ต้นธารยุติธรรม‘ตัดตอน’ ช่วยผู้ต้องหาก่อนถึงมือศาล

26 ธ.ค. 2563 | 00:55 น.

ต้นธารยุติธรรม‘ตัดตอน’ ช่วยผู้ต้องหาก่อนถึงมือศาล : คอลัมน์ห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3639 หน้า 12 ระหว่างวันที่ 27-30 ธ.ค.2563 โดย...พรานบุญ


          ในที่สุดสิ่งที่ข้าราชการ และพรานฯวิตกกังวลว่า การส่งผู้ต้องหาในคดีจ่ายสินบน 20 ล้านบาท ที่สะท้านเมืองไทย-ญี่ปุ่น กรณีการสร้าง “โรงไฟฟ้าขนอม” จ.นครศรีธรรมราช ที่เกี่ยวพันกับบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารอีก 2 ราย เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาลจะเป็นหมัน เพราะมีกระบวนการตัดตอนในชั้นของต้นธารแห่งกระบวนการยุติธรรมก็เป็นจริง

          เป็นจริงนับตั้งแต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด นาวาโทสาธิต ชินวรณ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขานครศรีธรรมราช กับเจ้าหน้าที่รัฐรวม 4 ราย และเอกชนผู้สนับสนุน 3 ราย ได้แก่ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซิโน-ไทยฯ และนายราเกส กาเลีย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการส่วนงานปฏิบัติการบริษัท ซิโน-ไทยฯ กรณีถูกกล่าวหาว่าร่วมกันเรียกรับเงินสินบนจำนวน 20 ล้านบาท จากบริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด หรือ MHPS เพื่อแลกกับการอนุญาตให้ใช้ท่าเทียบเรือชั่วคราวบริเวณโรงไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช เพื่อลำเลียงขนถ่ายชิ้นส่วนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยมิชอบ และส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาสำนวนฟ้อง 

          ปรากฏว่าใช้เวลาในการพิจารณาสำนวนฟ้องผู้ต้องหาที่เกี่ยวพันกับการจ่ายสินบนกัน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2562

          ปลายเดือนตุลาคม 2563 สำนักงานอัยการสูงสุดเห็นว่า ควรสั่งฟ้องเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชนรวม 5 ราย 1 ในนั้นคือ นายราเกส กาเลีย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการส่วนงานปฏิบัติการบริษัท ซิโน-ไทยฯ 

          สำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นไม่สั่งฟ้องบริษัท ซิโน-ไทยฯ และนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซิโน-ไทยฯ ฐานสนับสนุน และได้ส่งคำสั่งอย่างเป็นทางการมายัง ป.ป.ช.เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2563

          19 พฤศจิกายน 2563 กระจิบ กระจาบ พิราบน้อย รู้ข่าวเข้าก็พากันไปซักถามพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.ในเรื่องนี้ ท่านบอกว่า “เรื่องนี้คณะทำงานร่วมพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในสำสวนระหว่างฝ่ายอัยการ และฝ่าย ป.ป.ช. ไม่ได้ข้อยุติ ฝ่ายอัยการเห็นว่า ควรสั่งฟ้องเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชนรวม 5 ราย แต่ไม่สั่งฟ้องบริษัท ซิโน-ไทยฯ และนายภาคภูมิ ศรีชำนิ ฐานสนับสนุน พร้อมกับส่งคำสั่งอย่างเป็นทางการมายัง ป.ป.ช.แล้ว ซึ่ง ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.นั้นกำหนดว่า เมื่อได้รับคำสั่งไม่ฟ้องจาก อสส. อย่างเป็นทางการแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องใช้เวลาพิจารณา 90 วัน เพื่อมีมติอย่างใดอย่างหนึ่ง

          กระทั่งวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา สิ่งที่พรานฯ นังบ่าง และอีเห็น วิตกกังวลจนต้องแหกปากร้องก้นกระเฌอก็เป็นเช่นนั้นจริง เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเสียงข้างมาก 6: 3 ไม่ฟ้องบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และนายภาคภูมิ ศรีชำนิ นายราเกส กาเลีย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการส่วนงานปฏิบัติการบริษัทซิโน-ไทยฯ ตัวแทนผู้มีอำนาจรวม 3 ราย ในคดีสินบนโรงไฟฟ้าขนอม 20 ล้านบาท 

          ข้อมูลที่พรานไพรได้มา ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างมากเห็นว่า ปปช.มีการแจ้งข้อกล่าวหาไม่ตรงตัวบทกฎหมายมาตั้งแต่ต้น เพราะตามข้อเท็จจริงในสำนวน ป.ป.ช.ต้องแจ้งความผิดฐานเป็นผู้ให้สินบน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 แต่กลับมีการแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐรับสินบน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 

          ดังนั้น ที่ประชุมเสียงข้างมากของป.ป.ช.เห็นว่า หากส่งฟ้องศาลไป ผู้ถูกกล่าวหาในกลุ่มเอกชนอาจพ้นผิด

          อีเห็นไปแอบถามเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ว่าเป็นจริงหรือไม่ ใครเห็นชอบ ใครคัดค้าน ได้ข้อมูลมาแบบนี้

          คณะกรรมการปปช.เสียงข้างน้อย 3 ราย ประกอบด้วย 1.พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. 2. น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. 3.นายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า “ควรสั่งฟ้องเอกชนที่ร่วมจ่ายให้หมด แม้พฤติการณ์ของบริษัท ซิโน-ไทยฯ อาจเข้าข่ายมาตรา 144 ก็ตาม แต่เคยเกิดกรณีเช่นนี้มาแล้วหลายครั้ง และตอนส่งฟ้องศาลก็มีการปรับตัวบทกฎหมายให้สอดคล้องกับพฤติการณ์ในสำนวน นอกจากนี้หากเรื่องถึงชั้นศาลแล้ว ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยปรับตัวบทกฎหมายเองได้”

          เพราะการสอบสวนและชี้มูลความผิดนั้นระบุว่า “ข้อเท็จจริงพบว่า เมื่อปี 2556 บริษัทร่วมค้าระหว่าง MHPS กับบริษัท ซิโน-ไทยฯได้รับว่าจ้างให้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่ อ.ขนอม ของบริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม บริษัทในกลุ่ม EGCO Group ผู้ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  และไม่สามารถส่งเครื่องจักที่ขนมากับเรือขึ้นเทียบท่าได้เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐ 4 คน ไม่อนุญาต จึงต้องมีการเจรจาและจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ

          ทั้งนี้ บริษัท ซิโน-ไทยฯ และนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซิโน-ไทยฯ และนายราเกส กาเลีย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการส่วนงานปฏิบัติการ บริษัท ซิโน-ไทยฯ ได้ให้ความช่วยเหลือในการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐในการเรียกรับสินบนจากบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น โดยจัดทำสัญญาที่ไม่มีการจ้างงานจริง โดยให้บริษัท ซิโน-ไทยฯ จัดเตรียมสินบนเป็นเงินสด 20 ล้านบาท 

          ต่อมา...มีการมอบเงินสินบนให้กับผู้แทนบริษัทญี่ปุ่นที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท ซิโน-ไทยฯ เพื่อให้ขนเงินไปยังพื้นที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เพื่อส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้ง 4 ราย ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในช่วงเวลาเดียวกันเรือลำเลียงก็สามารถเทียบท่าและขนถ่ายชิ้นส่วนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ณ ท่าเทียบเรือชั่วคราวโรงไฟฟ้าขนอมได้ แม้ว่าจะไม่มีการแก้ไขเรื่องการขออนุญาตก่อสร้างท่าเทียบเรือให้ถูกต้องตามระเบียบของกรมเจ้าท่าแม้แต่น้อย

 

          ต่อมา...มีการมอบเงินสินบนให้กับผู้แทนบริษัทญี่ปุ่นที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท ซิโน-ไทยฯ เพื่อให้ขนเงินไปยังพื้นที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เพื่อส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้ง 4 ราย ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในช่วงเวลาเดียวกันเรือลำเลียงก็สามารถเทียบท่าและขนถ่ายชิ้นส่วนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ณ ท่าเทียบเรือชั่วคราวโรงไฟฟ้าขนอมได้ แม้ว่าจะไม่มีการแก้ไขเรื่องการขออนุญาตก่อสร้างท่าเทียบเรือให้ถูกต้องตามระเบียบของกรมเจ้าท่าแม้แต่น้อย

          อย่างไรก็ตามมีคณะกรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างมาก 6 คน ที่มีความเห็น “สั่งไม่ฟ้องเอกชน” ประกอบด้วย  

          1.พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง อดีตจเรตำรวจแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมวุฒิสภาถกเถียงกันดุเดือดยาวนานถึง 5-6 ชั่วโมงว่า จเรตำรวจนายนี้ไม่เคยดำรงตำแหน่งเคยรับราชการในตำแหน่งระดับอธิบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางบริหารในหน่วยราชการที่มีอำนาจบริหารเทียบเท่าอธิบดี ก่อนมีมติเสียงข้างมาก 76 เสียงต่อ 43 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง เห็นชอบให้ ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. แทนนายเมธี ครองแก้ว ซึ่งหมดวาระ

          2. นายวิทยา อาคมพิทักษ์ ลูกหม้อ ป.ป.ช.ขนาดแท้ อดีตผู้อำนวยการสำนักการข่าวและกิจการพิเศษ  อดีตผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. อดีตกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)

          3.นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม อดีตอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และปลัดกระทรวงยุติธรรม 

          4.พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ นายทหารผู้มากด้วยคอนเน็กชั่นสูงคนหนึ่ง เป็นอดีตผอ.กองตรวจสอบและวิเคราะห์ สำนักงานปลัดบัญชีกองทัพบก อดีตผอ.กองสำรวจและจัดหน่วยสำนักงานปลัดบัญชี อดีตผู้ช่วยปลัดบัญชีทหารบก อดีตผอ.สำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกลาโหม อดีต ผอ.สำนักงบประมาณกลาโหม 

          5.นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา อดีตอัยการอาวุโส สำนักงานอัยการสูงสุด อดีตอธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศ, อดีตอธิบดีอัยการ สำนักงานการบังคับคดี, อดีตอธิบดีอัยการ สำนักงานนโยบาย ยุทธศาสตร์ และงบประมาณ

          6.นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปี 2559

          คณะกรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างมาก 6 คน เห็นว่า การปรับตัวบทกฎหมายภายหลังการชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ในชั้นการไต่สวน ไม่มีการดำเนินการใดๆ กับเอกชนตัวแทนจากญี่ปุ่น อาจทำให้น้ำหนักเรื่องรับสินบนในคดีนี้มีน้อย 

 

          นังบ่างบอกว่า ในที่ประชุมป.ป.ช.นั้นมี คณะกรรมการเสียงข้างมากบางคนที่ออกเสียงหนุนไม่ฟ้องเอกชน 3 ราย รวมถึงบริษัทเสนอความเห็นทักท้วงอย่างหนักหน่วงว่า “ป.ป.ช.มีการแจ้งข้อกล่าวหาไม่ตรงตัวบทกฎหมายตั้งแต่ต้น เพราะตามข้อเท็จจริงในสำนวนต้องแจ้งความผิดฐานเป็นผู้ให้สินบน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 แต่กลับมีการแจ้งข้อกล่าวหาผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐรับสินบน ฟ้องศาลไป ผู้ถูกกล่าวหากลุ่มเอกชนอาจพ้นผิดได้...555

          ผลที่ตามมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงตัดตอนการนำตัวผู้ที่เกี่ยวข้องการจ่ายสินบนไปสู้กระบวนการพิจารณาในชั้นศาล ผ่านการลงมติไม่ฟ้องเอกชน 3 รายในข้อหามีความผิดจ่ายสินบน..ด้วยคะแนนเสียง 6:3 ชา ลัน ลัลลา..... เป็นบริษัทเอกชนที่เกี่ยวพันกับรัฐมนตรีในรัฐบาลพล.องประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นบริษัท ซิโน-ไทยฯ

          เป็นบริษัทรับเหมางานเอกชน และรับเหมาการก่อสร้างงานขนาดใหญ่ของรัฐบาลเสียด้วย แถมเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งทุกภาคส่วนพยายามผลักดันสร้างจิตสำนึกในเรื่องธรรมาภิบาลรับผิด รับชอบ มีจรรยาบรรณที่ดีเสียด้วยสิพี่น้อง

          พรานว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่ใครๆเขาก็ไม่ให้เขียน แต่พรานฯขอฮึดสู้ว่า ปมใหญ่ที่สุดคือการตัดตอนของกรรมการ และหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่นำตัวผู้ที่กระทำผิดไปให้ศาลตัดสิน

          ที่สำคัญ คดีนี้ฝ่ายสำนักงานอัยการสูงสุดที่เป็นเสมือนที่ปรึกษากฎหมายของหน่วยงานรัฐไม่ได้เสนอว่า มีการแจ้งข้อกล่าวหาผิดตัวบทกฎหมายแต่อย่างใด หากแต่เห้นว่าควรฟ้องใครบ้าง แต่กรรมการ ป.ป.ช. บางรายเสนอความเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.และคัดค้านการสั่งฟ้องเอกชนเอง เป็นการ “ถ่มน้ำลายรดหน้า ป.ป.ช.” ที่ชี้มูลความผิดไปก่อนหน้านี้ได้อร่อยเหาะที่สุด

          ด้วยเหตุแบบนี้แหละ จึงนำไปสู่มติ ป.ป.ช. ที่ไม่ฟ้องบริษั ซิโน-ไทยฯและผู้บริหารเอกชน 2 ราย ต่อศาลสถิตย์ยุติธรรม...ตะแล่ม ตะแล่ม ตะแล่ม ....ลิเกป่าปิดฉากการเล่นแล้วครับพี่น้องครับ...