คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้ 3 แสนล. ทำไม กขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี(5)

14 ม.ค. 2564 | 04:34 น.

คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้3แสนล. ทำไม กขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี(5) : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3644 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 14-16 ม.ค.2564 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

 

มาติดตามมติของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ที่อนุญาตให้ทางกลุ่มบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ทางกลุ่มซีพี ออลล์ถือหุ้น 40%, เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งถือหุ้น 40% และ ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF ถือหุ้น 20% ได้เข้าซื้อกิจการ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด รายได้ปีละ 187,958 ล้านบาท และ Tesco Store (Malaysia) Sdn. Bhd. ด้วยวงเงินถึง 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือตกประมาณ 338,445 ล้านบาท 

ผลที่ตามมาคือ ทำให้ค่าย ซี.พี.ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ มีธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ในเครือข่ายมากที่สุดในประเทศ จากเดิมที่มีร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น 12,089 สาขา แม็คโคร 136 สาขา ซีพีเฟรชมาร์ท 400 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ต ซีพี เฟรช 1 สาขา ล่าสุดการได้เทสโก้ โลตัส มาเพิ่มอีก 2,046 สาขา จะทำให้ค่าย ซี.พี.มีจำนวนสาขาร้านค้าปลีกทั้งสิ้น 14,312 แห่งทั่วประเทศ

หลายคนเห็นว่าผูกขาด แต่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า บอกว่า ไม่ผูกขาด แม้มีอำนาจเหนือตลาดกันเป็นตอนที่ 5 

เรื่องที่จะต้องพิจารณาคือ การประเมินประสิทธิภาพของตลาดภายหลังจากการรวมธุรกิจ เนื่องจากการรวมธุรกิจระหว่างผู้ขออนุญาตและผู้ถูกรวมธุรกิจเป็นการรวมธุรกิจที่ก่อให้เกิดการกระจุกตัวสูง ในตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่ขนาดเล็กโดยเป็นผลให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ในตลาด คือ ผู้ประกอบธุรกิจ ร้านค้าเซเว่น-อีเลฟเว่น มีส่วนแบ่งตลาดในตลาดดังกล่าวเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีแผนการลงทุนขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งมีอัตราการขยายตัวมากกว่าคู่แข่งหลายเท่าตัว 

ส่งผลให้เกิดเป็นเครือข่ายธุรกิจที่ครบวงจรตลอดห่วงโซ่ อุปทาน ซึ่งช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจของผู้ขออนุญาตมีความได้เปรียบต่อการแข่งขัน และสามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้อย่างต่อเนื่อง อันทำให้ผู้ขออนุญาตได้รับประโยชน์จากการขยายธุรกิจของตนเอง  ซึ่งอาจมีผลให้ประสิทธิภาพของตลาดลดลงจากการที่ผู้ขออนุญาตแสวงหากำไรสูงสุด 

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าได้วิเคราะห์ปัจจัยตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ได้แก่ ความจําเป็นตามควรทางธุรกิจและประโยชน์ ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ การไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง และการไม่กระทบ ต่อประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวม โดยมีความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ดังนี้ 
 

กรรมการการแข่งขันทางการค้าเสียงข้างน้อย ได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นดังต่อไปนี้ 

1.ขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เนื่องจากพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว มีเจตนารมณ์และหลักการสำคัญที่มุ่งเน้นในเรื่องการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจ ในตลาดสินค้าและบริการต่างๆ ให้มีการแข่งขันทางการค้ามากที่สุดภายใต้หลักเสรีและเป็นธรรม โดยหลักการกำกับดูแลจะประกอบด้วยมาตรการทางด้านโครงสร้าง (Structural Control) และมาตรการกำกับดูแล ด้านพฤติกรรม (Conduct Control) ซึ่งมาตรการกำกับดูแลด้านโครงสร้างนี้เป็นมาตรการที่ป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดหรือครอบงำตลาด อันจะนำไปสู่โอกาสการแสวงหาผลประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรม หรือจำกัด  หรือกีดกันคู่แข่งให้ออกจากตลาด 

ขณะเดียวกัน คู่แข่งรายใหม่ก็เข้าสู่ตลาดได้ยาก ทั้งนี้ จึงต้องป้องกันไม่ให้ ผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งมีการกระจุกตัวในตลาดในระดับสูง แม้ว่าจะมีสถานะเป็นผู้มีอำนาจ เหนือตลาดอยู่ก่อนแล้ว แต่ต้องไม่ส่งเสริมสนับสนุนให้เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดหรือมีอิทธิพลต่อตลาดมากยิ่งขึ้น โดยพิจารณาจากปัจจัยเกี่ยวข้องต่าง ๆ ประกอบ ดังนี้ 

1.1 การครอบคลุมตลาดค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ทุกประเภท จากเดิมผู้ขออนุญาตมีกิจการเฉพาะร้านค้าปลีกสมัยใหม่ขนาดเล็ก ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 73.60 และมีจำนวนสาขา 11,712  สาขาทั้งประเทศ หากมีการรวมธุรกิจแล้วจะทำให้ผู้ขออนุญาตได้กิจการค้าปลีกทุกประเภทของบริษัท เอก-ชัย  ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (มหาชน) ได้แก่ 
1) ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของตลาด มีส่วนแบ่งตลาด ร้อยละ 46.79 และมีจำนวนสาขา 215 สาขา 
2) ร้านซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นอันดับสองของตลาด มีส่วนแบ่งตลาด ร้อยละ 15.79 และมีจำนวนสาขา 178 สาขา 
3) ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ซึ่งเป็นอันดับสองของตลาด มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 9.45 และมีจำนวนสาขา 1,595 สาขา


นอกจากนี้ ผู้ขออนุญาตยังมีการประกอบ กิจการค้าส่งสมัยใหม่ภายใต้ชื่อบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ที่มีจำนวนสาขามากกว่า 134 สาขา และกระจายทั่วประเทศโดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 85.71 การรวมธุรกิจดังกล่าวได้ส่งผลให้ผู้ขออนุญาตมีกิจการทุกระดับของค้าส่งและค้าปลีก  อีกทั้งเป็นผู้นำตลาดในแต่ละประเภทอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรวมธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่ขนาดเล็ก จะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นสูงมากถึงร้อยละ 83.05  
 

1.2 การกระจุกตัวของตลาด องค์กรกำกับการแข่งขันทางการค้าทุกประเทศจะพิจารณาผลกระทบของการรวมธุรกิจที่มีต่อระดับการแข่งขันของตลาด โดยใช้ค่าการกระจุกตัวของตลาด (Herfindahl Hirschman Index (HHI)) ซึ่งเป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญในการวิเคราะห์โดยมีเกณฑ์มาตรฐาน กำหนดไว้ชัดเจนว่า หากค่าการกระจุกตัวของตลาดหลังรวมธุรกิจสูงกว่า 2500 จะบ่งชี้ว่าการรวมธุรกิจนั้น จะส่งผลกระทบให้การแข่งขันในตลาดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

อีกทั้งค่าการกระจุกตัวหลังรวมธุรกิจที่เพิ่มขึ้น (∆HHI) มากกว่า 100 จะยิ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนมากขึ้นว่า การแข่งขันในทุกประเภทของตลาดค้าปลีก จะมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 

1.2.1 การกระจุกตัวของตลาดค้าปลีกสมัยใหม่เฉพาะร้านค้าปลีกขนาดเล็ก จากผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจฯ ชี้ให้เห็นว่า ก่อนการรวมธุรกิจ  ค่าการกระจุกตัวของตลาดร้านค้าปลีกขนาดเล็ก (ร้านเซเว่น- อีเลฟเว่น) อยู่ที่ 5553.19 และหลังการรวมธุรกิจ ได้ส่งผลให้ค่าการกระจุกตัวของตลาดได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 6944.09 อีกทั้งค่าการเปลี่ยนแปลงของค่าการกระจุกตัว ของตลาดเพิ่มขึ้น (∆HHI) 1390.90 (ตามเกณฑ์มาตรฐานค่าเปลี่ยนแปลงที่มากกว่า 100 ถือว่ามีผลกระทบต่อตลาดอย่างรุนแรงมาก) 

1.2.2 การกระจุกตัวของตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ที่พิจารณาตามขอบเขตตลาด (ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าปลีกขนาดเล็ก) ก่อนรวมธุรกิจค่าการกระจุกตัวของตลาด  (HHI) อยู่ที่ 2496.75 และหลังรวมธุรกิจค่าการกระจุกตัวของตลาดได้เพิ่มสูงขึ้นมากเกือบ 200 เป็น 4219.54 โดยมีค่าการเปลี่ยนแปลงของค่าการกระจุกตัวของตลาด (∆HHI) เท่ากับ 1722.80  ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ในภาพรวมของตลาดค้าปลีกสมัยใหม่มีค่าการกระจุกตัวของตลาดอยู่ในระดับที่สูงอยู่แล้ว เมื่อมีการรวมธุรกิจดังกล่าวจะส่งผลกระทบให้ระดับการกระจุกตัวของตลาดค้าปลีกสมัยใหม่เพิ่มสูงมากยิ่งขึ้น  สะท้อนให้เห็นว่า หลังรวมธุรกิจโอกาสที่ผู้ขออนุญาตจะสามารถครอบงำตลาดค้าปลีกทั้งหมดทุกประเภท 

เมื่อรวมกับการประกอบธุรกิจในระดับค้าส่งสมัยใหม่ คือ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) จะส่งผลให้ การรวมธุรกิจในครั้งนี้กลายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ตั้งแต่ระดับต้นนํ้าถึงปลายนํ้าในธุรกิจบริการค้าส่งค้าปลีก 

นี่คือความคิดเห็นของคณะกรรมการเสียงข้างน้อยในประเด็นขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 หรือไม่