เครือข่ายธุรกิจ-เงินทุน วัคซีนเอสเอ็มอีชั้นดี โอกาสทองลุยทุกวิกฤติ

17 ม.ค. 2564 | 09:00 น.

การกลับมาระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 หลายสำนักประเมินว่าสถานการณ์จะสาหัสสากรรจ์ ด้วยตัวเลขของผู้ติดเชื้อจากการตรวจคัดกรองในเชิงรุกที่เพิ่มมากขึ้น พื้นที่บางแห่งถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษขั้นสูงสุด ซึ่งคาดการณ์จะเข้าสู่ภาวะคลี่คลายได้เมื่อได้รับ “วัคซีน” ภาคอุตสาห กรรมก็เช่นกัน จำเป็นต้องมีตัวช่วยเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างมั่นคงและเต็มศักยภาพ 

เครือข่ายธุรกิจ-เงินทุน  วัคซีนเอสเอ็มอีชั้นดี  โอกาสทองลุยทุกวิกฤติ

 

 

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เรี่ยวแรงคนสำคัญที่พัฒนา “วัคซีนเอสเอ็มอี” เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย เสริมความแข็งแรงให้กับเศรษฐกิจฐานราก

 

ลงทุนมองหาสตาร์ตอัพ 

ดร.ณัฐพล เปิดเผยว่า ในช่วงของความผันผวนที่เกิดขึ้น การลงทุนเดิมที่มีความเสี่ยงและมีแนวโน้มไม่ค่อยสดใสมากนัก จากการซื้อ-ขายหุ้น อสังหาริมทรัพย์ จึงไม่ใช่เป้าหมายหลักที่นักลงทุนให้ความสนใจ ด้วยปัจจัยเร้าในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง การลงทุนในรูปแบบเดิม ๆ จึงไม่ใช่เหมืองทองที่นักลงทุนเทใจพึ่งพาในระยะนี้ แต่ได้แสวงหาโอกาสการลงทุนจากเทรนด์ธุรกิจใหม่ ๆ ในกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ หรือ Start Up โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง หรือ Deep Tech ถือเป็นเทคโนโลยีที่อยู่ในความต้องการในปัจจุบัน ทั้งยังได้รับผลกระทบไม่มากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตัวอย่าง บริษัท อีซีจี-รีเซียร์ช จำกัด เดิมประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์แต่หันมาให้ความสนใจร่วมลงทุนในธุรกิจด้านนี้ด้วยวงเงินกว่า 350 ล้านบาท กับผู้ประกอบการ SMEs Start Up ที่ได้รับการบ่มเพาะและส่งเสริมจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)

 

เครือข่ายธุรกิจ-เงินทุน  วัคซีนเอสเอ็มอีชั้นดี  โอกาสทองลุยทุกวิกฤติ

 

ปั้นวัคซีนSMEs เสริมภูมิต้านทาน

ทั้งนี้ในหลายวิกฤตการณ์ที่ผ่านมา จากการดำเนินการอย่างเข้มข้นของ กสอ. พบว่า ภูมิต้านหรือวัคซีนที่ดีที่ทุกธุรกิจจำเป็นต้องมี สำหรับการเผชิญหน้ากับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ทางอุตสาหกรรม คือ “เครือข่าย” ที่ต้องสร้างให้ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งเครือข่ายในแต่ละพื้นที่และเครือข่ายของอุตสาหกรรม โดย “เครือข่ายในพื้นที่” จะสร้างความช่วยเหลือและพึ่งพากันระหว่างธุรกิจ เพื่อเผชิญหน้ากับปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละภูมิภาคทั้งยังก่อให้เกิดการรับมือที่ตรงตามความเป็นจริงของสถานการณ์ เครือข่ายรูปแบบนี้ ผู้ประกอบการจะรู้จักกันดีในชื่อโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม หรือ โครงการ คพอ. ปัจจุบันสามารถสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการได้แล้ว 300 กว่ารุ่น มีผู้ประกอบการในเครือข่ายกว่า 11,000 ราย และยังมีโครงการจีเนียส อะคาเดมี ศูนย์รวมบ่มเพาะเอสเอ็มอีที่มีความหลากหลายทางธุรกิจและมีความเป็นอัจฉริยะกว่า 500 ราย สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,200 ล้านบาท 

 

ขณะเดียวกัน กรมฯมีกลุ่มเครือข่าย DIP SMEs Network ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้จัดสัมมนาเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการใหม่ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและตลาดที่เหมาะสม ช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงธุรกิจ และจับคู่เจรจาธุรกิจ (Business Matching) ภายใน 1 วัน สามารถสร้างมูลค่ารวมกว่า 150 ล้านบาท 

 

ปัจจัยบวกเศรษฐกิจไทย

 

นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมี “เครือข่ายของอุตสาหกรรม” หรือ “คลัสเตอร์” เพราะในด้านความร่วมมือคงไม่มีใครที่รู้ใจเราไปกว่าคนที่ทำธุรกิจเดียวกัน การผนึกเครือข่ายในรูปแบบนี้ จะช่วยให้แต่ละอุตสาหกรรมเกิดการพัฒนาขับเคลื่อนไปข้างหน้า ช่วยพยุงและส่งเสริมซึ่งกัน มากไปกว่านั้นยังจำเป็นต้องสร้าง “เครือข่ายระหว่างกลุ่มธุรกิจ” เพื่อแลกเปลี่ยน ส่งต่อในการสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง โดยในทุกมิติของแต่ละรูปแบบของเครือข่าย ต่างเกิดจากความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน เชื่อมโยงธุรกิจเพื่อร่วมฟันฝ่าสร้างโอกาสสำคัญในการดำเนินกิจการ ดังนั้น “เครือข่าย” จึงถือเป็นยาแรงสำคัญที่ประกอบอยู่ในวัคซีนเอสเอ็มอี 

 

“เงินทุน” ยาโป๊วที่ขาดไม่ได้

อย่างไรก็ดี “เงินทุน” เป็นอีกตัวยาสำคัญที่ กสอ. ผสมเข้าไปในวัคซีนเอสเอ็มอี เพื่อเสริมกำลังให้สามารถต่อสู้โรคร้าย และดำเนินกิจการได้อย่างเต็มความสามารถ ยิ่งในปัจจุบัน เทรนด์คนรุ่นใหม่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการ หรือมีธุรกิจเป็นของตนเอง ทำให้ Start Up ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ต้องล้มหายตายจาก แม้จะมีไอเดียธุรกิจที่โดดเด่นสร้างสรรค์ มีทีมงานที่ดี มีแผนธุรกิจที่เข้มแข็ง แต่ยังไม่เพียงพอ หากยังขาดสภาพคล่อง หรือ “แหล่งเงินทุนที่มั่นคง”

 

กรมฯมีแหล่งเงินทุนและเครือข่ายแหล่งเงินทุนที่เป็นพันธมิตร พร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการ อาทิ เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรม กองทุนหมู่บ้าน และ ธ.ก.ส. โดยในส่วนของเงินทุนหมุนเวียนฯ ได้มีมาตรการเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในเวลานี้ด้วยการพักชำระหนี้สำหรับลูกหนี้รายเดิม และสินเชื่อสำหรับผู้ขอกู้รายใหม่วงเงินตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไป อัตราดอกเบี้ย 4%ต่อปี

 

ปรับตัวเสริมภูมิต้านทานธุรกิจ

ขณะเดียวกันการลงทุนมีความเสี่ยง จำเป็นต้องมีที่ปรึกษาที่ดี กสอ. จึงปรับบทบาทมาสู่องค์กรกลางที่เป็นที่ปรึกษาให้กับภาคเอกชน หรือนักลงทุนที่สนใจต่อยอดธุรกิจ Start Up และเป็นตัวเชื่อมโยงผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ซึ่งจะต้องได้รับการสกัด กลั่นกรอง ผลักดัน และคัดเลือกเป็นอย่างดีแล้วว่า มีต้นทุนทางความคิดในการดำเนินธุรกิจอย่างทรงพลัง เปิดเวที Business Matching ให้ได้มีโอกาสเชื่อมโยงธุรกิจร่วมลงทุนภาคเอกชน (Venture Capital) หรือ VC ก่อให้เกิดความร่วมมือทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการสร้างและรวมกลุ่มเครือข่ายทางธุรกิจที่มีความหลากหลาย ยกระดับการร่วมลงทุนส่งต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการ SMEs Start Up

 

“เดือนธันวาคมที่ผ่านมา กสอ.ได้ เชื่อมโยงการลงทุนไปแล้วกว่า 800 ล้านบาท คิดเป็นผู้ประกอบการ SMEs กว่า 400 ล้านบาท และ Start Up กว่า 400 ล้านบาท ทั้งนี้ “วัคซีนเอสเอ็มอี” ที่ กสอ. อัดฉีดให้กับผู้ประกอบการนั้น อาจมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ หากไม่สามารถพัฒนาต่อให้มีทักษะที่พร้อมเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่างๆ ในอนาคต เพราะเชื้อโรคทางอุตสาหกรรม ก็คล้ายกับเชื้อโควิด-19 ที่มีการพัฒนาสายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา”

 

ดังนั้นแม้ว่าจะได้รับวัคซีนไปแล้ว หากผู้ประกอบการปล่อยปละละเลย ไม่เสริมภูมิต้านทานทางธุรกิจให้กับตัวเอง ไม่พัฒนาทักษะให้เพียงพอ ก็อาจพ่ายแพ้ต่อการแพร่ระบาดไปในที่สุด ในแง่ กสอ. ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาเพื่อผลิต “ยาดี” มาส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยอย่างเต็มกำลัง โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพื่อให้เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,645 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2564 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"เยียวยาโควิดรอบ2" ครม.ขยายเวลาปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำช่วยเอสเอ็มอี -ผู้มีรายได้น้อย ถึงมิ.ย.

เจาะมาตรการ"เยียวยาโควิด" SME D Bank จัดหนักเพื่ออุ้มเอสเอ็มอี

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พัฒนาทักษะนวัตกรรมผู้ประกอบการไฟแรง

สสว./กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงนาม MOU กับ SMBA เกาหลี ยกระดับ SMEs ไทย