หนี้ครัวเรือนจีนสูง เทียบประเทศตะวันตก แต่ยังไม่เสี่ยง

17 ก.พ. 2564 | 07:00 น.

หนี้ครัวเรือนจีนสูง เทียบประเทศตะวันตก แต่ยังไม่เสี่ยง : คอลัมน์ลวดลายมังกร โดย... มาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,654 หน้า 4 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ 2564

หนี้ครัวเรือนในประเทศจีนมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่เมื่อพิจารณาว่าหนี้ครัวเรือนส่วนมากของจีนเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย และระดับการออม ตลอดจนระดับการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยที่สูงกว่าชาวตะวันตกแล้ว ประเทศจีนน่าจะเป็นประเทศที่สามารถรองรับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่ามาตรฐานตะวันตกได้ 

ดังนั้น สัดส่วนหนี้ครัวเรือนปัจจุบันที่ราว 60% ถือว่าไม่สูงจนเป็นความเสี่ยงในเชิงระบบ และหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนี้ กำลังเป็นตัวเร่งสำคัญของแนวโน้มการบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ประเทศจีนกำลังก้าวจากประเทศที่มีการออมสูงไปสู่ประเทศที่เป็นหนี้สูงในระยะยาว

หนี้ภาคครัวเรือนสูงแต่ยังสูงได้อีก - หนี้ครัวเรือนในประเทศจีนมีแนวโน้มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในปีที่แล้วภายใต้วิกฤตโควิด-19 จนกลายเป็นความกังวลถึงความเสี่ยงในเชิงระบบ ความกังวลดังกล่าวได้ทวีคูณเมื่อ Ant Group ซึ่งมีธุรกิจหลักเป็นการให้สินเชื่อเพื่อการบริโภค ถูกสั่งระงับการขายหุ้น IPO และหลังจากนั้นรัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อกระชับธุรกิจสินเชื่อเพื่อการบริโภคผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น

เร็วๆ นี้ ธนาคารกลางของจีนหรือ People Bank of China (PBC) ได้อธิบายในรายงานนโยบายการเงินประจำไตรมาส 4/2020 ถึงความเสี่ยงเรื่องนี้ว่ายังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ถึงแม้ระดับหนี้ครัวเรือนของจีนทะยานขึ้นไปถึง 59.1% ต่อ GDP ในครึ่งปีแรกของปี 2020 แล้วก็ตาม ซึ่งเป็นระดับใกล้ๆ กับญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศยูโร (ประเทศไทยอยู่ที่กว่า 80% และสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ประมาณ 70%) แต่เมื่อพิจารณาว่าในหนี้จำนวนนี้มีประมาณ 20% เป็นหนี้ครัวเรือนที่กู้โดยผู้ประกอบการขนาดย่อมซึ่งธนาคาร PBC มองว่ามีความสามารถในการชำระคืนรองรับอยู่ หากแยกหนี้ส่วนนี้ออกแล้ว ระดับหนี้ครัวเรือนที่แท้จริงควรจะกลับมาอยู่ที่ประมาณ 46% ซึ่งเป็นระดับที่ไม่สูง 

ทำไมจีนสามารถมีระดับหนี้ครัวเรือนได้สูงกว่าประเทศตะวันตก- อันที่จริงแล้ว ผู้เขียนคิดว่าประเทศจีนน่าจะสามารถรองรับระดับหนี้ครัวเรือนโดยรวมได้สูงกว่าประเทศตะวันตกโดยทั่วไป 

 

ประการแรกธนาคาร PBC ได้ตีพิมพ์ผลสำรวจกว่า 31,000 ครัวเรือนกระจายตาม 30 มณฑลทั่วประเทศเมื่อกลางปีที่แล้ว พบว่าประมาณ 3 ใน 4 ของหนี้ครัวเรือนเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยผ่านระบบธนาคาร ตราบใดที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ในจีนไม่ตก และก็ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะตก หนี้ส่วนนี้มีความเสี่ยงต่ำ โดยดอกเบี้ยเงินกู้ผ่อนบ้านในจีนที่สูงถึง 4-5% ก็พอบอกได้ในตัวเองว่าความต้องการซื้อบ้านของคนจีนยังไม่ถดถอยเท่าไร ดังนั้น หนี้เพื่อการบริโภคแบบไม่มีหลักประกันผ่านช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ยังเป็นสัดส่วนที่น้อย 

ประการที่สอง ระดับการออมและระดับการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยของชาวจีนถือว่าสูงมาก รายงานผลสำรวจดังกล่าวของ PBC ระบุว่าในกลุ่มชาวจีนที่มีรายได้ต่ำสุด 20% (ของประชากร) มีอสังหาริมทรัพย์เป็นของตนเองถึง 89% เทียบกับเพียง 33% ของชาวอเมริกัน และแน่นอนกลุ่มชาวจีนที่มีรายได้สูงสุดร้อยละ 10% (ของประชากร) ย่อมมีอสังหาริมทรัพย์เกินกว่า 100% คือมีมากกว่า 1 แห่ง นั่นก็แปลว่าระดับ leverage ของครัวเรือนจีนโดยรวมยังไม่สูงนัก เพราะมีสินทรัพย์ที่จับต้องได้และมีราคามั่นคงรองรับสูง 

 

หนี้ครัวเรือนจีนสูง เทียบประเทศตะวันตก แต่ยังไม่เสี่ยง

 

หนี้เพื่อการบริโภคกำลังเป็นตัวเร่งการบริโภคที่สำคัญ – รัฐบาลจีนกำหนดให้การบริโภคเป็นตัวนำสำคัญในการฟื้นตัวจากโควิด-19 ในระยะสั้น และเป็นตัวปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในระยะยาว เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มที่ผ่านมา สัดส่วนของการบริโภคใน GDP ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากต่ำกว่า 50% ก่อนปี 2010 มาสู่ระดับ 55% ในปี 2016 แต่ทรงๆ ในระดับนี้มาจนถึงปี 2019 

 

ดังนั้น เมื่อเทียบกับประเทศตะวันตกที่มีสัดส่วนการบริโภคสูงถึง 70-80% แล้ว การบริโภคของชาวจีนมีโอกาสที่เพิ่มขึ้นได้อีกมาก และตัวเร่งหนึ่งคือการเพิ่มระดับหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะจากผู้บริโภคที่มีเป็นคนรุ่นหนุ่มสาวอายุ 25-35 ที่เป็นกลุ่มที่ก่อหนี้เพิ่มขึ้นมากที่สุด 

การที่รัฐบาลจีนเข้ามาควบคุมกำหนดกฎเกณฑ์ของธุรกิจสินเชื่อเพื่อการบริโภคให้เข้มมากขึ้น ก็เพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคง และเป็นการลดความร้อนแรงในกลุ่มเสี่ยง แต่สินเชื่อเพื่อการบริโภคของจีนมีแนวโน้มสูงขึ้นได้อีกมากอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ความต้องการในสินค้าอุปโภคที่มีคุณภาพและราคาสูงจะยังคงอยู่ในระดับที่เพิ่มขึ้นต่อไป

 

หมายเหตุ :  ความเห็นในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่ผู้เขียนสังกัดอยู่แต่อย่างใด ผู้อ่านสามารถแสดงความเห็นได้ที่ facebook: manop sangiambut

 

เกี่ยวกับผู้เขียน :  นายมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ มีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนและการเงินในประเทศจีนกว่า 15 ปี ในอดีตเคยเป็นหัวหน้านักวิเคราะห์หุ้นจีน เอ แชร์ และข้าราชการกระทรวงการคลัง จบการศึกษาปริญญาตรีด้านสาระสนเทศการบัญชี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญโท MBA จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลล่อน สหรัฐอเมริกา