พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง มีพยานคนเดียว-เป็นโมฆะ?

09 ม.ค. 2564 | 04:00 น.

 

 

คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย นายปกครอง

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,643 หน้า 5 วันที่ 10 - 13 มกราคม 2564

 

 

พินัยกรรมมีหลายรูปแบบ... ตามแต่ความประสงค์ของผู้จัดทำ เช่น พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ พินัยกรรมแบบเอกสารลับ พินัยกรรมแบบทำด้วยวาจา โดยแต่ละแบบก็จะมีวิธีการจัดทำที่แตกต่างกันไป ซึ่งผู้จัดทำจำเป็นต้องศึกษาให้ดีก่อน เพราะพินัยกรรมแต่ละแบบจะต้องทำให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้จึงจะมีผลใช้บังคับได้

สำหรับ “พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง” นั้น ก็เป็นพินัยกรรมรูปแบบหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยม เนื่องจากเป็นพินัยกรรมที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามามีส่วนในการจัดทำด้วย ผู้ทำย่อมอุ่นใจว่าถูกต้องใช้ได้อย่างแน่นอน

คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครองฉบับนี้... จึงเป็นเรื่องราวปัญหาเกี่ยวกับการจัดทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง อันเป็นข้อเตือนใจในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีหน้าที่จัดทำพินัยกรรมดังกล่าว

กรณีนางชื่นใจ ซึ่งเป็นมารดาของนายสมบัติ ได้ยื่นคำร้องขอทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองต่อนายอำเภอ ซึ่งขณะนั้นปลัดอำเภอได้รักษาราชการแทนนายอำเภอ โดยพินัยกรรมระบุข้อความว่า ถ้านางชื่นใจถึงแก่ความตาย จะยอมยกที่ดิน น.ส. 3 ก. ทั้งแปลงให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ นายสมบัติ รวมทั้งขอมอบพินัยกรรมและขอแต่งตั้ง นายสมบัติ เป็นผู้จัดการมรดก

ต่อมาเมื่อ นางชื่นใจ ถึงแก่ความตาย นายสมบัติ จึงได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก และศาลจังหวัดได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ นายสมบัติ เป็นผู้จัดการมรดก ส่วนพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ที่นางชื่นใจได้ทำไว้ ปรากฏว่ามีนางสวย เจ้าหน้าที่ปกครองชำนาญงาน ลงลายมือชื่อเป็นพยานคนเดียว (ตามกฎหมายต้องมีพยานอย่างน้อย 2 คน) และปลัดอำเภอได้ลงลายมือชื่อในฐานะกรมการอำเภอ แต่ไม่ได้ประทับตราตำแหน่งไว้ พินัยกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ทรัพย์มรดกของนางชื่นใจ จึงต้องนำมาแบ่งแก่ทายาททั้ง 9 คน ทำให้นายสมบัติไม่ได้รับที่ดินทั้งแปลงตามที่ระบุในพินัยกรรม !! 

เรื่องนี้ นายสมบัติผู้เสียประโยชน์ เห็นว่า การที่พินัยกรรมตกเป็นโมฆะ เกิดจากความจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการปฏิบัติหน้าที่ของปลัดอำเภอ จึงยื่นฟ้องกรมการปกครอง ต่อศาลปกครอง ขอให้กรมการปกครอง (หน่วยงานต้นสังกัด) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตนเอง

ประเด็นที่น่าสนใจคือ การที่พินัยกรรมฉบับดังกล่าวตกเป็นโมฆะ เป็นการกระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของปลัดอำเภอหรือไม่ ?

 

 

 

 

คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยสรุปความได้ว่า พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ตามมาตรา 1658 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นรูปแบบที่ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งก็คือ นายอำเภอ เป็นผู้จดบันทึกข้อความตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรม เพื่อมุ่งให้พินัยกรรมนั้นมีความถูกต้อง ครบถ้วน และสมบูรณ์ มีผลบังคับได้ตามเจตนาของผู้ทำพินัยกรรม โดยต้องมีพยานอย่างน้อย 2 คน

เมื่อ นางชื่นใจ ประสงค์จะทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ซึ่งขณะนั้นปลัดอำเภอ ได้รักษาราชการแทนนายอำเภอ จึงมีหน้าที่ในการจัดทำและต้องตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของพินัยกรรมที่ตนได้จัดทำให้ผู้ร้องขอว่า มีรายการครบถ้วนสมบูรณ์ ตามที่มาตรา 1658 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (3) กำหนดไว้หรือไม่ ก่อนที่ตนจะลงนามและประทับตราประจำตำแหน่งในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้ทำพินัยกรรมตามที่มาตรา 1658 วรรคหนึ่ง (4) กำหนด

 

 

พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง มีพยานคนเดียว-เป็นโมฆะ?

 

 

เมื่อพินัยกรรมดังกล่าวมี นางสวย ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะพยานเพียงคนเดียว และปลัดอำเภอได้ลงลายมือชื่อในฐานะกรมการอำเภอ ผู้มีหน้าที่จดข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งให้ทราบ แต่ไม่ได้ประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ พินัยกรรมดังกล่าวจึงขัดกับมาตรา 1658 และตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ดังนั้น การกระทำของปลัดอำเภอจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นเหตุให้พินัยกรรมตกเป็นโมฆะ ถือเป็นการกระทำละเมิดต่อนายสมบัติ ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรมการปกครองจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายสมบัติ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 732/2562)

 

 

 

 

คดีดังกล่าว... นับว่าเป็นอุทาหรณ์ให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีหน้าที่จัดทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังและละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบความถูกต้องตามมาตรา 1658 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น ข้อความที่ระบุถูกต้องตรงตามความประสงค์ของผู้จัดทำพินัยกรรม มีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน ผู้ทำพินัยกรรมได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อ วัน เดือน ปี พร้อมประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญด้วย 

ทั้งนี้ เพราะการจัดทำพินัยกรรมถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่ส่งผลเสียหายต่อผู้รับประโยชน์ตามพินัยกรรมหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อกรมการปกครองได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายแล้ว ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยกับเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดได้ (ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355)