“ราคาปาล์มเท่าไร?” จึงโดนใจอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน

17 ก.พ. 2564 | 05:47 น.

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เขียนบทวิเคราะห์เรื่อง "ราคาปาล์มเท่าไร?" จึงโดนใจอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ดังนี้

“ราคาปาล์มเท่าไร?”   จึงโดนใจอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน

หากไปวิเคราะห์ราคาผลปาล์มสดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า มีความผันผวนทั้งเกิน 3 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) และต่ำกว่า 3 บาท กก.เมื่อราคาผลปาล์มสูงจะทำให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบสูงตามไปด้วย ซึ่งจะกระทบผู้บริโภคที่ต้องซื้อน้ำมันขวดแพงขึ้น และผู้ประกอบการมีต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น แต่เกษตรกรก็จะมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น

 

ที่ผ่านมานโยบายปาล์มของไทยทำอยู่ 2 เรื่องคือกำหนดราคาปาล์มสด (นำ CPO ส่งออกในปี 2560 นำ CPO ไปผลิตกระแสไฟฟ้าในปี 2561 นำไปผลิต B10 ในปี 2562 และควบคุมการนำเข้า ในปี 2554) ซึ่งนโยบายที่ผ่านมามีทั้งได้ผลและไม่ได้ผลต่อราคาผลปาล์ม

 

ที่เป็นแบบนี้เพราะ อุตสาหกรรมปาล์มไทยทั้งระบบเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมปาล์มของมาเลเซีย แม้ว่าการใช้นโยบายปาล์มน้ำมันของไทยต้องการเพื่อ “บริหารสต๊อกน้ำมันปาล์ม” เพราะถ้าสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 150,000 – 200,000 ตัน ราคาผลปาล์มจะขึ้นไปมากกว่า 3 บาท ต่อ กก. ถ้าเกินไปจากนี้ราคาปาล์มจะ “สวิงไปสวิงมา” หรือถ้าสต๊อกเพิ่มหรือลดลง 1 เปอร์เซ็นต์จะทำให้ ราคา FFB ลดลงหรือเพิ่มขึ้น 0.5 เปอร์เซ็นต์ (วิ่งสวนทางกัน)    และตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2563 เป็นต้นมา ราคาผลปาล์มสดไทยปรับตัวสูงขึ้นจาก 3 บาทต่อกก .เป็น 7 บาทต่อ กก. (ก.พ. 2564)

 

“ราคาปาล์มเท่าไร?”   จึงโดนใจอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน

 

สาเหตุที่ในขณะนี้ช่วงต้นปีราคาปรับตัวสูงขึ้นเพราะ “ผลผลิตช่วงต้นปีจะออกมาน้อยกว่าเดือนอื่น สต๊อกลดลง ผลผลิตของมาเลเซียออกน้อย เพราะขาดแรงงานในช่วงโควิด ผลผลิตช่วง 2 ปีที่ผ่านลดลงเพราะราคาตกเกษตกรจึงไม่บำรุงสวนปาล์ม ปัญหาภัยแล้ง รวมไปถึงการนำไปผลิตไบโอดีเซล บี 10 ตั้งแต่ต้นปี 2563”

 

อย่างไรก็ตาม การที่ราคาผลปาล์มดีขึ้นย่อมดีต่อเกษตรกร แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มต้นทุนในการผลิตให้กับผู้ประกอบการที่นำน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ไปแปรรูปต่อ ประเทศไทยหากต้องการให้ราคาผลปาล์มสดไม่ผันผวนไม่ควร “ผูกโยงเฉพาะไบโอดีเซลอย่างเดียว” ต้องส่งเสริมให้นำ CPO ไปผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันอย่างอื่น เมื่อเทียบระหว่างปี 2558 กับ 2562 พบว่าความต้องการใช้ CPO เพื่อในอุตสาหกรรมไบโอดีเซีลเพิ่มขึ้นจาก 36% เป็น 39% และผมคิดว่าปี 2563 น่าจะเพิ่มเกิน 40% ส่งผลทำให้การนำ CPO ไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ลดลง เหตุผลเพราะไม่มีแรงจูงใจให้ไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ปาล์มที่มีความต้องการสูงในปัจจุบันและอนาคตคือ ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว (Personal Care)  อาหาร และเครื่องสำอาง  

 

“ราคาปาล์มเท่าไร?”   จึงโดนใจอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน

 

ในงานวิจัยปาล์มน้ำมันเรื่อง “การวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมปาล์มของไทยและมาเลเซียเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมโอลิโอเคมิคัลที่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตของเกษตรกร” ที่ผมได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก “สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก” และเป็นงานวิจัย “ชิ้นเดียว” ที่ได้รับการคัดเลือกจากกลุ่มวิจัยปาล์มน้ำมันให้จัดเวทีสัมมนาเผยแพร่สู่สาธารณะภายใต้หัวข้อ “ข้อเสนอเชิงนโยบายเกษตร (Agriculture Policy Brief)”

 

ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตปาล์มน้ำมันรายเล็กที่สุดของ 1 ใน 3 ประเทศผู้ผลิตปาล์มน้ำมันของโลก เช่นในปี 2561 ไทยมีพื้นที่ให้ผลผลิต 5.8 ล้านไร่ มาเลเซีย 32 ล้านไร่ และอินโดนีเซีย 89 ล้านไร่ และไทยสามารถผลิตน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) 2.7 ล้านตัน มาเลเซีย 19 ล้านตัน อินโดนีเซีย 40 ล้านตัน  ในงานวิจัยที่ผมทำชิ้นนี้ก็เพื่อต้องการตอบคำถามว่า “ราคาผลปาล์มสดที่เท่าไรที่อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันไทยสามารถเกิดขึ้นได้”  

 

“ราคาปาล์มเท่าไร?”   จึงโดนใจอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน

ผมได้วิเคราะห์ว่าถ้าธุรกิจไบโอดีเซล แฟตตี้แอลกอฮอล์และสารหล่อลื่นชีวภาพ จะเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งวิเคราะห์ร่วมกันระหว่างเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์ม (OER) กับกำไรของธุรกิจ งานวิจัยพบว่าธุรกิจไบโอดีเซลที่สามารถซื้อผลปาล์มได้ราคาอยู่ระหว่าง 2.27 ถึง 3.44 บาทต่อกก. ส่วนธุรกิจสารหล่อลื่นชีวภาพสามารถซื้อผลปาล์มได้ราคาอยู่ระหว่าง 2.0 ถึง 6.30 บาทต่อ กก. และธุรกิจแฟตตี้แอลกอฮอล์สามารถซื้อผลปาล์มได้ราคาอยู่ระหว่าง 2.81 กับ 4.97 บาทต่อ กก. จะเห็นได้ว่าราคาผลปาล์มสดที่ 2 บาทต่อ กก. เกษตรกรอาจจะไม่ต้องการ อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรสามารถเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้สูงขึ้นก็สามารถอยู่ได้ เพราะถ้าเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงกว่า 3 ตันต่อไร่ ต้นทุนในการผลิตจะลดลงต่ำกว่า 3 บาทต่อกก.

 

สำหรับข้อเสนอแนะในงานวิจัยชี้นนี้คือ 1.หลุดกับดักเลข 3 หมายความว่าต้องเพิ่มผลผลิตต่อไร่เกิน 3 ตันต่อไร่และลดต้นทุนให้ต่ำกว่า 3 บาทต่อ กก. 2.ผลักดัน CPO ไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากอุตสาหกรรมไบโอดีเซล 3. Fast Lane นำเข้า สำหรับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันเท่านั้น เพราะในช่วงที่ผลผลิตในประเทศไทยขาดแคลน CPO ในฐานะวัตถุดิบจะไม่เพียงพอต่ออุตสาหกรรม 4.มาตรฐาน RSPO กำหนดเป็นดัชนีชี้วัดว่าสวนปาล์มไทยต้องได้มาตรฐาน RSPO และ 5.เครื่องมือวัด OER ที่เป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย

 

“ราคาปาล์มเท่าไร?”   จึงโดนใจอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ประกันรายได้เกษตรกร" ชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 64 เช็กมติครม.ได้ที่นี่

“พาณิชย์”ขอผู้ผลิต ผู้ค้าส่ง-ปลีก ตรึงราคาปาล์มขวด

“โจรลักปาล์ม” อาละวาด หลังราคาพุ่ง

ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ หยุดกิจการชั่วคราว ขาดสภาพคล่อง

“สนธิรัตน์”ปลื้มB10ดันราคาปาล์มน้ำมันพุ่ง