วัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม (Culture of Innovation)

07 ม.ค. 2564 | 01:20 น.

 

 

คอลัมน์เศรษฐกิจอีกนิด ก็หลักสี่(.ศูนย์)  โดย ผศ.ดร.ศรายุทธ เรืองสุวรรณ คณะบริหารธุรกิจ ม.เกษตรศาสตร์

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,642 หน้า 5 วันที่ 7 - 9 มกราคม 2564

 

 

เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเป็นผู้ร่วมเสวนาของการประชุมว่าด้วยเรื่องของวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม (Culture of Innovation) ซึ่งจัดโดยไมโครซอฟท์ประเทศไทย เนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญของงานเป็นเรื่องของการปรับตัวขององค์กรทางธุรกิจหลังจากเจอพายุวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนล้มระเนระนาด กว่าจะตั้งหลักแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาก็ปาเข้าไปร่วมๆ 2 เดือน การเสวนาครั้งนี้มีการแสดงผลสำรวจภาคเอกชนที่จัดทำโดยไมโครซอฟท์และไอดีซี และวิถีแห่งการสร้างสรรค์ความเป็นนวัตกรรมขององค์กร โดยเฉพาะองค์กรดิจิทัล เพื่อที่จะฝ่าวิกฤติไปได้โดยไม่ยากลำบากนัก

หากกล่าวถึงคำว่า “นวัตกรรม” สังคมไทยรู้จักคำนี้มาไม่น้อยกว่า 20 ปีแล้ว เพราะโรงเรียนบริหารธุรกิจในประเทศไทยพรํ่าสอนเรื่องของการสร้างสรรค์นวัตกรรมมาเป็นสิบๆ ปี แต่ในภาคธุรกิจ การสร้างสรรค์นวัตกรรมอาจจะยังไม่แพร่หลายเพียงพอจนสร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขันให้กับประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม เราจึงแทบไม่เห็นบริษัทสัญชาติไทยก้าวสู่ตลาดโลกด้วยนวัตกรรมเลย นอกจากนี้ เราพูดถึงเรื่องของการปรับเปลี่ยนไปสู่ความเป็นดิจิทัลกันไม่น้อยกว่า 10 ปี กระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัลเป็นไปอย่างล่าช้าและอืดอาด แต่ทันทีที่เกิดวิกฤติโควิด-19 บริษัทต่างๆ ก็เริ่มหันหาโซลูชั่นของเทคโนโลยีที่จะทำให้ธุรกิจเดินไปได้อย่างเร่งด่วน จนหลาย คนบอกว่า จริงๆ แล้ว Digital Transformation ถูกขับเคลื่อนโดยโควิด-19 นั่นเอง 

แต่วันนี้ธุรกิจไม่สามารถที่จะเลือกที่จะสร้างนวัตกรรมได้ แต่ “นวัตกรรม” กลายเป็นเรื่องจำเป็นหรือนโยบายภาคบังคับที่บริษัทจะต้องสร้างขึ้นให้ได้ ในหลายๆ ประเทศ องค์กรทางธุรกิจต่างตื่นตัวและเร่งสร้างบรรยากาศการทำงานที่เอื้ออำนวยให้องค์กรมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์จนสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ในระยะเวลาเร็วกว่าอดีตอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การสร้างช่องทางออนไลน์เพื่อให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อได้ ทั้งๆ ที่ในอดีตบริษัทมิได้สนใจช่องทางการจัดจำหน่ายประเภทนี้เลย เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทต่างๆ ก็เริ่มละทิ้งปรัชญาการทำงานพื้นฐานในอดีตที่ใช้การเข้างานและการทำงานที่สำนักงานเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพของการทำงาน แต่หันกลับมายึดหลักแห่งผลลัพธ์ของงานแทนที่ความคิดเดิม ทั้งๆ ที่โรงเรียนบริหารธุรกิจสอนถึงเรื่อง Pay for Performance ไม่ใช่ Pay for Presence มานานมากแล้ว การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของภาคธุรกิจถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยเลย

การสำรวจที่จัดทำโดยไมโครซอฟท์และไอดีซีเกี่ยวกับ “Culture of Innovation: Foundation for business resilience and economic recovery in Asia Pacific” ให้ผลสำรวจที่มีนัยสำคัญ เกี่ยวกับการปรับตัวของธุรกิจ ซึ่งสำรวจจากผู้บริหารจำนวน 3,312 คน และพนักงาน 3,495 คน ซึ่งครอบคลุม 15 ประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก ผลสำรวจของประเทศไทยระบุว่า 40% ขององค์กรไทยคิดว่า โควิด-19 เป็นโอกาสที่องค์กรจะสร้างรายได้ให้เติบโตเร็วกว่าคู่แข่งและ ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดขององค์กรสูงขึ้นด้วย องค์กรที่คิดแบบนี้เป็นองค์กรที่เปิดรับกับวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรมเพื่อสร้างความสามารถทางการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ไม่เพียงเท่านั้น ประชาคมธุรกิจก็เริ่มตระหนักแล้วว่า นับจากนี้เป็นต้นไป โมเดลทางธุรกิจที่พวกเขาเคยใช้สร้างกำไรจะต้องถูกทำลายในระยะเวลาไม่นาน ซึ่งการตระหนักเช่นนี้ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่สมาชิกขององค์กรจะกลับมาพิจารณาว่า องค์กรพวกเขาจะสร้างความโดดเด่นเพื่อจะยืนอยู่ในตลาดต่อไปได้อย่างไร

 

 

 

 

ประเด็นถัดมาที่ไมโครซอฟท์เรียกความสนใจอย่างมาก คือ สูตรสำเร็จ 4x4 ที่จะสร้างหรือปรับองค์กรให้ไปสู่วัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม ซึ่งประกอบไปด้วยคน (People) กระบวนการทำงาน (Process) ข้อมูล (Data) และเทคโนโลยี (Technology) จะเห็นได้ว่า การสร้างบรรยากาศแห่ง นวัตกรรมมิใช่เรื่องของเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่นอีก 3 ประการที่สอดประสานกับเทคโนโลยีที่จะพาองค์กรไปสู่กุญแจแห่งประตูนวัตกรรม ดังนั้นหากองค์กรมัวแต่หลงทางกับการพัฒนาเทคโนโลยี องค์กรนั้นก็ยากที่จะบรรลุความเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมอย่างแน่แท้

เรื่องแรกที่องค์กรแห่งนวัตกรรมควรให้ความสำคัญ คือ “คน” เพราะคนเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์ ผู้บริหารจะต้องให้การสนับสนุนให้เขาคิดนอกกรอบ แม้ว่าจะไม่สำเร็จ แต่ก็ถือได้ว่ามีส่วนร่วมในการพัฒนา ผู้บริหารต้องสร้างแรงจูงใจที่จะให้เขาพัฒนานวัตกรรมให้เกิดขึ้น รวมทั้งมีระบบการประเมินผลที่ชัดเจนสำหรับการริเริ่มนวัตกรรม นอกจากนี้ ผู้บริหารควรจัดให้องค์ประกอบของบุคลากรมีความหลากหลายเพื่อให้เกิดแนวคิดที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งสนับสนุนให้คนเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ โดยเฉพาะสิ่งที่มีอิทธิพลกับความอยู่รอดขององค์กรหรือการเพิ่มศักยภาพขององค์กร

 

 

วัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม (Culture of Innovation)

 

 

เรื่องที่สอง ผู้บริหารควรให้ความสำคัญกับ “กระบวนการ” ที่ส่งเสริมและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่องค์กร กระบวนการใดที่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นระบบอัตโนมัติได้ก็ควรที่จะทำให้เสร็จ หากผู้บริหารสามารถผสมผสานกระบวนการเข้ากับนวัตกรรมจะช่วยให้กระบวนการทำงานอันนั้นมีคุณค่าอย่างมาก และหากองค์กรสามารถวางโครงสร้างของการทำงานให้เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมก็จะยิ่งทำให้องค์กรนั้นเสมือนติดปีกของสมรรถนะในการสร้างนวัตกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย

 

 

 

 

เรื่องถัดมาเป็นเรื่องที่ยอดนิยมในปัจจุบัน คือ “ข้อมูล” การใช้ข้อมูลจะช่วยให้องค์กรสามารถสร้างสรรค์วัฒนธรรมที่มุ่งสู่การสร้างนวัตกรรมได้เป็นอย่างดี เพราะข้อมูลจะช่วยยกระดับ พัฒนา ปรับแต่ง  และตรวจสอบสินค้าและบริการของตนเพื่อเพิ่มความประทับใจในประสบการณ์การใช้สินค้าและบริการของลูกค้าอย่างดีเยี่ยม ดังนั้น องค์กรต้องวางแนวทางและแผนงานที่ชัดเจนที่จะจัดเก็บและนำข้อมูลมาใช้ในการบริหารงานอย่างทันท่วงที

เรื่องสุดท้ายก็คงหนีไม่พ้น “เทคโนโลยี” เราไม่สามารถปฏิเสธความจำเป็นของเทคโนโลยีในโลกยุคใหม่ได้แล้ว ดังนั้น หากไม่คิดที่จะนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์เพื่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ องค์กรนั้นก็คงเดินสู่จุดจบในไม่ช้า แม้แต่ร้านข้าวแกงหน้าบ้านยังใช้แพลตฟอร์มส่งอาหารเพื่อขยายตลาด แล้วทำไมองค์กรที่ทำธุรกิจใหญ่กว่าจึงไม่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเล่าแต่ประเด็นสำคัญ คือ องค์กรต้องมุ่งค้นหาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ตนเอง ไม่ใช่เทคโนโลยีที่แห่ใช้ตามแฟชั่น ซึ่งนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังสร้างปัญหาทบเท่าทวีคูณเสียอีก

วันนี้เราคงต้องยอมรับว่า “นวัตกรรม” คือ หัวใจของการสร้างธุรกิจ หากองค์กรใดหยุดนิ่งก็คงเตรียมปิดประตูลาได้เลย แต่ก็ไม่ใช่ทุกองค์กรจะเข้าใจหรือสร้างวัฒนธรรมได้โดยง่าย หน้าที่ที่ผู้บริหารควรจะทำ คือ การบอกให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรม และก้าวเดินไปด้วยกัน อย่าทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะเขาเองอาจจะมีส่วนร่วมสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นก็เป็นได้