ขายขี้หน้าผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ”5นายพล-48พ.ต.อ.-136 ตร.” อมเบี้ยเลี้ยงโควิด 2,500 ล้าน

12 ม.ค. 2564 | 12:12 น.

ในที่สุดความฉาวโฉ่ของนายตำรวจที่เห็นแก่ตัว กินเงินลูกน้อง ด้วยการ ”อมเบี้ยเลี้ยงโควิด-19” ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมาเป็นเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกหน่วยที่ปฏิบัติหน้าที่ในการตั้งด่านป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสจำนวน 2,521 ล้านบาท ตั้งแต่ 27 มี.ค - 30 มิ.ย.2563 แต่มีการร้องระงมกันช่วงเดือนกันยายน 2563ก็ฝีแตก ส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งไปทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

เมื่อ พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) ประธานประชุมติดตามความคืบหน้าการตรวจสอบเบี้ยเลี้ยงโควิด-19 ครั้งที่ 4 ออกมาชี้แจงเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2564 ว่า จากการสอบสวนตรวจสอบผู้กระทำความผิดเท่าที่ทราบตอนนี้ มีผู้กระทำผิดทั้งสิ้น 189 นาย เป็นนายตำรวจระดับนายพล 5 นาย ตำรวจระดับ พ.ต.อ.จำนวน 48 นาย 


นอกนั้นเป็นระดับ รอง ผกก , สว ,รอง สว. และ ผบ.หมู่ รวม 136 นาย ซึ่งมีการพิจารณาโทษตามแต่มูลเจตนาของผู้กระทำผิดตั้งแต่ เบาไปถึงหนัก ตั้งแต่ ว่ากล่าวตักเตือน การภาคฑัณฑ์ การกักยาม การกักขัง การตัดเงินเดือน ที่หนักสุดคือ การเสนอเข้าสู่การสอบสวนพิจารณาวินัยร้ายแรงซึ่งหากมีหลักฐานยืนยัน ก็จะเข้าสู่การลงโทษ ปลดออก ไล่ออก และดำเนินคดีทางอาญาต่อไป โดยจะสรุปผลการประชุมอย่างเป็นทางการเพื่อแจ้งต่ำผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ทราบต่อไป


“บิ๊กหิน”พล.ต.อ.วิสนุ บอกว่า ผู้ที่อยู่ในกระบวนการสอบสวนทางวินัย หากหาพยานหลักฐานมาหักล้างได้ ก็ไม่เป็นไร หากหามาไม่ได้ ก็เป็นกระบวนการของวินัยร้ายแรง โทษสูงสุด ไล่ออก ปลดออก หากมีคดีอาญาด้วย ก็ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณา 

นับเป็นความฉาวโฉ่ที่สั่นคลอนความน่าเชื่อถือของตำรวจที่เป็น “ผู้พิทักษ์ สันติ ของราษฎร์”


ปฏิบัติการสอบสวนการอมเบี้ยเลี้ยงโควิด-19 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อยที่ปฏิบัติหน้าที่ตั้งด่านสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสได้ออกมาโวยวายผ่านโซเชียลมีเดียว่า เบี้ยเลี้ยงข้าราชการตำรวจที่ปฎิบัติหน้าที่ในการตั้งด่านป้องกัน ที่กำหนดให้คิดเบี้ยเลี้ยเป็นชั่วโมงๆละ 60-70 บาท/วัน วันละไม่เกิน 7 ชั่วโมง งบประมาณค่าเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และงบเบิกจ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแต่ละกองบัญชาการมีการขอเบิกงบไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับเหตุผลความจำเป็น จำนวนการตั้งด่าน และตำรวจที่ปฎิบัติหน้าที่จริง 


โดยงบก้อนนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ส่งให้กองบัญชาการและกองบังคับการแต่ละภาคไปทั้งหมด แล้วให้ส่วนแต่ละหน่วยจะนำไปเฉลี่ยจ่ายให้กับผู้ปฏิบัติงาน แต่ต้องมีเอกสารชี้แจงที่ชัดเจน ห้ามมีการทอนเงินคืนโดยด็ดขาด


ปรากฎว่า ทางกองบัญชาการที่มีสถานที่ท่องเที่ยวมีการขอเบิกงบประมาณสูงสุดราว 200 ล้านบาท บางกองบัญชาการได้งบ หลัก 100 ล้านบาท ฯลฯ
วิธรการปฏิบัตินั้นจะมีการโอนเบี้ยเลี้ยงให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติงานจริง มีการเบิกจ่ายเงินไปถึงมือตำรวจชั้นผู้น้อยที่ปฏิบัติงานโดยตรง ทว่าตำรวจชั้นผู้น้อยร้องเรียนกันระงมว่าการเบิกจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงโควิด (COVID-2019) นั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้เงินไม่ครบตามจำนวนที่เบิก หรือไม่ได้รับเงินตามที่มีการเบิกจ่ายจริง หรือมีการโอนเงินเข้าบัญชี แล้วให้ข้าราชการตำรวจเบิกเงินแล้วนำเงินมาคืน


บางพื้นที่ มีการสร้างพยานหลักฐานเท็จ โดยการขอให้ตำรวจชั้นผู้น้อยถอนเงินสดจากธนาคารมาคืนให้กับต้นสังกัด เช่นที่ สภ.เมืองลำปาง และมีการทำเอกสารระบุว่า เป็นการชดใช้เงินที่มีการกู้ยืมจากทางโรงพัก

เมื่อทาง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.ทราบเรื่องก็ตั้ง พล.ต.อ.วิสนุ เป็นปรานการตรวจสอบ แล้วพบว่า หลายแห่งดำเนินการที่ขัดกับหลักการว่าต้องโอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัวของเจ้าหน้าที่โดยตรง ใครโอนไปบัญชีอื่นใดก็ผิดหมด เพราะมีเส้นทางการเงินที่ชัดเจน จะอธิบายว่ามีการมอบอำนาจให้คนอื่นไม่ได้ 


แทบไม่น่าเชื่อว่าในการตรวจสอบมาระยะเวลา 3 เดือนนั้นพบว่า ผู้กระทำผิดส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่การเงินที่กระทำเป็นรายบุคคลทั้งหมด ไม่ใช่เครือข่าย บางแห่งอาจจะทุจริตทั้งจังหวัด บางแห่งอาจจะทุจริตกันเฉพาะโรงพัก 


โดยนับตั้งแต่ พล.ต.อ.วิสนุ ประสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ ได้มีหนังสือสั่งการ ด่วนที่สุด ที่ 0001(จตช)/021 ลงวันที่ 21 ต.ค.2563 ถึง ผบช.น., ผบช.ภ., ผบช.ภ.1-9, ผบช.ก., ผบช.ส., ผบช.สตม., ผบช.ตชด., ผบช.สพฐ., ผบช.รร.นรต. และ ผบช.ทท. เร่งรัดให้ผู้บัญชาการทุกหน่วยดังกล่าว รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่มีการร้องเรียนว่ามีการเบิกจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงโควิด (COVID-2019) แล้วข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้เงินไม่ครบตามจำนวนที่เบิก หรือไม่ได้รับเงินตามที่มีการเบิกจ่ายจริง หรือมีการโอนเงินเข้าบัญชี แล้วให้ข้าราชการตำรวจเบิกเงินแล้วนำเงินมาคืน โดยให้ทุกหน่วยเร่งรัดรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง และพิจารณาว่าเป็นไปโดยถูกต้องตามระเบียบ คำสั่ง หรือไม่ หากพบว่ามีการกระทำที่ผิดระเบียบ คำสั่ง หรือพบการทุจริต ก็ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ทั้งทางวินัยและอาญา และให้ทุกหน่วยรายงานผลการดำเนินการทั้งหมดให้ทราบภายในวันที่ 26 ต.ค.2563 


ขณะที่ “บิ๊กปั๊ด” พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.ซึ่งได้ติดตามเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยได้มาประชุมติดตามผลด้วยตัวเองถึง 2 ครั้ง ในช่วงเดือน พ.ย.- ธ.ค.2563 ได้สั่งการให้ พล.ต.ท.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผบช.สตส จัดกำลังชุดตรวจลงพื้นที่ตรวจคู่ขนานในหน่วยที่ถูกร้องเรียนอีกครั้ง ส่งผลให้ ทุก บช. มีการตรวจสอบเพิ่มเติม และ นำไปสู่การเพิ่มโทษทางวินัยจากเดิม ให้หนักขึ้นตามพฤติกรรม


ผลที่พบคือ แทบทุกกองบัญชาการภาค แทบทุกโรงพักมีการอมเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยที่ปฏิบัติงาน ตำรวจภูธรภาค 1 พบที่ จ.สระบุรี จ.นนทบุรี  มีการตั้งกรรมการสืบสวนสอบสวนแล้ว กองบญชาการตำรวจภูธรภาค 3 พบที่ จ.สุรินทร์


กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 พบที่ จ.เลย สภ.ท่าลี่ และอื่นๆ สภ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม

กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 พบที่ จ.เชียงราย กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 พบที่ สภ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช สภ.ป่าตอง จ.ภูเก็ต ขณะนี้ได้สั้งภาคทัณฑ์เจ้าหน้าที่ไปแล้ว


กองบัญชาการตำรวจภาค 6 กองบัญชาการตำรวจภาค 8 ได้มีการย้ายข้าราชการตำรวจที่ถูกพิจารณาโทษ ในระดับ ผกก. – สว. ออกจากพื้นที่ไปทำหน้าที่อื่น และห้ามีไม่ให้มีการย้ายผู้ที่ถูกย้าย กลับไปที่เดิมโดยเด็ดขาดไปแล้ว


กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 พบการอมเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ จ.พัทลุง
เรียกว่า ฉาวโฉ่ไปทั่วทั้งปฐพี 


บัดนี้การระบาดของเชื้อโควิด-19 รอบใหม่ ได้กระจายออกไปในทุกพื้นที่ ต้ออาศัยตำรวจสนับสนุนภารกิจ ทั้งการลาดตระเวน การตั้งจุดคัดกรอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรอย่างบิ่งที่จะนำบทเรียนจากความหละหลวมในรอบที่แล้วมาแก้ปัญหา


อย่าให้”หมาต๋า”ที่ไร้ศักดิ์ศรีมา “สูบเลือดสูบเนื้อ”ตำรวจตัวน้อยที่ทุ่มเทแรงกายปฏิบัติหน้าที่เพื่อคนในชาติเด็ดขาด

รายงานพิเศษ โดย พรานบุญ