สำนึกและความรับผิดชอบของ คณะกก.สรรหากรรมการ กสทช.

02 ก.พ. 2564 | 10:42 น.

สำนึกและความรับผิดชอบของ คณะกก.สรรหากรรมการ กสทช. : คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน ฉบับ 3650 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 4-6 ก.พ.2564 โดย...ประพันธุ์ คูณมี

ว่าจะไม่เขียนถึงการสรรหา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ผ่านไปเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 ตามที่ปรากฎเป็นข่าวอื้อฉาวอยู่ในขณะนี้  เพราะเกรงจะมีคนครหาว่าผู้เขียนไปในทำนองค่อนแคะ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เพราะตนมีประโยชน์ได้เสีย ไม่ได้รับพิจารณาจากกรรมการสรรหาแล้วมาตีโพยตีพาย ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยของคนไทยบางจำพวก ที่มักจะไม่สนใจเนื้อหาสาระกันสักเท่าใด  

 

แต่เมื่อได้อ่านคำชี้แจงจาก คณะกรรมการสรรหากรรมการ กสทช. ที่ถูกสื่อมวลชน และสังคมต่างวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ถึงการทำงานของกรรมการสรรหา ในลักษณะที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไร้มาตรฐานในการพิจารณาและประเด็นอื่นๆ หลายประเด็น ตามที่ท่านออกเอกสารชี้แจงดังกล่าวแล้ว ก็ต้องขอพูดและแสดงความเห็นในเรื่องนี้ เพราะอ่านคำชี้แจงของกรรมการสรรหาดังกล่าวแล้ว แม้จะเคารพต่อความคิดเห็นของท่านเพียงใด ก็ไม่อาจเห็นด้วยอย่างยิ่งต่อคำชี้แจงดังกล่าว เพราะเห็นว่าฟังไม่ขึ้นและยังมิได้แสดงออกถึงความรับผิดชอบสักเท่าใด

           

ก่อนอื่นต้องเข้าใจหลักกฎหมายและที่มาของคณะกรรมการชุดนี้เสียก่อน คำชี้แจงที่อ้างว่า พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่2) พ.ศ.2560 มิได้กำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอนของการพิจารณาสรรหาคณะกรรมการ กสทช.ไว้เป็นการเฉพาะนั้น หาได้เป็นความจริงเช่นนั้นไม่ เพราะ พรบ.ดังกล่าว ได้กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนไว้โดยชัดเจน  

 

เริ่มตั้งแต่ส่วนที่ 1 องค์ประกอบ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะมารับการคัดเลือกเป็น กสทช. โดยเฉพาะมาตรา 6 และ 7 เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ประสงค์จะสมัครเป็น กรรมการ กสทช. ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายอย่างไร ผู้ไม่มีคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม ย่อมไม่มีสิทธิสมัครเพื่อเข้ารับการคัดเลือกตามกฎหมาย นี่คือคุณสมบัติพื้นฐานที่ผู้สมัครทุกคนต้องมีเหมือนกัน

 

ส่วนคุณสมบัติเฉพาะด้านก็มีกำหนดไว้เช่นกันในมาตรา 14/2 นี่คือหลักเกณฑ์และเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งมิได้ให้อำนาจกรรมการสรรหากำหนดเองหรือใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ หน้าที่กรรมการสรรหาจึงต้องรับสมัครจากบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเท่านั้น มิใช่ปล่อยให้คนที่ไม่มีคุณสมบัติตามกฎหมายสมัครเข้าสู่กระบวนการสรรหาอย่างไรก็ได้ โดยมิได้กลั่นกรองตรวจสอบ

ส่วนตัวคณะกรรมการสรรหาเอง ก็ได้รับการสรรหามาตามกฎหมาย มาตรา14 ของ พรบ.ดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายเช่นกัน ซึ่งครั้งนี้ประกอบด้วย 1.นายนภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานกรรมการสรรหา 2.พลเอกวิทวัส รชตะนันนท์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นรองประธานกรรมการสรรหา 3.นายธงชัย เสนามนตรี ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา กรรมการสรรหา 4.นายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช. กรรมการสรรหา 5.นายวีรยุทธ ปั้นน่วม กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการสรรหา 6.นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กรรมการสรรหา 7.นายวิษณุ วรัญญู รองประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ,เลขานุการและโฆษกคณะกรรมการสรรหา โดยมีสำนักเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งมีประสบการณ์เป็นอย่างดี ในการคัดเลือกและสรรหากรรมการองค์กรอิสระต่างๆ มาทำหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการให้  นี่ก็คือหลักเกณฑ์สำคัญในการคัดเลือก กสทช.

           

นอกจากนี้ ยังมีหลักเกณฑ์ขั้นตอนการคัดเลือกที่เริ่มตั้งแต่ การประกาศรับสมัครบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 6 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7 ให้ยื่นความจำนงค์สมัครอย่างน้อย 30 วัน ซึ่งครั้งนี้ก็ประกาศรับสมัครตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2563 กำหนดวันรับสมัครตั้งแต่วันที่ 14 -28 ตุลาคม 2563 กรรมการสรรหาต้องคัดเลือกให้ได้จำนวนสองเท่าของจำนวนกรรมการที่จะพึงมีในแต่ละด้านภายใน 30 วันนับแต่ได้รับรายชื่อผู้สมัครจากสำนักเลขาธิการวุฒิสภา ตามาตรา 15 แต่ในการคัดเลือกครั้งนี้ มีการประกาศให้ความเห็นชอบผลการพิจารณาคัดเลือกผู้สมควรเป็น กรรมการ กสทช. ทั้ง 7 ด้าน รวม 14 คน เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 รวมเวลาที่คณะกรรมการสรรหาใช้เวลาทำงานถึง 134 วัน (9 กย.63-21 มค.64)

           

กระบวนการขั้นตอนและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือก มีกำหนดไว้ในกฎหมายแล้ว โดยเฉพาะเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ถือเป็นหน้าที่โดยตรงของคณะกรรมการสรรหา ต้องมีหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบ กลั่นกรอง และพิจารณาโดยตรง การจะโบ้ยและโยนไปให้เป็นหน้าที่ของวุฒิสภา ซึ่งมีหน้าที่เพียงโหวตเลือกตามมาตรา 17 ที่ให้ลงมติเลือกบุคคลจากบัญชีรายชื่อที่เลขาธิการวุฒิสภาจัดทำเสนอพร้อมประวัติและเอกสารหลักฐานของบุคคลต่อประธานวุฒิสภา ตามที่กรรมการสรรหาคัดเลือกมา โดยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เท่านั้น  ซึ่งมิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของวุฒิสภาต้องไปตรวจสอบประวัติใดๆ อีกด้วยซ้ำไป  

 

การที่คณะกรรมการสรรหาปัดความรับผิดชอบในการตรวจสอบ กลั่นกรองคุณสมบัติของผู้สมัคร และมิหนำซ้ำถ้าปรากฎข้อเท็จจริงว่า มีการโหวตลงมติเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายเสียอีก ย่อมเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของกรรมการสรรหา ที่คณะกรรมการสรรหาพึงตระหนักเป็นอย่างยิ่ง คำชี้แจงในประเด็นนี้ของกรรมการสรรหาจึงยังฟังไม่ขึ้น และมิอาจหักล้างข้อกล่าวหาของสื่อและสังคมที่ติดตามตรวจสอบการทำงานของท่านแต่อย่างใด

           

ในประเด็นเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัครที่มีลักษณะต้องห้ามและขัดต่อกฎหมายนี้ ในคราวการสรรหากรรมการ กสทช.เมื่อปี 2561 ครั้งก่อน ที่มี นายวิษณุ วรัญญู เป็นกรรมการสรรหาและเลขานุการ ก็ได้มีการสรรหาตาม พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ 2553 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่2) พ.ศ.2560 เช่นเดียวกัน ได้มีการคัดเลือกและเสนอชื่อบุคคลที่ผ่านการสรรหาไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบ เมื่อคราวประชุมเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2561 ก็ปรากฎว่าถูกสภานิติบัญญัติโหวตคว่ำไม่รับรองไปทั้ง 14 คน ด้วยเหตุผลว่ามีผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามถึง 8 คน ทำให้กระบวนการสรรหาครั้งนั้นต้องสูญเปล่าเสียหาย นำมาซึ่งการสรรหาใหม่ในครั้งนี้  

แต่กรรมการสรรหาชุดนี้ ซึ่งมีเลขานุการคณะคนเดิมกับกรรมการชุดก่อน ก็ยังมิได้เก็บรับเป็นบทเรียน หรือแสดงสปิริตความรับผิดชอบต่อผลการทำงานของตนแต่อย่างใด ยังมีวิธีการทำงานแบบเดิมๆ ที่เคยล้มเหลวและก่อความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดินมาแล้ว ในการสรรหาครั้งนี้ก็มีแนวโน้มสูงที่จะสูญเปล่า สูญเสียเวลาในการปฎิบัติหน้าที่ราชการของเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องทุกคนอีกครั้ง

             

นอกจากความสูญเปล่าดังกล่าวแล้ว การทำงานของคณะกรรมการสรรหา ยังอาจถูกตำหนิและวิจารณ์ได้ว่าไม่มีมาตรฐานที่ดี ไม่เคารพและเคร่งครัดในระเบียบและกฎหมาย ไม่เคารพและไม่ให้เกียรติแก่ผู้สมัคร ที่มีคุณสมบัติโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้มีคุณวุฒิวัยวุฒิและประสบการณ์ที่เหมาะสมอันจะยังประโยชน์แก่ กสทช.แต่อย่างใด หากการสรรหาครั้งไม่ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาอีกครั้ง ย่อมกระทบต่อภาพลักษณ์ที่ดีของคณะกรรมการสรรหาให้เสียหายได้ และท่านคงเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้

           

เมื่อผลการสรรหาครั้งนี้ มีผลออกมาตามที่ปรากฎข้อเท็จจริงตามสื่อและสังคมโซเชียลเช่นนี้ ทั้งได้มีผู้โต้แย้ง ยื่นคำร้องคัดค้าน หรือกระทั่งกำลังจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ให้เพิกถอนประกาศและผลการพิจารณา จึงสมควรที่คณะกรรมการสรรหาจะได้ทบทวนตรวจสอบการทำงานของตนและรับฟังเสียงสะท้อนที่มีเหตุผล ว่ามีข้อเท็จจริงเช่นนั้นหรือไม่ โดยเฉพาะเลขานุการคณะกรรมการสรรหา ควรต้องแสดงความรับผิดชอบยิ่งกว่าใคร  

 

ส่วนคณะกรรมการท่าน อื่นๆ แม้จะได้รับความเห็นใจและเข้าใจ แต่ก็คงหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบยาก เว้นแต่ท่านจะได้แสดงสปิริตความรับผิดชอบในเรื่องนี้ในทางใดทางหนึ่งเสียก่อน หากวุฒิสภาลงมติโหวตคว่ำอีกครั้ง ก็จะกลายเป็นรอยด่างของการทำหน้าที่ของท่านติดตัวตลอดไป

 

หาทางแก้ไขก่อนสาย ดีกว่าดื้อดึงไปอย่างนี้จะดีกว่าครับ เพราะเรื่องสำนึกและความรับผิดชอบนั้น เป็นมโนธรรมขั้นสูงที่ผู้บริหารพึงมี อย่าให้เรื่องนี้กระทบต่อตำแหน่งหน้าที่และงานสำคัญอื่นๆ ของท่านเลย