กว่า​ เรา(จะ)ชนะ

21 ม.ค. 2564 | 22:00 น.

 วิเคราะห์เบื้องลึก "เราชนะ" กางเงินกู้ 1 ล้านล้าน ตอบคำถามเหตุใดการช่วยเหลือของรัฐบาลครั้งนี้ จึงเป็นไปแบบจำกัด พร้อมฟันธงรัฐบาลต้องทลายข้อจำกัดทางการคลัง กู้เงิน ฟื้นฟูเศรษฐกิจอีกรอบ 

ตั้งแต่ต้นปี 2564 ผู้เขียนพยายามชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดในการใช้นโยบายการคลังของรัฐบาล มาแก้ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด ระลอกใหม่ ไม่ว่าจะเป็น การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่หดตัวลงอย่างมาก โดยเฉพาะรายได้หลักๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคล

 

ขณะที่เงินกู้จากพระราชกำหนดกู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท ที่มีอยู่ก็เริ่มร่อยหรอลงไปทุกที การใช้นโยบายอัดฉีดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจ เพื่อฟื้นฟูเยียวยา ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด ในแบบที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “เฮลิคอปเตอร์ มันนี่” ย่อมมีข้อจำกัดมากขึ้น

 

สะท้อนจากโครงการ “เราชนะ” ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้จ่ายเงินเยียวยาประชาชนจํานวน 31.1 ล้านคน คนละไม่เกิน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน รวม 7,000 บาท ใช้เงินรวม 2.1 แสนล้านบาท

 

ภาพที่เห็นชัดคือ กรอบการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ที่กระทรวงการคลังนำมากำหนดเป็นเงื่อนไขในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ 7 ข้อนั้นเป็นการช่วยเหลือแบบจำกัด จำเขี่ย ด้วยการกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของผู้เข้าร่วมโครงการอย่างชัดเจน ไม่เปิดกว้างเหมือนการเยียวยาหลายครั้งที่ผ่านมา ดังนี้

 

1. เป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ

 

2. ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ทั้งที่มีคุณสมบัติครบและไม่ครบตามเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ

 

3. ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานของรัฐที่ได้รับค่าตอบแทนจากหน่วยงานของรัฐโดยตรง ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ

 

4. ไม่เป็นข้าราชการการเมืองตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ

 

5. ไม่เป็นผู้รับบำนาญปกติ หรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ

 

6. ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 300,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด 

 

7. ไม่มีเงินฝากรวมกันทุกบัญชีเกิน 500,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด

 

กว่า​ เรา(จะ)ชนะ

 

 

จากเงื่อนไขนี้เท่ากับว่า ผู้มีอาชีพอิสระ เกษตรกร ลูกจ้างทั่วไป ถ้าใครมีรายได้เกินปีละ 300,000 บาท หรือ เฉลี่ยเดือนละ 25,000 บาท จะหมดสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา “เราชนะ” ทันที และที่สำคัญแม้ว่าคนเหล่านี้จะมีรายได้ไม่เกิน 300,000 บาท แต่หากใครมีเงินฝากในทุกบัญชีรวมกันเกินกว่า 500,000 บาท ก็หมดสิทธิ์รับเงินเยียวยาเช่นกัน 

 

แม้ว่าการกำหนดหลักเกณฑ์ของกลุ่มประชาชนที่เดือดร้อนได้รับสิทธิช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างชัดเจนในโครงการ “เราชนะ” เป็นเรื่องที่ดี ต่างจากโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน-เยียวยาเกษตรกร-คนละครึ่ง” ที่ต้องยอมรับว่ามีประชาชนบางส่วนที่ไม่ได้รับความเดือดร้อน ได้รับสิทธิช่วยเหลือรับเงินเยียวยาจากรัฐบาล

 

แต่รัฐบาลต้องไม่ลืมว่ายังมีผู้ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือกลุ่มตกหล่น จากการระบาดของโควิดในช่วงที่ผ่านมาอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งต้องหาวิธีการแก้ปัญหาให้ได้เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นได้มีสิทธิ์เข้าถึงความช่วยเหลือต่อไป

 

เมื่อเจาะลึกลงไปในมติครม.ที่อนุมัติการดำเนินโครงการ “เราชนะ” พบว่ามีการโยกเงินกู้วงเงินกู้ในแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจมาใช้สำหรับในแผนงานช่วยเหลือ เยียวยา ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถาน การณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มเติมจำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการดำเนินโครงการเราชนะ

 

นอกจากนี้ครม.ยังกำหนดกรอบวงเงินให้ความช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐภายใต้โครงการเราชนะไว้อย่างชัดเจนว่า เมื่อรวมกับเงินที่ภาครัฐให้ความช่วยเหลือตามสิทธิผ่านช่องทางต่างๆ แล้วจะได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการฯ รวมเป็นไม่เกิน 3,500 บาทต่อเดือน

 

การใช้จ่ายเงินที่ได้รับสนับสนุนจากภาครัฐ จะไม่สามารถเบิกเงินสดได้ โดยต้องนำไปใช้ผ่านระบบ เพื่อชำระค่าสินค้า เครื่องดื่ม และอาหาร โดยครอบคลุมการใช้ชำระค่าบริการ 

 

ในส่วนของค่าโดยสารรถจักรยานยนต์สาธารณะ รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (TAXI- METER) และรถตู้โดยสารประจำทางที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งบริการต่างๆ แต่ไม่รวมถึงสลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ 

 

เรียกได้ว่ากำหนดเงื่อนไขกันแบบละเอียดยิบ

 

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมจึงมีการกำหนดรายละเอียด นั่นเป็นเพราะเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่มีเหลืออยู่ (ก่อนอนุมัติโครงการเราชนะ) ถูกอนุมัติไปใช้ในโครงการต่างๆ ไปแล้ว 255 โครงการ วงเงิน 507,661.42 ล้านบาท เหลือเงินที่ยังใช้ได้ 492,338.57 ล้านบาท 

 

เมื่อดูรายละเอียดรายแผนงาน พบว่ามีการใช้เงินกู้ในแผนงานโครงการต่างๆ ดังนี้

 

กลุ่มที่ 1 เกี่ยวกับด้านสาธารณสุข การป้องกันการระบาดของโควิด-19 กรอบวงเงิน 45,000 ล้านบาท มีวงเงินอนุมัติ ไปแล้ว 16 โครงการ 19,698.13 ล้านบาท คงเหลือ 25,301.86 ล้านบาท 

 

กลุ่มที่ 2 เกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 555,000 ล้านบาท อนุมัติไปแล้ว 7 โครงการ 348,553.21 ล้านบาท คงเหลือ 206.44 ล้านบาท 

 

กลุ่มที่ 3 ที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม ภายหลังการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 400,000 ล้านบาท อนุมัติไปแล้ว 232 โครงการ 139,410.07 ล้านบาท คงเหลือ 260,589.92 ล้านบาท 

 

เมื่อมีการอนุมัติให้ดำเนินโครงการเราชนะ เพื่อเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดระลอกใหม่ วงเงิน 2.1 แสนล้านบาท ทำให้วงเงินกู้ในส่วนของการเยียวยาในกลุ่มที่ 2 มีไม่พียงพอต้องดึงเงินกู้ในกลุ่มที่ 3 เข้ามาเติม

 

นั่นหมายความว่า หลังจากนี้หากรัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาประชาชนออกมาอีก ก็จำเป็นจะต้องดึงเงินกู้ที่เหลืออยู่ในกลุ่มที่ 3 ที่เหลืออยู่ 2.5 แสนล้านบาท ไปใช้เพิ่มเติม อันจะส่งผลให้เงินกู้ที่จะนำมาใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการระบาดของโควิดร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ 

 

ถึงตรงนี้คงจะเห็นภาพกันแล้วว่า เหตุใดการช่วยเหลือของรัฐบาลในโครงการเราชนะครั้งนี้ จึงเป็นไปแบบจำกัด และมีเงื่อนไขการใช้เงินที่เยอะมาก

 

ผู้เขียนเชื่อว่า กว่า“เราจะชนะ” ผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดครั้งนี้ไปได้ คงต้องมีการทลายข้อจำกัดทางการเงิน การคลัง ด้วยการกู้เงิน มาใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจอีกรอบ เป็นแน่

 

ที่มา: คอลัมน์ถอดสูตรคุย  โดย  บรรทัดเหล็ก หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,647 หน้า 10 วันที่ 24 - 27 มกราคม 2564