ความสัมพันธ์ของ ‘ฉากทัศน์-ล็อกดาวน์-วันหยุดพิเศษ’

06 ม.ค. 2564 | 08:10 น.

ความสัมพันธ์ของ ‘ฉากทัศน์-ล็อกดาวน์-วันหยุดพิเศษ’: คอลัมน์อินไซด์สนามข่าว โดย จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,642 หน้า 10 วันที่ 7 - 9 มกราคม 2564

 

ตอนนี้หลายสถานที่ที่มีความเสี่ยงไม่ว่าจะเสี่ยงสูง กลาง ตํ่า รวมทั้งกิจกรรม กิจการ ในหลายจังหวัด ต้องเลื่อน ต้องหยุดดำเนินการไปชั่วคราวก่อนตามคำสั่งของศบค.และประกาศที่มีรายละเอียด เฉพาะของแต่ละจังหวัด เพื่อคุมการระบาดระลอกใหม่ของเชื้อร้ายโควิด-19

 

ย้อนไปก่อนสิ้นปี 63 วันที่ 29 ธ.ค. คุณผู้อ่านจำ “ฉากทัศน์” ที่หมอทวีศิลป์ วิษณุโยธิน แถลงรายละเอียดเอาไว้ไหมครับ ว่าถ้าช่วงปีใหม่เราการ์ดตก คุมไม่ดีจะเกิดอะไรขึ้นตามมา

 

วันนั้นหมอทวีศิลป์ เล่าถึง “ฉากทัศน์การระบาด” ที่ทีมคณะทำงานระบาดวิทยาของกรมควบคุมโรค เสนอ 3 ฉากทัศน์ ให้ที่ประชุมศบค.ชุดเล็กได้รับทราบ  

 

 

ความสัมพันธ์ของ ‘ฉากทัศน์-ล็อกดาวน์-วันหยุดพิเศษ’

 

ฉากทัศน์แรก ถ้าไม่ทำอะไรเลยจะพบว่าสีแดงระฆังควํ่าตัวเลขจะชันขึ้นเรื่อยๆ และถึงวันที่ 14 ม.ค. 64 จะมีผู้ป่วยต่อวัน 18,000 คน และจะเริ่มต้นจากขึ้นวันละ 1,000-2,000 คนจะชันขึ้นเรื่อยๆ

 

ฉากทัศน์ที่ 2 หากมีมาตรการ กลางๆ คือเส้นกราฟสีเหลือง ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ คาดว่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่ 4,000 คนต่อวัน เรียกว่าสะสมไม่นานก็จะหลักหมื่นภายในไม่กี่วัน

 

ฉากทัศน์สุดท้าย คือกราฟสีเขียว ถ้าร่วมมือกัน ใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ จะน้อยกว่า 1,000 คนต่อวัน

 

และในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ยังวิเคราะห์สถานการณ์แพร่ระบาดในไทยขณะนี้แบ่งออก 2 แบบคือ 1. การติดเชื้อจากบุคคลสู่บุคคล คือรู้ว่าตัวเองไปในพื้นที่เสี่ยง/กิจกรรมเสี่ยง และไม่รู้ และไม่ระมัดระวังว่าได้สัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ เช่น กรณีผู้ว่าฯ สมุทรสาคร และ 2. การติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน ซึ่งมีสาเหตุจากการเข้าไปร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น งาน เลี้ยงสังสรรค์ การประชุม และกิจกรรมที่ลักลอบ เช่น การพนัน มั่วสุมทำให้เกิดการติดเชื้อตัวเลข 2 หลัก

 

 

 

แน่นอนครับ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่เป็นช่องว่างช่องโหว่ ทั้งการลัก ลอบข้ามแดน ขบวนการนำเข้าแรงงานผิดกฎหมาย และบ่อนการพนัน อันเป็นบ่อเกิดและแหล่งระบาดใหญ่ ก็ต้องตามไล่จัดการกันหลังจากนี้

 

ผมมีโอกาสสนทนากับแหล่งข่าวในรัฐบาลและศบค. ถึงการรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจนับจากนี้ คำตอบที่ได้ที่สองแหล่งข่าวตอบคล้ายกัน คือ มีการประเมินสถานการณ์ไว้แบบเลวร้าย หรือ Worst case ซึ่งเป็นฉากทัศน์แรกเอาไว้แล้ว ประกอบกับประเทศไทยมีบทเรียนจากการระบาดระลอกแรก และเงินกู้ที่มีวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนั้น ก็ยังใช้ไม่หมด (ความจริงไม่อยากกู้ให้หมดหรอก) 

 

สิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจยังหมุนพอหมุนอยู่ได้ หนึ่งในนั้นคือ มาตรการ “คนละครึ่ง” ที่กระตุ้นกำลังซื้อรากหญ้า ที่รัฐจ่ายครึ่ง ผู้ได้รับสิทธิ์กว่า 15 ล้านคน จ่ายอีกครั้ง โดยไม่ได้ใช้เงินของรัฐทั้งหมด ส่วนการล็อกดาวน์ในบางแห่ง สิ่งที่ตามมาแน่นอนอาจจะต้องมีการเยียว ยารายพื้นที่ แต่สิ่งถูกออกแบบรองรับไว้แล้ว คือ สิ่งเรียกว่า วันหยุดพิเศษ ซึ่งให้หยุดในวันที่ไม่เคยเป็นวันหยุดราชการมาก่อน 

 

 

 

อย่างเช่น วันตรุษจีน 12 กุมภาพันธ์ วันหยุดประจำภาคเหนือประเพณีไหว้พระธาตุประจำปี 26 มีนาคม ชดเชยสงกรานต์ 12 เมษายน  วันหยุดประจำภาคอีสานประเพณีบุญบั้งไฟ 10 พฤษภาคม วันหยุด ชดเชยเข้าพรรษา 27 กรกฎาคม วันประจำภาคใต้ประเพณีสารทเดือนสิบ 6 ตุลาคม วันประจำภาคกลางประเพณีเทศกาลออกพรรษา 21 ตุลาคม เพื่อเป็นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว 

 

หลายท่านอาจแย้งว่าแค่วันหยุดช่วยเศรษฐกิจได้อย่างไร แต่คำตอบของแหล่งข่าวบอกผมว่า ไม่เชื่อ วันหยุดเหล่านั้นลองออกจากกรุงเทพฯไปต่างจังหวัด จะเห็นตั้งแต่การใช้จ่ายเงินในปั๊มนํ้ามัน ร้านค้าข้างทางรถเข็นแผงลอย และตลาดนัดในชุมชน มีคนไปใช้จ่ายมากขึ้นกว่าวันธรรมดาแน่นอน