยาลัยเท่านั้น และห้ามมิให้จอดรถยนต์นอกเวลาราชการ หากฝ่าฝืนจะมีการล็อกล้อ ห้ามเคลื่อนย้าย และถูกบังคับให้เสียค่าปรับเป็นเงิน 500 บาท 

นางชูใจ เห็นว่า ประกาศของมหาวิทยาลัยข้างต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศของมหาวิทยาลัย (ผู้ถูกฟ้องคดี) ทั้งหมดหรือบางส่วน

คดีมีประเด็นที่น่าสนใจว่า นางชูใจเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนประกาศหรือระเบียบเกี่ยวกับการนำรถเข้าออกมหาวิทยาลัยหรือไม่? หากมีสิทธิจะต้องฟ้องคดีภายในกำหนดระยะเวลาใด?

ผู้ปกครองฟ้องเพิกถอนระเบียบ  นำรถเข้า-ออกมหาวิทยาลัย 

มาดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 3 กำหนดคำนิยาม “กฎ” หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด และมาตรา 49 กำหนดว่า การฟ้องคดีปกครองจะต้องยื่นฟ้องภายใน 90 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี

คดีนี้ ... ศาลปกครองสูงสุดท่านพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่มหา วิทยาลัยของรัฐซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองได้ออกประกาศ ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2556 เรื่อง ระเบียบว่าด้วยการนำรถผ่านเข้าออกบริเวณมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ 2)ฯ โดยข้อ 20 กำหนดว่า ผู้ที่นำรถเข้ามาในบริเวณมหาวิทยาลัยซึ่งไม่ปฏิบัติตามระเบียบหรือหลักเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด จะถูกดำเนินการ ดังนี้ 20.1 ตักเตือน หรือ 20.2 ล็อกล้อและปรับ 500 บาท/คัน/วัน หรือ 20.3 ไม่อนุญาตให้มีบัตรอนุญาตผ่านเข้าออกบริเวณมหาวิทยาลัย ถือเป็นกรณีที่หน่วยงานทางปกครองออกระเบียบกำหนดมาตรการการนำรถผ่านเข้าออก เพื่อใช้บังคับเป็นการทั่วไปกับบุคคลทุกคนที่ขับรถเข้าออกบริเวณมหาวิทยาลัย โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ และหากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกลงโทษตามที่กำหนดไว้ อันเป็นมาตรการที่มีผลกระทบต่อสิทธิของบุคคล ระเบียบดังกล่าวจึงมีสภาพเป็น “กฎ” ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ 

เมื่อนางชูใจฟ้องว่า การออกกฎดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน 

ผู้ปกครองฟ้องเพิกถอนระเบียบ  นำรถเข้า-ออกมหาวิทยาลัย 

เมื่อ นางชูใจ ซึ่งเป็นผู้ใช้รถผ่านเข้าออกมหาวิทยาลัยและต้องอยู่ภายใต้บังคับของระเบียบข้างต้น จึงถือเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหายที่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนระเบียบพิพาทได้ และเมื่อระเบียบพิพาทมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงถือว่าวันที่ นางชูใจ ได้รู้หรือควรรู้ว่ามีการออกระเบียบ คือ วันที่นางชูใจใช้รถยนต์ผ่านเข้าออกบริเวณมหาวิทยาลัยเมื่อต้นเดือนกันยายน 2561 การที่นางชูใจยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองในวันที่ 26 กันยายน 2561 จึงเป็นการยื่นฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รู้ หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ  

ศาลจึงมีคำสั่งรับคำฟ้องของ นางชูใจ ไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คร. 188/2562) ซึ่งสุดท้ายแล้วระเบียบดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คงต้องติดตามผลคำพิพากษาต่อไป

คดีนี้ จึงเป็นบรรทัดฐานการฟ้องเพิกถอนกฎ หรือระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่มีสภาพบังคับเป็น “กฎ” เช่น ระเบียบเกี่ยวกับการนำรถเข้าออกหน่วยงานของรัฐที่มีผลบังคับใช้กับทุกคนที่นำรถเข้ามาในบริเวณหน่วยงาน ซึ่งต้องยื่นฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี โดยหากกฎดังกล่าวมีการลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา หรือประกาศโดยวิธีการอื่นและมีผลใช้บังคับแล้ว จะถือว่าวันที่ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาหรือประกาศโดยวิธีการอื่นนั้น เป็นวันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี 

ส่วนกรณีที่กฎไม่ได้ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาหรือประกาศโดยวิธีการอื่น จะถือเอาวันที่ได้รู้หรือควรรู้ถึงกฎนั้นตามความเป็นจริง  ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีต้องเป็นผู้อยู่ภายใต้บังคับของกฎที่พิพาทด้วย จึงจะถือว่าเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันจะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่ ... สายด่วนศาลปกครอง 1355)

หน้า 6 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,655 วันที่ 21 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564