เม็ดเงินจีนจะไหลมาไทย เพิ่มขึ้นมาก หลังโควิดจบ

13 ม.ค. 2564 | 07:40 น.

เม็ดเงินจีนจะไหลมาไทย เพิ่มขึ้นมาก หลังโควิดจบ : คอลัมน์ลวดลายมังกร โดย... มาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,644 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2564

ผลสำรวจนักลงทุนจีนต่อความสนใจในการลงทุนในประเทศไทยโดยธนาคารไทยพาณิชย์ พบว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนจากจีนมาไทยเพิ่มขึ้นอีกมากหลังโรคระบาดจบแล้ว 

 

โดยผู้เขียนประเมินเองว่าจะมีมากขึ้นเกินความคาดหมายของทุกฝ่าย แต่โครงสร้างการลงทุนจะมีการเปลี่ยนแปลงไป เป็นขนาดเงินลงทุนต่อโครงการที่เล็กลงโดยเฉลี่ย และที่สำคัญจะมีการกระจายตัวไปสู่ธุรกิจบริการและเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น จึงไม่ต้องสงสัยใดๆ ว่าจีนจะเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับหนึ่งในไทย ที่ทิ้งห่างอันดับสองมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต แนวโน้มนี้จะเป็นโอกาสทองสำหรับนักธุรกิจไทยที่มีความพร้อมได้เป็นอย่างดี

 

เม็ดเงินจีนจะมาไทยเกินความคาดหมาย

 

ผู้เขียนขอยกรายงานผลสำรวจออนไลน์ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ทำการสำรวจกับนักธุรกิจจีน ถึงความต้องการการลงทุนโดยตรงในประเทศไทยหลังโควิด เพราะมีประเด็นที่ชวนคิดในภาพรวมหลายประการ ประการแรกการสำรวจนี้ได้จัดทำขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่จีนเพิ่งจะควบคุมโควิดได้ การฟื้นตัวเศรษฐกิจยังไม่ชัดเจน แต่นักธุรกิจจีนที่ร่วมสำรวจกว่าสองในสามตอบว่าจะเพิ่มเม็ดเงินลงทุนในไทยในอีก 2 ข้างหน้า ที่น่าสนใจคือกลุ่มตัวอย่างของการสำรวจนี้ประกอบด้วยนักลงทุนจีนที่ลงทุนหรือมีธุรกิจในไทยอยู่แล้วประมาณ 60% ส่วนอีก 40% เป็นนักลงทุนจีนที่ยังไม่ได้มาที่ไทย แต่มีความสนใจและมุ่งหาโอกาสอยู่ ก็แสดงว่านักลงทุนจีนที่มาลงทุนแล้วส่วนมากพบว่าการลงทุนมีความคุ้มค่า เห็นโอกาส จึงมีแนวโน้มที่จะลงทุนเพิ่มมากขึ้น 

 

ผู้เขียนประเมินว่า เมื่อโควิดจบแล้ว จะมีเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากจีนจะมาไทยเกินความคาดหมายของทุกฝ่าย ทั้งนี้ เพราะคาดว่าจะมีเม็ดเงินที่ผันจากที่เดิมวางแผนจะไปลงทุนในประเทศตะวันตกมาในภูมิภาคอาเซียน โรคระบาดครั้งนี้จะทำให้มีการเปลี่ยนขั้วเรื่องแนวคิดของนักธุรกิจจีนต่อประเทศตะวันตกเป็นอย่างมาก และไทยก็เป็นประเทศเป้าหมายหลักของธุรกิจจีนอยู่แล้ว  

ประกอบกับประเทศไทยมีการควบคุมโรคระบาดเปรียบเทียบแล้วดีกว่าประเทศตะวันตกและประเทศเพื่อนบ้านมาก ทำให้มีความเชื่อมั่นเรื่องมาตรฐานสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาการลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนต่างชาติ เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนของเม็ดเงินลงทุนสะสมจากจีนมาไทยคิดแล้วเป็นเพียง 0.3% ของเม็ดเงินลงทุนไปต่างประเทศทั้งหมดของจีน ซึ่งผู้เขียนคิดว่าสัดส่วนนี้น้อยเกินไปเทียบกับระดับความสัมพันธ์ด้านการค้าไทยจีน จึงมีโอกาสที่ไทยจะได้รับส่วนแบ่งการลงทุนเพิ่มมากขึ้นอีก

 

จะเปลี่ยนจากขยายฐานการผลิตไปเป็นขยายตลาด  

 

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าเม็ดเงินลงทุนจากจีน จะมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างมาก จากเดิมที่เน้นลงทุนเพื่อเป็นฐานการผลิตสำหรับส่งออกไปประเทศที่สามเป็นหลัก มาเป็นเน้นเจาะตลาดไทยมากขึ้น และมีไม่น้อยที่ยังคงเห็นไทยเป็นฐานในการขยายไปในภูมิภาคอาเซียน ส่วนปัจจัยด้านนโยบายภาครัฐของไทยเป็นปัจจัยระดับรองลงมา และการลดต้นทุนไม่ใช่เหตุผลสำคัญของการมาลงทุนที่ไทย

 

จะมีขนาดต่อโครงการเล็กลง และกระจายตัวมากขึ้น

 

ผลสำรวจยังระบุถึงแนวโน้มที่สำคัญอีกอย่างคือโครงการลงทุนในอนาคตจากจีนจะมีแนวโน้มมูลค่าเงินลงทุนต่อโครงการน้อยกว่าในอดีต แต่จะมีจำนวนโครงการมากขึ้น และที่สำคัญจะกระจายตัวไปในหลากหลายธุรกิจมากขึ้น จากเดิมที่กระจุกตัวอยู่กับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ไปเป็นธุรกิจบริการ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ ธุรกิจโลจิสติกส์ เป็นต้น สินค้าบริโภคอุปโภคที่เป็นแบรนด์จีน จะออกสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพราะประเทศจีนได้มีแบรนด์สินค้าที่ติดตลาดระดับโลกเพิ่มมากขึ้นในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา จนเป็นที่ยอมรับในเรื่องของคุณภาพหรืออย่างน้อยความคุ้มค่ามากขึ้นมาก เม็ดเงินจีนจะไหลมาไทย เพิ่มขึ้นมาก หลังโควิดจบ

โอกาสหรือความท้าทาย

 

ด้วยความที่เม็ดเงินจากกระจายตัวมากขึ้น และนักธุรกิจจีนต้องการขยายตลาดไทยโดยตรงมากขึ้น หลายๆ บริษัทจากจีนจะมาลงทุนในต่างประเทศเป็นครั้งแรก ดังนั้น ผู้เขียนเชื่อว่าตลาดของการให้บริการแก่นักธุรกิจจีนในไทยจะเป็นตลาดใหม่ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบริการขั้นพื้นฐาน เช่นการบริการด้านกฎหมาย ไปจนถึงการร่วมพันธมิตรทางธุรกิจกับนักธุรกิจจีน  แต่ในเวลาเดียวกันนักธุรกิจไทยก็จะเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากบริษัทจีนในไทย เพราะนักธุรกิจจีนโดยทั่วไปมักมีความรวดเร็ว มีเงินทุน และที่สำคัญมีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง นักธุรกิจจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมในการจับโอกาสธุรกิจที่จะมาเป็นกระแสระลอกใหญ่ในอีกไม่นานนี้

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : มาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ มีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนและการเงินในประเทศจีนกว่า 15 ปี ในอดีตเคยเป็นนักวิเคราะห์หุ้นจีน เอ แชร์ และข้าราชการกระทรวงการคลัง จบการศึกษาปริญญาตรีด้านสารสนเทศการบัญชี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญโท MBA จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลล่อน สหรัฐอเมริกา

 

 

หมายเหตุ : ความเห็นในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่ผู้เขียนสังกัดอยู่แต่อย่างใด ผู้อ่านสามารถแสดงความเห็นได้ที่ facebook: manop sangiambut