แอพ “หมอไม่ชนะ” สะท้อนรัฐล้าหลัง

21 ม.ค. 2564 | 04:46 น.

แอพ “หมอไม่ชนะ” สะท้อนรัฐล้าหลัง : คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3646 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 21-23 มกราคม 2564 โดย...กาแฟขม

 

***หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับ 3646 ระหว่างวันที่ 21-23 มกราคม 2564 กาแฟขมประจำการ

*** อยู่ในวังวนของโรคระบาดไวรัสอันตรายโควิด-19 ไปไหนมาไหนต้องระวังระไว อยู่ในยุคที่ต้องใส่หน้ากากและยังคงอยู่ต่อไปอีกช่วงระยะเวลาใหญ่ๆ ก่อนที่จะมีวัคซีนออกมา พร้อมกับยาต้านไวรัสชนิดนี้ แต่การดำเนินชีวิตก็ต้องทำให้เป็นปกติวิสัย เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ ไม่ไปในสถานที่เสี่ยงโดยไม่จำเป็น

*** เกรียวกราวอื้ออึงทั่วทั้งพารา เมื่อทีมอาสาสมัครจากภาคเอกชน ผู้ร่วมพัฒนาแอพ “หมอชนะ” ประกาศถอนตัว ยกแอพหมอชนะให้ภาครัฐไปดำเนินการต่อทั้งหมด เรื่องของเรื่องไม่ได้ซับซ้อนอะไรมาก บอกได้เลยแนวคิดของรัฐ บุคลากร เจ้าหน้าที่รัฐ ตามไม่ทันเอกชนและคนรุ่นใหม่ ตามไม่ทันปล่อยให้เด็กทำแล้วสนับสนุนเด็กก็ไม่ว่า อย่าไปขวางเด็ก และต้องให้เกิดความโปร่งใส แอพถูกพัฒนาขึ้นมาพร้อมให้มีระบบแจ้งสถานะเตือน ผู้ใช้มีความเสี่ยงแค่ไหน เขียว เหลือง ส้ม แดง เวลาเข้าใกล้คนเสี่ยง แอพจะเด้งเตือน ผู้ใช้รู้ก็จะได้เลี่ยง กลายเป็นว่าหน่วยงานทางการกลับขอแก้สี ขอให้มีสีเดียวเป็นเขียวพรึดทั้งหมด เอาละวา แล้วอย่างนี้ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร จะโหลด “หมอชนะ” ไปทำอะไร ผู้ร่วมพัฒนาแอพบางรายเปรียบเทียบไว้เจ็บๆ คันๆ ถ้าเขียวทั้งแผ่นดินแล้วจะมีประโยชน์อะไรไม่ต่างจากแอพขยะ
 

*** ลอย ชุนพงษ์ทอง ผู้ทรงคุณวุฒิสหวิทยาการ แห่งราชบัณฑิตยสภา บอกว่า งานนี้เปรียบเหมือนเอกชนสร้างตึกให้ประชาชนใช้ แต่ยกให้รัฐบาลเป็นเจ้าของ ตอนนี้รัฐบาลอ้างกรรมสิทธิตามกฎหมายเป็นเจ้าของตึก มีอำนาจเหนือตึกที่รัฐไม่ได้สร้าง ไม่เคยเข้าตึก ไม่รู้ว่าห้องน้ำอยู่ตรงไหน บันไดมีกี่ขั้น จะให้ประชาชนใช้แต่ชั้นล่างเท่านั้น ไม่ให้ขึ้นชั้น 2 3 4 5 6 แสบสันต์ไหมละนาย ช่วยตอบให้ชัดหน่อยทั้ง กรมควบคุมโรค หรือ กระทรวงดีอีเอส อย่าให้ความตั้งใจดีของภาคเอกชนเขาสูญเปล่า

*** เรื่องวัคซีนโควิด-19 ก็เช่นกันทำให้เป็นมาตรฐานให้เชื่อถือได้ เตือนกันไว้แล้วอย่าให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านวัคซีน และต้องให้เกิดความโปร่งใสในการจัดหา และแจกจ่าย อำนาจในการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต จัดกลุ่ม จัดคน กลัวจริงๆ ประเทศนี้กับการใช้อำนาจของรัฐตามใจผู้ถือที่มักจะสายตาฝ้าฟาง โน้มเอียง ขาดความเที่ยงตรง จะไม่ยอมรับก็ลำบาก เป็นปัญหาเรื้อรังของโครงสร้างใหญ่ของประเทศมานาน แต่ไม่ควรเป็นชะตากรรมที่ทดท้อ ต้องช่วยกันตะโกนโหวกเหวกโวยวาย หากเห็นเรือรั่วต้องช่วยกันอุดช่วยกันพาย อย่าให้อัปปางกลางเกลียวคลื่น จะไม่รอดกันทั้งหมด ว่าแต่ว่า นายท้าย กัปตัน ก็ต้องฟังเสียงกะลาสีบ้าง
 

*** ต้องชื่นชมหญิงแกร่งของกระทรวงพาณิชย์อีกคน พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ตั้งใจทำงานวางรากฐานสำคัญ 3 เรื่อง ก่อนไปรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก(WTO) 3 เรื่องที่ว่าล้วนสำคัญต่อการค้าและเกษตรกรไทย ทั้งกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายการค้า (Strategy) เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าไทย อย่างสงครามการค้า โควิด-19 เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจภายในประเทศ วางฐานการสร้างระบบข้อมูลการค้าขนาดใหญ่ ให้ผู้บริหาร เกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก นักวิเคราะห์ ใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบายการค้าที่เหมาะสมผ่านแพลทฟอร์ม www.คิดค้า.com และระบบข้อมูล Big Data ภาคเกษตรภายใต้นโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” และอีกเรื่องเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) หรือการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาช่วยพัฒนาเกษตรกรและผู้ประกอบการ พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับโดยใช้บล็อกเชน (blockchain) ภายใต้ชื่อ TraceThai.com

*** วุ่นวายไม่จบ ความขัดแย้งระหว่างกทม.กับกระทรวงคมนาคม แต่กรรมตกอยู่กับคนกรุง เมื่อ กทม.จะเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 บาท ตลอดสายทาง เดิมทีคำนวณกันที่ 65 บาท ภายใต้การเจรจาสัญญากับเอกชนผู้เดินรถ ที่สมเหตุสมผล แต่กระทรวงคมนาคมกลับเดินหน้าขวาง จะเอาอย่างไรก็ทำเถิด แต่ 104 บาท ประชาชนรับไม่ไหว ใครจะตกลงกันไม่ได้ด้วยเรื่องเหตุปัจจัยอะไรๆ ก็ตามเถิด ใครจะใช้อำนาจบล็อกใครอะไรก็ตามเถิด โปรดอย่าจับประชาชนเป็นตัวประกันเลย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ต้องแสดงความเป็นผู้นำ พิจารณาผลดีผลเสียให้รอบคอบเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุดและต้องเด็ดขาดทุบโต๊ะฟันธง...