การกำกับดูแลกับโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค

23 ม.ค. 2564 | 04:00 น.

 

 

คอลัมน์เศรษฐกิจ...อีกนิด ก็หลักสี่ (.ศูนย์) โดย ผศ.ดร.ศรายุทธ เรืองสุวรรณ คณะบริหารธุรกิจ ม.เกษตรศาสตร์

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,647 หน้า 5 วันที่ 24 - 27 มกราคม 2564

 

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว ผมต้องบอกเลย ว่า การประท้วงของประชาชนผู้สนับสนุนประธานาธิบดีที่กำลังจะลาเวทีอย่าง “โดนัลด์ ทรัมพ์” ที่ต่างพากันบุกรุกเข้าไปยังรัฐสภาที่สมาชิกประชุมเพื่อรับรองว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ “โจ ไบเดน” เป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงอย่างยิ่งว่า ประเทศต้นแบบประชาธิปไตยอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาจะกลายเป็นดินแดนไร้กฎหมายที่มุ่งแต่การใช้กำลังข่มขู่เพื่อบังคับขืนใจคนที่มีความเห็นที่แตกต่างจากตนเองได้ถึงเพียงนี้ นอกจากนี้ การใช้กำลังและมาตรการที่แข็งกร้าวเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างรวดเร็วและรุนแรง แม้จะทำให้สถานการณ์ยุติลงได้อย่างรวดเร็ว แต่บาดแผลและความบาดหมางกลับร้าวลึกเกินกว่าที่จะรักษาได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว คำถามที่น่าสนใจ คือ “อะไรคือปัจจัยที่ทำให้เกิด และขยายความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา?”

หลายคนคงจะนึกถึงโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค (Social Network) ที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้คนทั้งโลกเห็นถึงตัวอย่างของการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรง ดังที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 ณ U.S. Capitol ประเทศสหรัฐอเมริกา สมัยก่อนทวิตเตอร์ (Twitter) และเฟสบุ๊ค (Facebook) พบว่า ผู้ใช้งานโพสต์เรื่องราวที่ผูกขึ้นกันอย่างแปลกประหลาดหรือที่เราเรียกกันว่า “ทฤษฎีสมคบคิด” และข่าวปลอมทั้งหลาย แพลตฟอร์มเหล่านี้ก็มักจะเพิกเฉยหรือลังเลที่จะลบข้อความดังกล่าวออกจากระบบ แต่หลังจากการเริ่มฤดูกาลเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาครั้งล่าสุด ทั้งทวิตเตอร์และเฟสบุ๊คก็เริ่มที่ไล่ลบเนื้อหาที่แสดงถึงการใส่ร้ายป้ายสีหรือข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งดังกล่าว ยิ่งเกิดเหตุการณ์การประท้วงที่เกินขอบเขตของคำว่า “ประชาธิปไตย” ไม่ว่าจะเป็นเฟสบุ๊คหรือทวิตเตอร์ต่างก็ห้ามไม่ให้โดนัลด์ ทรัมพ์เข้าใช้งานแพลตฟอร์ม เพื่อป้องกันการปลุกระดมการใช้ความรุนแรงของกลุ่มผู้ประท้วงจนเหตุการณ์จะบานปลายจนควบคุมยับยั้งลำบาก มิใช่แค่เพียงยักษ์ใหญ่ทั้งสองราย แพลตฟอร์มต่างๆ ก็รุมแบนเขาด้วยเช่นกัน

ข้อสรุปที่ตรงกันสำหรับสถาน การณ์ชุลมุนที่เกิดขึ้นชี้ไปที่ “โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค” ว่า “โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค” ควรจะต้องได้รับการกำกับดูแลอย่างจริงจังแล้วหรือยัง? หากย้อนกลับไปที่ปรัชญาของโซเชี่ยลมีเดียก็จะเห็นได้ว่า การอนุญาตให้ผู้ใช้งานเป็นผู้ผลิตเนื้อหาสำหรับแพลตฟอร์มต่างๆ สอดคล้องกับแนวคิดของเสรีภาพของการแสดงความเห็น การรักษาจุดยืนในเรื่องของเสรีภาพของการพูดก็ให้ประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาของสังคมและการถกเถียง เพื่อความงอกงามของสังคม บางครั้ง โซเชี่ยลเน็ตเวิร์คก็กลายเป็นเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนการเมืองภาคประชาชนให้แข็งแรงกว่าเดิม ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ที่เรารู้จักกันในชื่อว่า “อาหรับสปริง”

แต่ทุกคนก็เริ่มตระหนักว่า โซเชี่ยล เน็ตเวิร์คเป็นเสมือนดาบสองคม แม้จะสามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ แต่ก็นำมาซึ่งผลเสียที่คาดไม่ถึงด้วยเช่นกัน และผมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลของหลายๆ ประเทศกำลังเริ่มที่จะค้นหาและพัฒนาแนวทางการกำกับดูแลแพลตฟอร์มโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คไม่ให้สร้างผลกระทบดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด แต่แน่นอนว่า การกำกับดูแลระบบที่ทันสมัยย่อมไม่เหมือนกับการกำกับดูแลระบบการกระจายข้อมูลแบบเดิม ซึ่งแตกต่างจากการควบคุมหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ หรือแม้แต่ภาพยนตร์ก็ตาม 

 

 

 

 

ประเด็นที่สังคมควรจะร่วมกันวิเคราะห์และพิจารณา ได้แก่ รูปแบบหรือมิติของแพลตฟอร์มในปัจจุบันแตกต่างจากมิติของสื่อร่วมสมัยต่างๆ ในเรื่องใด ตัวอย่างของประเด็นความแตกต่างของทั้งสองแบบอาจจะเป็นเรื่องของช่องแบนด์วิดช์ สื่อร่วมสมัยหรือสื่อแบบเดิมมักจะมีลักษณะที่ถูกจำกัดช่องแบนด์วิดช์ ซึ่งส่งผลให้เครือข่ายที่ได้รับข้อมูลมีจำนวนจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงไพรม์ไทม์ที่เข้าถึงผู้คนจำนวนมาก แต่เรื่องนี้กลับไม่ใช่ข้อจำกัดของแพลต ฟอร์มยุคใหม่ที่สามารถส่งข้อมูลไปยังผู้คนจำนวนไม่จำกัดที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ซึ่งก่อให้เกิดอารมณ์ร่วมของคนหมู่มากได้อย่างง่ายดายและพร้อมกัน ดังนั้น การปิดสัญญาณย่อมไม่ใช่คำตอบของการควบคุมการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารของระบบนี้อย่างแน่นอน

 

การกำกับดูแลกับโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค

 

 

ประเด็นถัดมาที่แสดงให้เห็นได้ชัดถึงความแตกต่างของทั้งสองแบบ คือ สื่อรูปแบบเดิมจะถูกกลั่นกรองโดยกองบรรณาธิการก่อนที่จะเผยแพร่ออกสู่สาธารณชน เพราะฉะนั้น เนื้อหาที่จะได้รับการเผยแพร่ก็จะได้รับการตกลงหรือแก้ไขให้เป็นไปอย่างที่เหมาะสมกันภายในองค์กรก่อนที่จะให้ประชาชนรับรู้รับฟัง ในทางตรงกันข้าม สื่อโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คจะเผยแพร่เนื้อหาที่เรียกว่า “User- generated Content” หรือเนื้อหาที่ได้รับการสร้างโดยผู้ใช้งาน ซึ่งมิได้ถูกกลั่นกรองหรือพิจารณาโดยคณะทำงานของแพลตฟอร์มแม้แต่น้อย ประเด็นสุดท้ายที่น่าสนใจเกี่ยวกับความแตกต่างในมิติของผู้ใช้งาน ได้แก่ สื่อรูปแบบเดิม ผู้ชมผู้อ่านจะสามารถเลือกเนื้อหาที่ตนต้องการได้ แต่ไม่เหมือนกับโซเชี่ยลมีเดียที่ผู้ใช้งานจะถูกป้อนข้อมูลที่แพลตฟอร์มคิดว่าเนื้อหาเหล่านั้นจะทำ ให้ผู้ใช้งานจะคงติดตามเนื้อหาต่างๆ ในแพลตฟอร์มต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีวันเลิกใช้งาน ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานอาจจะได้รับข้อมูลที่แพลต ฟอร์มสามารถทำกำไรได้สูงๆ ก็เป็นได้

แต่ข้อเหมือนที่แตกต่างกันที่สำคัญที่สุดของแพลตฟอร์มออนไลน์กับแพลตฟอร์มออฟไลน์ คือ แม้ทั้งสองรูปแบบต่างก็ต้องการกำไรสูงสุด แต่กลยุทธ์การทำกำไรของทั้งคู่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้น หากกรอบแนวคิดการกำกับดูแลของแพลตฟอร์มออนไลน์เหมือนกับรูปแบบร่วมสมัย ผู้อ่านคงจินตนาการได้ว่า การกำกับดูแลก็คงมีแต่ความล้มเหลวไม่ช้าก็เร็วอย่างแน่แท้ และหากการกำกับดูแลทำให้กำไรของธุรกิจลดลง กลยุทธ์การสร้างความสามารถในการทำกำไรใหม่ๆ ก็จะต้องถูกคิดขึ้น และก็ย่อมจะทำให้การกำกับดูแลเสื่อมประสิทธิผลในที่สุด แต่ต้นทุนการกำกับดูแลได้ถูกจ่ายไปแล้ว ประหนึ่งว่าจ่ายฟรี

 

 

 

 

บทเรียนในอดีตจากสื่อรูปแบบร่วมสมัยที่เผชิญเหตุการณ์ต่างๆ มาอย่างยาวนานย่อมทำให้เราสามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์พื้นฐานของโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คได้ค่อนข้างแม่นยำ ในไม่ช้า เราจะได้เห็นการเริ่มเข้มงวดของการกลั่นกรองเนื้อหาจากเจ้าของแพลตฟอร์มและย่อมส่งผลให้เสรีภาพในการแสดงความเห็นอาจจะถูกลดทอนลงไป ถึงแม้ว่าการ กระทำเช่นนั้นจะเป็นการป้องกันเหตุร้ายที่เกิดขึ้นซํ้าอีกครั้งดังที่เกิดในวันลงคะแนนของรัฐสภาเพื่อรับรองการเลือกประธานาธิบดี แต่ต้นทุนที่ต้องจ่ายคงหนีไม่พ้นการถูกจำกัดเสรีภาพในการพูดหรือการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในสังคม

แต่แม้ว่าการตอบสนองเชิงรุกของ บรรดาเจ้าของแพลตฟอร์มจะถูกหยิบยกขึ้นมาใช้อย่างรวดเร็ว แต่ในฐานะรัฐบาล โอกาสอันดีแบบนี้ย่อมหาไม่ได้ง่ายๆ รัฐบาลหลายๆ ประเทศน่าจะรีบออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มต่างๆ ในขณะที่เหล็กยังร้อนอยู่ และมาตรการการกำกับดูแลก็จะกลายเป็นต้นทุนของระบบเศรษฐกิจที่เป็นภาระแก่ผู้ประกอบการ และย่อมหวนกลับมาเป็นต้นทุนของสังคมในที่สุด และคำถามที่สำคัญอีกคำถามหนึ่งที่ตามมา คือ “ประเทศไทยจะเป็น อย่างไร ถ้าต่างประเทศเริ่มมาตรการ กำกับดูแลโซเชี่ยลเน็ตเวิรค์อย่างจริงจัง?”