Jack Ma หายตัว กับความเข้าใจเศรษฐกิจการเมืองของจีน

13 ม.ค. 2564 | 06:50 น.

Jack Ma หายตัว กับความเข้าใจเศรษฐกิจการเมืองของจีน : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,644 หน้า 5 วันที่ 14 - 16 มกราคม 2564

 

ในขณะที่สื่อนานาชาติกำลังให้ความสนใจกับการงดออกสื่อในทุกกรณีของ Jack Ma เจ้าของกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ Alibaba ภายหลังคำสั่งระงับการระดมทุนในรูปแบบ IPO ของบริษัท ANT Group (เดิมชื่อ ANT Financial) ซึ่งเคยถูกคาดการณ์ไว้ว่าจะเป็นการระดมทุนครั้งที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยมูลค่ากว่า 34.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (โดย ANT Group มีมูลค่าบริษัทอยู่ที่กว่า 313 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

 

สื่อต่างชาติมักจะพุ่งเป้าไปที่พฤติกรรม การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งแน่นอนว่าอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยเฉพาะการเปรียบเปรยธนาคารกลางของประเทศว่าทำงานเหมือนโรงรับจำนำ และผู้ควบคุมกฎกติกาในตลาดเงินเปรียบเสมือนคนขับรถไฟในวันที่ทุกคนเดินทางโดยเครื่องบิน 

 

แต่นั่นไม่น่าจะใช่เหตุผลทั้งหมด และในความเป็นจริง รอยร้าวระหว่างบริษัทขนาดใหญ่บนโลกออนไลน์ไม่ว่าจะเป็น Alibaba, Tencent, Baidu, JD ฯลฯ กับภาครัฐและแนวทางการดำเนินนโยบายของพรรคก็ดูเหมือนจะเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อเข้าใจปรากฎการณ์นี้ เราต้องเข้าใจเศรษฐกิจการเมืองของจีน

 

ประเทศจีนมีระบบเศรษฐกิจการเมืองที่เรียกว่า “ความคิดสังคมนิยมอัตลักษณ์จีนสำหรับยุคใหม่ ของ สี จิ้นผิง” ซึ่งมีคุณสมบัติสำคัญคือ จีนจะให้กลไกตลาดตามแบบทุนนิยมทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ระบบกรรมสิทธิ์ อุปสงค์ อุปทาน กลไกตลาดทำงานอย่างเต็มที่โดยภาคเอกชน ซึ่งมีรัฐวิสาหกิจของจีนทั้งในระดับเมือง มณฑล และรัฐบาลกลางร่วมเป็นผู้เล่นด้วย 

 

และในขณะเดียวกันก็มีความเป็นสังคมนิยม ที่รัฐบาลจีนจะวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ (แผน 5 ปี) ซึ่งปัจจุบันในปี 2021 กำลังจะมีการใช้แผนที่ 14 เพื่อกำหนดทิศทางและเป้าหมายว่ารัฐบาลจีน (และพรรคคอมมิวนิสต์จีน) ต้องการให้ระบบเศรษฐกิจเดินไปในทิศทางไหน และเมื่อใดก็ตามการทำงานของกลไกตลาดทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาหลุดออกจากแนวทางที่รัฐบาลวางไว้ เมื่อนั้นรัฐบาลก็จะเข้ามาเป็นมือที่มองเห็นหยิบจับนำพาให้ดุลยภาพของกลไกตลาดที่หลุดออกจากแนวทางกลับเข้าสู่แนวทางที่วางไว้ แล้วจึงปล่อยให้กลไกตลาดทำงานต่อไป 

 

โดยปรัชญาที่สำคัญที่สุดในการวางแนวทางและเป้าหมายของรัฐบาลจีน มี 2 ข้อ ซึ่งสอดประสานเกื้อกูลซึ่งกันและกัน นั่นคือ

 

1) พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีภาวะผู้นำเหนือทุกองคาพยพ ของประเทศจีน

 

และ 2) พรรคคอมมิวนิสต์ต้องดำเนินนโยบายทั้งหมดโดยมีประชาชนเป็นจุดศูนย์กลางเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน

 

และสำหรับพรรคคอมมิวนิสต์ ภัยคุกคามทางด้านความมั่นคงที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ การที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข่าวสารข้อมูลโดยไม่มีข้อจำกัด ตลอดประวัติศาสตร์จีน รัฐจีนไม่เคยพังทลายเพราะพลังภาย นอก หากแต่ล่มสลายเพราะประชาชนจีนที่เข้าถึงข่าวสารข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นความพ่ายแพ้ของก๊กมินตั๋งต่อพรรคคอมมิวนิสต์ 

 

 

Jack Ma หายตัว  กับความเข้าใจเศรษฐกิจการเมืองของจีน

 

 

การล่มสลายของระบอบจักรพรรดิราชวงศ์ต่างๆ ในอดีต ก็ล้วนล่มสลายโดยประชาชนที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ดังนั้นกรมการเมือง (Politburo) ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของจีนจึงต้องนั่งเป็นประธานในกรรมการชุดเล็ก (Leading Small Group: LSG) ที่มีทั้งหมด 11 ด้านที่สำคัญที่สุดของจีน และ 1 ใน 11 ด้านคือ กลุ่มที่ปรึกษาด้านความมั่งคงทางอินเตอร์เน็ตและข้อมูลข่าวสาร (LSG for Internet Security and Information)

 

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็นในช่วงปลายของทศวรรษ 1990 จีนเริ่มใช้ระบบ The Great Firewall ซึ่งทำหน้าที่ปิดกั้นไม่ให้ผู้ใช้อินเตอร์เนตจีนสามารถเข้าถึงข่าวสารข้อมูลที่ทางการคิดว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐได้ และหลังกำแพงนี้เองที่รัฐบาลจีนก็ส่งเสริมให้คนอย่าง Jack Ma, Pony Ma, Robin Li, และ Liu Qiangdong ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง Alibaba, Tencent, Baidu และ JD เติบโตขึ้นมาจนกลายเป็นบริษัท Tech ระดับโลก ในช่วงเกือบ 30 ปี ที่บริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทที่ทางการจีนก็สนับสนุนด้วยความภาคภูมิใจในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิพิเศษในการทำธุรกิจ ข้อมูล กฎระเบียบ เงินทุน ฯลฯ

 

 

 

แต่วันนี้ลูกรักอาจจะกำลังเป็นภัยคุกคามโดยเฉพาะทั้งต่อรัฐบาล พรรคคอมมิวนิสต์ และประชาชน ทั้งนี้เพราะเมื่อบริษัทเหล่านี้เริ่มทำธุรกิจในระดับนานาชาติ มาตรฐานหลายๆ อย่างในระดับโลก อาจจะเป็นคนละมาตรฐานกับเงื่อนไขและบริบทของสังคมจีน อาทิ ในจีน ข้อมูลของผู้ใช้บริการ คือทรัพย์สินของสาธารณะที่รัฐบาลสามารถเข้าถึงได้ 

 

แต่เมื่อรัฐของข้อมูลผู้ใช้งานจากบริษัทเหล่านี้ พวกเขากลับไม่สามารถให้ข้อมูลกับภาครัฐได้ เพราะจะกระทบต่อภาพลักษณ์การทำงานในระดับสากล หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชน เช่น การสนับสนุนให้เกิดการแข่งขัน การป้องกันการผูกขาด ซึ่งรัฐจีนและพรรคต้องปกป้องเพื่อรักษาปรัชญาทั้ง 2 ข้อที่กล่าว ไปแล้วข้างต้น แต่เรากลับเห็นการดำเนินกิจการของกลุ่มบริษัทเหล่านี้ที่พยายามสร้าง Ecosystem ของตนเองเพื่อสร้างอำนาจผูกขาด และกีดกันไม่ให้ผู้เล่นรายใหม่ โดยเฉพาะ SMEs ได้มีโอกาสเข้าสู่ตลาด

 

จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็น State Administration for Market Regulation ออกมาระงับและควบคุมการทำกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัทเหล่านี้ โดยมองว่าบริษัทเหล่านี้เป็นภัยคุกคามต่อตลาดจีน เพราะ 

 

1) บริษัทเหล่านี้ขยายตลาดโดยวิธีการขายสินค้าตํ่ากว่าทุน ขายสินค้าตํ่ากว่าราคาที่ควรจะเป็นจริง ทำให้คู่แข่งล้มหายตายจาก เพื่อให้ตนเองสามารถผูกขาดได้ 

 

2) บริษัทเหล่านี้มีข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าที่สามารถเข้าถึงได้เฉพาะบริษัทของตน และยังใช้การวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า เพื่อให้ได้เปรียบ โดยที่บริษัทอื่นๆ ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม และหลายๆ กรณียังเป็นการบิดเบือน (Manipulate) กลไกการตัดสินใจของผู้บริโภคอีกด้วย 

 

และ 3) บริษัทเหล่านี้มักจะทำสัญญากับผู้ผลิตสินค้าในรูปแบบ Exclusive Deal นั่นคือ ใครอยากขายกับ platform ไหนก็ห้ามไปขายสินค้าอย่างเดียวกันให้กับ platform อื่นๆ ซึ่งถือเป็นการผูกขาดและยังกีดกันไม่ให้รายย่อยได้มีโอกาสขายสินค้าในช่องทางที่หลากหลาย 

 

รวมทั้งผู้บริโภคก็ยังไม่สามารถซื้อสินค้าได้จาก platform ที่หลากหลายที่มีการแข่งขัน ทางการจีนให้เหตุผลในการเข้าควบคุมและจำกัดขอบเขตการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทเหล่านี้ 3 ข้อ นั่นคือ

1) เพื่อสนับสนุนให้เกิดการแข่งขัน

2) เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

และ 3) เพื่อป้องกันการผูกขาด

 

 

 

ต้องอย่าลืมนะครับว่าปี 2021 คือปีเฉลิมฉลอง 100 ปีของการสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์จีน จีนประกาศชัยชนะไปแล้วว่าปี 2021 จีนจะไม่มีประชาชนอยู่ใต้เส้นขีดความยากจนอีกต่อไป นั่นคือความสำเร็จ ที่มาพร้อมกับภารกิจใหม่ นั่นคือ การพัฒนาชนชั้นกลาง ซึ่งเขาเหล่านี้คือผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้ซื้อ ที่เป็นรายย่อย และต้องได้รับการคุ้มครองบนโลกออนไลน์ เช่นเดียวกับที่ต้องสร้างโอกาสให้พวกเขาได้มีโอกาสเจริญเติบโต 

 

ดังนั้นบริษัท Tech ยักษ์ใหญ่ ซึ่งเคยเป็นลูกรัก วันนี้อาจจะไม่ใช่ลูกคนโปรดอีกต่อไป ในขณะเดียวกัน หากการ IPO ของบริษัทเหล่านี้จะทำให้ชนชั้นกลางเรือนล้านต้องมาเฝ้าคอยจับจ้องไม่เป็นอันกินอันนอน เพียงเพื่อจะให้ตัวเองได้มีสิทธิ์ในการจองซื้อหุ้น และหลายๆ คนก็กำลังวางแผนที่จะเก็งกำไรโดยไม่สนใจพื้นฐานอีกต่อไป และบริษัทเองก็สามารถ Manipulate มวลชนได้มาก มายเหล่านี้ คือ ภัยคุกคามแห่งรัฐ

 

คงไม่ต้องแปลกใจแล้วว่าทำไปผู้เคราะห์ร้ายในการถูกสั่งในระงับการดำเนินกิจกรรมคือ Jack Ma ที่ดันไปปากเสียตำหนิพรรคในวันที่เขากำลังจะจัดแซยิด และนั่นก็คงทำให้ผู้บริหารบริษัทยักษ์ๆ เหล่านี้คงต้องหายหน้าหายตา เก็บตัว คิดงาน หาโอกาส ประสานกับทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน เพื่อปรับตัวรับกับสิ่งแวดล้อมใหม่ที่กำลังจะเกิด เพราะบริษัทเหล่านี้แต่เดิมเคยไป Disrupt คนอื่นๆ แต่วันนี้พวกเขาก็กำลังถูก Disrupt เช่นกัน