เทคโนโลยีดิจิทัล ชี้ชะตาธุรกิจปี 2564 ใครจะอยู่ ใครจะไป

08 ม.ค. 2564 | 01:00 น.

 

 

คอลัมน์บทความ โดย เกลนน์ ฟิตซ์เจอรัลด์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูล กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ประจำภาคพื้นยุโรปของฟูจิตสึ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,643 หน้า 5 วันที่ 10 - 13 มกราคม 2564

 

 

ความเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้นในช่วงปี 2563 จนไม่สามารถอธิบายได้หมด แต่ที่สำคัญก็คือ หลายสิ่งหลายอย่างที่เปลี่ยนไปจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยน แปลงครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2564

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2563

ออนไลน์ช้อปปิ้งและออนไลน์แบงก์กิ้งได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง แน่นอนว่านี่อาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับผู้ใช้ที่คุ้นเคยกับระบบดิจิทัลและได้เริ่มซื้อสินค้าทางออนไลน์ตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1990 แต่การแพร่ระบาดทั่วโลกของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเริ่มต้นใช้บริการธนาคารและสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์  

ในประเทศที่มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ราว 70% ของลูกค้าที่เคยซื้อสินค้าในห้างเปลี่ยนไปใช้ระบบออนไลน์ และหลายๆ คนก็ยังคงมีพฤติกรรมเช่นนี้ต่อไปหลังจากที่การแพร่ระบาดสิ้นสุดลง ส่งผลให้ผู้ค้าปลีกออนไลน์เดินหน้าเสริมทัพกันอย่างจริงจังในช่วงปี 2563 เพราะความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างมากทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้นตามไปด้วย คำพูดที่ว่าคุณอยู่ห่างจากคู่แข่งเพียงแค่หนึ่งคลิกได้กลายเป็นแรงจูงใจและภัยคุกคามสำหรับหลายๆ ธุรกิจ

การปฏิรูปบริการภาครัฐและการศึกษาเริ่มต้นขึ้นในท้ายที่สุด ในหลายๆ ประเทศ การแพร่ระบาดส่งผลให้ภาครัฐดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัล เพราะประชาชนไม่สามารถเดินทางไปขอรับบริการที่หน่วยงาน ได้โดยตรง จึงจำเป็นต้องอาศัยช่องทาง ออนไลน์ แน่นอนว่ายังต้องมีการพัฒนาอีก มาก แต่อย่างน้อยก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี  

และในทำนองเดียวกัน สถานศึกษา หลายแห่งก็จำเป็นต้องเริ่มปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลเช่นกัน โดยในหลายๆ กรณี เป็นเพียง แค่การเริ่มต้นใช้ระบบ Video Conferencing และแท็บเล็ตเท่านั้น ซึ่งการพัฒนาในส่วนนี้ยังมีหนทางอีกยาวไกล และขณะเดียวกันการศึกษาออนไลน์จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ ซึ่งมีการถกเถียงกันเรื่องนี้ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

ร้านอาหาร ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดมากที่สุด จำเป็นต้องสร้างสรรค์นวัตกรรมหลายต่อหลายครั้ง เช่น การเริ่มใช้ระบบสั่งอาหารผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกค้าส่งต่อใบปลิวเมนูสำหรับการสั่งออเดอร์ทางดิจิทัลและการจัดส่งอาหาร

ผู้ชนะในปี 2563 ได้แก่ บริษัทที่สามารถเสริมสร้างหรือใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานไอที เราเห็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่บริษัทโลจิสติกส์ที่ปรับปรุงบริการขนส่งสินค้า ไปจนถึงแพทย์ที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยผ่านทางวิดีโอ  ในหลายๆ กรณี การแพร่ระบาดก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงต่อระบบเก่า ซึ่งจำเป็นที่จะต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อความอยู่รอด

อย่างไรก็ดี เมื่อมีผู้ชนะ ก็ย่อมต้องมีผู้แพ้เช่นกัน และในปี 2564 แนวโน้มที่ว่านี้จะมีความชัดเจนเพิ่มมากขึ้น:

ประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัลจะสูญเสียโอกาสอย่างมาก กลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม เช่น ผู้สูงอายุและคนยากจน จะกลายเป็นผู้สูญเสียประโยชน์ เมื่อดิจิทัลกลายเป็นช่องทางหลักสำหรับการให้บริการ  ใครก็ตามที่ไม่สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนด้วยตนเองหรือไม่รู้วิธีใช้ จะเสียเปรียบเพิ่มมากขึ้นในช่วงปี 2564 และจะส่งผลให้เกิดช่องว่างทางสังคมเพิ่มมากขึ้น โดยคนที่ยังคงติดค้างอยู่ในโลกอนาล็อกจะกลายเป็นผู้แพ้ในท้ายที่สุด

พนักงานออฟฟิศที่ทำงานประจำ ซํ้าๆ จะเสี่ยงต่อการตกงานเนื่องจากการปรับเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัล นับเป็นครั้งแรกที่พนักงานออฟฟิศจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยจะต้องกลายเป็นคนตกงานและไม่สามารถหางานใหม่ได้  สำหรับงานทั่วไปอย่างเช่นการประเมินความเสี่ยงด้านประกันภัย คอลล์เซ็นเตอร์ และศูนย์บริการ ระบบอัตโนมัติกำลังได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเป็นผลมาจากการขับเคลื่อนของเทคโนโลยี AI และ Machine Learning  

กล่าวอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ระบบอัตโนมัติจะเข้ามาแทนที่บุคลากรที่ทำงานเหล่านี้ อนาคตสำหรับพนักงานกลุ่มนี้ค่อนข้างจะมืดมน เพราะหลายๆ คนไม่เต็มใจที่จะเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อปรับเปลี่ยนทักษะ และจะว่าไปแล้ว ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะฝึกอบรมพนักงานภายในเวลาไม่กี่เดือนเพื่อให้เปลี่ยนไปทำงานอื่นแทนในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เพราะจะต้องใช้เวลาหลายปีในการสั่งสมประสบการณ์สำหรับการเข้าทำงานในตำแหน่งที่ให้ค่าตอบแทนสูง  

สุดท้ายแล้ว คนที่ได้รับผลกระทบ จากการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลก็จะถูกปล่อยทิ้งไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

เทคโนโลยีดิจิทัล ชี้ชะตาธุรกิจปี 2564 ใครจะอยู่ ใครจะไป

 

 

 

 

ไม่มีทางหวนกลับไปสู่การทำงานรูปแบบเดิมที่พนักงานจำนวนมากทำงานร่วมกันในออฟฟิศ ถ้าคุณเคยทำงานในออฟฟิศและในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา คุณต้องทำงานจากที่บ้าน ก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องยอมรับการทำงานในลักษณะนี้เป็นการถาวรในระยะยาว  

หลายๆ บริษัท รวมถึงฟูจิตสึ ได้สำรวจความต้องการเกี่ยวกับพื้นที่สำนักงานในหลากหลายแง่มุม และปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม ซึ่งนั่นหมายความว่าต่อจากนี้ไปบุคลากรที่มีความรู้ทุกคนจะต้องมองหาพื้นที่ทำงานที่เงียบสงบ ไม่ถูก รบกวน มีแบนด์วิธที่เพียงพอเพื่อรองรับการประชุมผ่านวิดีโอและการใช้เครื่องมือสำหรับการทำงานร่วมกันผ่านทางออนไลน์ได้อย่างราบรื่น เนื่องจากตอนนี้ไม่มีโต๊ะทำงานประจำในออฟฟิศอีกต่อไป ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องวางแผนและจัดเตรียมสถานที่สำหรับการทำงานจากที่บ้านในลักษณะถาวรมากขึ้น เพราะการนั่งนอนเอกเขนกที่ขอบเตียง บนโซฟา หรือนั่งทำงานที่โต๊ะกินข้าวไม่ใช่แนวทางที่ยั่งยืน

ความเร็วอินเทอร์เน็ตจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการกำหนดราคาบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบท ในอดีตความพร้อมของบริการขนส่งสาธารณะคือตัวกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ชานเมือง แต่เนื่องจากปรากฏการณ์คนหนีเมือง (De-urbanization) เริ่มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นปัจจัยตัวใหม่ที่ส่งผลต่อราคาบ้านก็คือ แบนด์วิธสำหรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ด้วยเหตุนี้ชุมชนในชนบทที่ลงทุนขยายแบนด์วิธจะ มีมูลค่าอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างสอดคล้องกัน

อาคารในพื้นที่ใจกลางเมืองใหญ่จะพบเจอการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกระลอกหนึ่ง ปรากฏการณ์พื้นที่สำนักงานมีผู้เช่าลดลงกว่า 20% เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เราได้พบเห็นการโยกย้ายถิ่นฐานสู่พื้นที่ชานเมืองกันอย่างกว้างขวางในช่วงปี 2563 เพราะคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่เริ่มตระหนักว่าตนเองไม่ได้รับประโยชน์มากนักจากการใช้ชีวิตในเมือง ก็แล้วทำไมจะต้องทนลำบากอาศัยอยู่ในคอนโดสูงที่แออัดยัดเยียด ในเมื่อคุณไม่จำเป็นต้อง หาทำเลใกล้ออฟฟิศอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ อาคารสำนักงานในเมืองอาจจะว่างเปล่ามากขึ้น อย่างน้อยก็จนกว่าจะมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่สำนักงานให้กลายเป็นพื้นที่อยู่อาศัย

 

 

 

 

การเปลี่ยนย้ายจากค่าใช้จ่ายด้านทุนไปสู่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจะเกิดขึ้นรวดเร็วมากขึ้น คุณจะจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อซื้อหรือเช่าพื้นที่สำนักงานราคาแพงใจกลางเมืองไปทำไม ในเมื่อคุณสามารถเช่าโต๊ะหรือพื้นที่ทำงานในแบบออนดีมานด์เพื่อให้สอดรับกับความต้องการที่หลากหลายของคุณ กรณีเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับเทคโนโลยีเช่นกัน 

กล่าวคือ บริษัทต่างๆ กำลังเปลี่ยน แปลงรูปแบบการใช้เทคโนโลยี จากเดิมที่เป็นการซื่ออุปกรณ์ที่มีอายุการใช้งาน 3-5 ปี ก็หันไปใช้รูปแบบการคิดค่าใช้จ่ายตามการใช้งานจริง ด้วยเหตุนี้ คุณจึงควรเตรียมพร้อมรับมือกับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของดาต้าเซ็นเตอร์ที่ติดตั้งในองค์กร ซึ่งมีการปรับใช้บริการคลาวด์กันอย่างรวดเร็วมากขึ้น

ปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวและสหพันธรัฐอาจทำให้การพัฒนาช้าลง ปัญหานี้มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในเยอรมนี ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นส่วนตัวมากกว่าประเทศอื่นๆ โดยนับเป็นภัยคุกคามที่จะขัดขวางความก้าวหน้าทางด้านดิจิทัล  ในเรื่องความเป็นส่วนตัวนั้น เราจะต้องกำหนดมาตรฐานสำหรับกฎหมายว่าด้วยข้อมูลส่วนตัวสำหรับประเทศต่างๆ ในยุโรป เพื่อให้ GAIA-X ซึ่งเป็นบริการดิจิทัลของยุโรป กลายเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับผู้ให้บริการคลาวด์ในระดับ Hyperscaler ของสหรัฐฯ

กล่าวโดยสรุปก็คือ ผู้ชนะในปี 2563 มองออกแล้วว่าความสำเร็จจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรในปี 2564 องค์กรที่จัดการกับข้อมูลและเทคโนโลยีอย่างรอบด้านและครบวงจรจะมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งอย่างมาก ขณะที่เทคโนโลยีกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจ แนวทางที่แยกเป็นส่วนๆ สำหรับการพัฒนาและจัดการโครง สร้างพื้นฐาน บริการ และแอพพลิเคชั่น จะกลายเป็นภาระที่หนักอึ้งสำหรับองค์กรในท้ายที่สุด 

องค์กรที่จะประสบความสำเร็จในปี 2564 ได้แก่บริษัทที่ปรับใช้แนวทางที่มุ่งเน้นโซลูชั่นและฟังก์ชั่นเป็นหลัก โดยครอบคลุมทีมงานและฐานความรู้จำนวนมาก และอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรชั้นนำอย่างเช่นฟูจิตสึ เพื่อเชื่อมโยงการดำเนินงานในส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน และก่อให้เกิดภาพรวมที่สมบูรณ์แบบ ปี 2564 คือช่วงเวลาที่คุณจะต้องระดมกำลังจากข้อมูลและทรัพยากรทางด้านเทคโนโลยีทั้งหมดที่คุณมีอยู่และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด