10 เมืองเจ๋งสุดในแดนมังกร (2)

13 ก.พ. 2564 | 01:30 น.

คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,653 หน้า 5 วันที่ 14 - 17 กุมภาพันธ์ 2564

 

อันดับ 8 เฉิงตู

เมืองเอกของมณฑลเสฉวน ซึ่งตั้งอยู่ในด้านซีกตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ถือเป็น 1 ใน 3 เมืองที่มีประชากรมากที่สุดในด้านซีกตะวันตก รองจากฉงชิ่งและซีอาน

เฉิงตูเป็นดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ ทั้งในด้านการทหาร สังคมวัฒนธรรม และศาสนาความเชื่อ ในนวนิยายอมตะ “สามก๊ก” พื้นที่แถบนี้เป็นดินแดนของเล่า ปี่ ขณะที่ในช่วงสงครามสำคัญในอดีต ก็นิยมใช้เมืองนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์หลัก 

นอกจากนี้ เฉิงตูเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การเงิน การพาณิชย์ วิทยาศาสตร์ และการขนส่งและสื่อสารในด้านซีกตะวันตกของจีน อุตสาหกรรมหลักในเมืองนี้ครอบคลุมตั้งแต่เครื่องจักรกล ยานยนต์ อาหารและยา และเทคโนโลยีสารสนเทศ

เฉิงตูยังเป็นแหล่งปลูกไผ่ที่อุดมสมบูรณ์ และมีศูนย์เพาะเลี้ยงหมีแพนด้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่โครงการดวงจันทร์เทียมที่กำลังโด่งดังในปัจจุบันก็จะเริ่มทดลองใช้แห่งแรกในเมืองนี้

Chengdu Shuangliu International Airport เป็นสนามบินหลักของเมืองนี้ และมีความสำคัญยิ่งในภูมิภาค สายการบิน Air China และ Sichuan Airlines ใช้เฉิงตูเป็นฮับ ขณะที่สถานีรถไฟเฉิงตูก็เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคที่มีความสำคัญเป็นอันดับที่ 6 ของจีน 

นอกจากนี้ เฉิงตูยังมีสวนอุตสาหกรรมไฮเทคหลายแห่ง ขณะที่บริษัทชั้นนำของทั้งจีนและเทศราว 300 รายจากฟอร์จูน 500 ก็ได้เข้าไปลงทุนในเฉิงตูกันแล้ว 

ในปี 2021 เฉิงตูจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก โดยในชั้นนี้ได้กำหนดช่วงเวลาของการจัดงานไว้ในระหว่าง 18-29 สิงหาคม ซึ่งนับว่าท้าทายมาก เพราะไม่รู้ว่าถึงช่วงเวลานั้นแล้ว สถานการณ์โควิด-19 จะทุเลาลงขนาดไหน และจะต้องปรับแผนหรือไม่ อย่างไร

 

อันดับ 7 ซูโจว

มีประชากรกว่า 10 ล้านคน และเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญสุดของมณฑลเจียงซู โดยมีจุดเด่นในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล็กและเหล็กกล้า ไอที อิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอ 

ในราวปี 2000 รัฐบาลจีนได้ผลักดัน ให้จัดตั้งสวนอุตสาหกรรมซูโจวโดยเป็นการร่วมลงทุนระหว่างจีนและสิงคโปร์ขึ้น กลายเป็นต้นแบบของการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทันสมัยที่จีนร่วมมือกับต่างชาติ 

ด้วยโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบวงจรและสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนที่พร้อมสรรพ ตลอดจนบริการที่เป็นมืออาชีพ สวนอุตสาหกรรมซูโจวสามารถดึงดูดการลงทุนของกิจการชั้นนำจากทั่วโลกได้อย่างเป็นลํ่าเป็นสัน โดยเฉพาะในอุตสาหากรรมยา อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ การเงินการธนาคาร ลอจิสติกส์ การศึกษา และการวิจัย

การเกิดขึ้นของสวนอุตสาหกรรมซูโจวเมื่อราว 20 ปีก่อนทำให้ซูโจวเป็นหนึ่งในแกนหลักด้านการผลิตและบริการยุคใหม่ของจีนในปัจจุบัน 

เมืองนี้ยังมีภาคบริการที่ใหญ่ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ซูโจวมีสถานที่ท่องเที่ยวที่ธรรมชาติให้มาและที่มนุษย์สร้างขึ้นที่น่าสนใจยิ่ง 

ซูโจวเป็นเมืองโบราณที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดเมืองหนึ่งของลุ่มแม่นํ้าแยงซีเกียง โดยมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2,500 ปี จีนมีคำกล่าวโบราณว่า “บนฟ้ามีสวรรค์ ใต้ฟ้ามีซูหัง” ซึ่งหมายถึงเมืองซูโจวและหังโจวที่มีความสวยงามและอุดมสมบูรณ์ราวกับเป็นสวรรค์ 

 

10 เมืองเจ๋งสุดในแดนมังกร (2)

 

ในอดีต ซูโจวมีสวนส่วนตัวเป็นจำนวนมาก สวนซูโจวเป็นตัวแทนของสวนแบบจีนคล้ายกับแนวคิด “เซน” (Zen) ของสวนญี่ปุ่น เพียงแต่สวนซูโจวพยายามถ่าย ทอดความสมบูรณ์แบบที่ถอดแบบออกมาจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะผ่านต้นมอส ต้นไม้ ก้อนหิน และบ่อนํ้าเอาไว้

จากหลักฐานโบราณพบว่า เมืองซูโจวเคยมีอุทยานส่วนตัวมากกว่า 200 แห่ง และจนถึงปัจจุบันก็ยังคงมีอุทยานโบราณที่ยังคงเก็บรักษาไว้ในสภาพที่ดีสืบทอดมาถึงลูกหลานจนกลายเป็นมรดกของชาติถึง 69 แห่ง ในจํานวนนี้ มีสวนอยู่ 9 แห่งเป็นมรดกโลกที่องค์การยูเนสโกคัดสรรไว้  

บ้างก็กล่าวขวัญถึงความเป็นเมืองนํ้าของเมืองซูโจวจนขนานนามว่าเป็น “เวนิสตะวันออก” เป็นเมืองนํ้า สะพานที่ทอด ข้ามคลองเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสะพานหิน มีเสน่ห์ชวนหลงใหลไปอีกแบบหนึ่ง 

ทั้งนี้ เมืองนี้มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก อาทิ อุทยานโบราณซูโจว และเขาเนินเสือที่มีเจดีย์ทรง 8 เหลี่ยมก่อด้วยอิฐและไม้ที่เอียงคล้ายกับหอเอนปิซาของอิตาลี ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ ผู้คนนิยมเรียกเจดีย์แห่งนี้ว่า หอเอนแห่งเมืองจีน และถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของซูโจวในเวลาต่อมา

ซูโจวอยู่ห่างเซี่ยงไฮ้ไปทางทิศ ตะวันตกเฉียงเหนือราว 100 กิโลเมตร แต่ด้วยการพัฒนาชุมชนเมือง และโครงข่ายถนนและรถไฟความเร็วสูงที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วทำให้เมืองใหญ่ในย่านนั้นกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน การเดินทางโดยรถยนต์ระหว่างซูโจวกับเซี่ยงไฮ้ที่เคยใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงเมื่อ 15 ปีก่อนถูกลดเหลือเพียง 45 นาทีโดยรถไฟความเร็วสูงในปัจจุบัน!

 

อันดับ 6 ฮ่องกง

เกือบ 100 ปีที่ฮ่องกงอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ทำให้ระบบเศรษฐกิจกฎหมาย วัฒนธรรมและสังคมมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกงมีจุดเด่นในการเป็นศูนย์กลางด้านการค้า การเงิน และลอจิสติกส์ระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ 

จีนได้รับคืนฮ่องกงเมื่อปี 1997 และเริ่มดำเนินนโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” โดยให้ฮ่องกงเป็นเขตบริหารพิเศษที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง และให้สิทธิในการปกครองตนเองอย่างเป็นอิสระ สามารถดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ การค้า และการเงินได้ตามระบบเสรี 

ฮ่องกงเป็นเมืองที่มีความผสมผสานระหว่างความเก่าแก่และความทันสมัยในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และวิถีชีวิตในยุคหลัง ฮ่องกงเต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ร้านอาหารอร่อย แหล่งช้อปปิ้งปลอดอากร และอื่นๆ ทั่วเกาะ

ในปี 2020 ฮ่องกงถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองวัฒนธรรมอันดับที่ 15 ของโลก ด้วยเสน่ห์ดังกล่าวทำให้ฮ่องกงกลายเป็นสถานที่กิน เที่ยว และช้อปปิ้งที่คนจากทั่วโลกรวมทั้งไทยนิยมไปเยือน

ในด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลจีนได้เปิดแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่เกรตเทอร์เบย์ (Greater Bay Area) เป็นระเบียงเศรษฐกิจใหญ่แบบบูรณาการ ซึ่งครอบคลุมมณฑลกวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊า เป็นครั้งแรกในแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 13 เมื่อปลายปี 2016 โดยถูกวางแผนพัฒนาเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม การเงินระหว่างประเทศ และต้นแบบด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก 

ความเป็นอัจฉริยะของฮ่องกงที่รุดหน้าไปก่อนเมืองอื่นในพื้นที่ถูกใช้เป็นต้นแบบของการพัฒนาในหลายส่วน โดยฮ่องกงถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางด้านการเงิน และการค้าระหว่างประเทศใน และนำไปสู่การลงทุนก่อสร้างหลายโครงการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อย่างกว้างขวาง 

โครงข่ายถนนและรถไฟความเร็วสูงและปานกลางระหว่างเมืองใน GBA ถูกพัฒนาขึ้นอย่างกว้างขวาง และยังนำเอา MRT ของฮ่องกงมาเป็นต้นแบบในการพัฒนารถไฟใต้ดินและรถไฟลอยฟ้าในหลายเมืองอื่น 

ขณะที่ท่าเรือระหว่างประเทศและสนามบินนานาชาติฮ่องกง พร้อมธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องก็กลายเป็นต้นแบบในการพัฒนาเพื่อยกระดับความเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางนํ้าและอากาศในพื้นที่ 

นอกจากนี้ จีนยังลงทุนก่อสร้างสะพานและอุโมงค์เชื่อมโยงสองฝั่งแม่นํ้าไข่มุกและแม่นํ้าสายอื่นในจีนแผ่นดินใหญ่อย่างทั่วถึง รวมทั้งสะพานข้ามทะเลเชื่อมฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า ระยะทาง 55 กิโลเมตร ซึ่งนับว่ายาวที่สุดในโลกและเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อ 2 ปีก่อน

ภายใต้ความท้าทายในการพัฒนา GBA บนหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” รัฐบาลจีนพยายามปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง อาทิ การขนส่ง พิธีการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมืองและอัตราภาษี เพื่อลดความเหลื่อมลํ้าเป็นมาตรฐานเดียวกัน และเกิดความสะดวกและคล่องตัวภายในพื้นที่ 

เราจึงเห็นการผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อเปิดโอกาสให้หลายธุรกิจสามารถได้รับความสะดวกในการขยายความร่วมมือใน GBA เช่น กิจการโรงพยาบาล สถาบันการศึกษา ที่ปรึกษากฎหมาย บันเทิง และอื่นๆ สามารถนำใบอนุญาตที่ได้รับจากฮ่องกงไปเปิดกิจการในพื้นที่โดยไม่ต้องขออนุญาตใหม่ การคิดค่าบริการสื่อสารระหว่างฮ่องกงกับในพื้นที่ในอัตราภายในประเทศ และโควต้าป้ายทะเบียนข้ามพรมแดน 

สวนนวัตกรรมและเทคโนโลยีฮ่องกง-เซินเจิ้นนับเป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างเวทีความร่วมมือดังกล่าว นโยบายส่งเสริมการลงทุนในสวนนวัตกรรมฯ ซึ่งมาพร้อมกับการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายเงินทุน แรงงาน สินค้า ข้อมูล และอื่นๆ มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถเชื่อมโยงและขยายการลงทุนในพื้นที่ได้ อย่างรวดเร็ว 

ในทางการเมือง เดิมทีรัฐบาลจีนวางแผนให้ฮ่องกงดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีต่อไปจนถึงกลางปี 2047 แต่ผลจากปัญหาการชุมนุมทางการเมืองที่ลุกลามและบั่นทอนเศรษฐกิจในช่วงหลายปีหลังนี้ ทำให้เศรษฐกิจฮ่องกงชะลอตัวลงไปมาก จนรัฐบาลจีนต้องออกกฎหมายเพื่อคุมเข้มทางการเมือง

ก็ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดกันต่อไปว่าฮ่องกงจะดำรงสถานะของการเป็นศูนย์กลางการค้า การเงิน และลอจิสติกส์ระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ได้หรือไม่ อย่างไรในอนาคต 

ขอนำเอา 5 อันดับเมืองเจ๋งสุดในแดนมังกรไปต่อตอนหน้านะครับ... 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

10 เมืองเจ๋งสุดในแดนมังกร (1)