นโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจเมียนมาเปรียบเทียบกับไทย

21 ธ.ค. 2563 | 00:00 น.

นโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจเมียนมาเปรียบเทียบกับไทย : คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

 

          สองสามอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ ผมได้เฝ้าติดตามอ่านข่าวของประเทศเมียนมาตลอดมา พอจะอาศัยความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์มาวิเคราะห์ดูว่า ทางการเมียนมาเขากำลังทำอะไรอยู่ และอีกอย่างการที่ทางการของไทยเรา ได้ดำเนินนโยบายต่างๆ ออกมา เราก็สามารถนำมาเปรียบเทียบกับประเทศเมียนมาเล่นๆ สนุกๆ ได้  จึงขออนุญาตนำมาเล่าสู่กันฟังนะครับ

          ก่อนที่จะดูนโยบายของทั้งสองประเทศ เรามาทำความเข้าใจเครื่องจักรทางเศรษฐกิจทั้งสี่ตัวอีกครั้งก่อน ซึ่งประกอบด้วย ตัว C หรือ Consumption หรือการจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชนในประเทศ ตัว I หรือ Investment หรือการลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม ตัว G หรือ Government หรืองบประมาณของรัฐบาล X-M หรือ การส่งออกลบด้วยการนำเข้า ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทีนี้มาดูของประเทศเมียนมา วันนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเจ้าวายร้ายผีน้อย COVID-19 ระลอกสอง ทำให้เศรษฐกิจของเขาซวนเซไปมิใช่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชน (ตัว C) ลดลงอย่างมีนัยยะ การค้าการขายก็ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงมากๆ แต่ยังดีที่ประเทศเขามีเงินลงทุนจากต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไทย ที่เข้าไปลงทุนในประเทศเมียนมาอย่างล้นหลาม เพราะเขามีการเตรียมการก่อสร้างเมกกะโปรเจ็คมากถึงแปดสิบโปรเจ็ค

          และถ้าจำกันได้ ช่วงวันที่ 17-18 มกราคม ที่ผ่านมา ก่อนสถานการณ์โควิดจะเกิดเพียงสามเดือน ประธานาธิบดีสี จิ้ง ผิง ได้เข้าไปเยือนประเทศเมียนมาอย่างเป็นทางการ เขาได้เซ็น MOU ไว้แล้วสามสิบกว่าฉบับ ต่อมาเกิดการระบาดขดงโรคร้าย แต่ก็ไม่ส่งผลต่อการดำเนินงาน เพราะเขายังคงเดินหน้าต่อไปไม่หยุด อีกทั้งการก่อสร้างโปรเจ็คต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมติลาว่า ทางประเทศญี่ปุ่นก็ไม่ได้หยุดนิ่ง เกาหลีใต้เองก็ไม่ได้หยุดเช่นกัน ต้องยอมรับว่าทั้งสามประเทศต่างแข่งขันกันในเชิงอยู่ นี่คืออานิสงค์ของข้อตกลงร่วมกันก่อนหน้าที่โรคร้ายระบาด  เม็ดเงินจึงอัดฉีดลงไปในประเทศเมียนมาไม่หยุด เขาโชคดีมากๆ
   

          ในส่วนของรัฐบาลเมียนมาเอง เรื่องของเม็ดเงิน ก็มีการหลั่งไหลเข้ามาเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเงินลงทุน เงินช่วยเหลือ เงินสนับสนุน เงินกู้ยืม ซึ่งมาจากหลากหลายแหล่ง อาทิเช่น จาก World Bank หรือธนาคารโลก, IMF, ADB หรือธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ฯลฯ ทำให้รัฐบาลเมียนมามีเม็ดเงินอัดฉีดลงในระบบมากมาย สามารถใช้จ่ายเงินนั้นมาดำเนินการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้อย่างไม่มีปัญหา ส่วนตัวสุดท้ายคือ การส่งออกและนำเข้า แม้ว่าการส่งออกจะมีปัญหาที่ชายแดนจีน แต่ทางชายแดนไทยยังไม่ค่อยจะมีปัญหาเท่าใด ในขณะที่การนำเข้า ก็ลดลงไปตามสัดส่วน เพราะว่าแม้การขนส่งข้ามประเทศจะไม่มีอุปสรรค แต่ปลายท่อคือการขายสินค้าออกไปสู่ตลาดลดลง เพราะร้านค้าส่วนใหญ่จะปิดตัวลง เพื่อเพิ่มความระมัดระวังโรคระบาด ทำให้การค้าลดลง การนำเข้าจึงลดลงไปด้วย ดังนั้นเครรื่องจักรทางเศรษฐกิจที่ยังเป็นผลบวกในการกระตุ้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจจึงมีสองตัวคือ ตัว I กับตัว G ครับ

          เรามาดูประเทศไทยเราบ้าง ช่วงแรกๆที่เราถูกคุกคาม ต้องยอมรับว่านี่เป็นครั้งแรกที่เราโดน รัฐบาลไทยเราก็จะออกอาการนิดๆ แต่พอตั้งหลักได้เท่านั้นแหละ ทุกอย่างก็จบด้วยการป้องกันที่เยี่ยมยอด คงต้องขอบพระคุณลุงตู่ที่กล้าตัดสินใจในการใช้มาตรา 44 ในการสั่งการยึดอำนาจจากรัฐมนตรี เอามาดูแลเอง และให้อำนาจปลัดกระทรวงที่ชำนาญงานมากกว่านักการเมือง สายตรงไปที่ท่านนายกรัฐมนตรี จึงคุมทุกอย่างได้อย่างอยู่หมัด จนได้รับคำชื่นชมจากนานาประเทศ

          พอกลับมามองทางด้านเศรษฐกิจ ก็เริ่มมีการออกรายการโปรโมชั่น เช่นการท่องเที่ยว “เราเที่ยวด้วยกัน” แม้จะมีคนทุจริตบ้างตามคาด แต่เม็ดเงินก็เริ่มกระจายเข้าไปในธุรกิจอย่างน่าดีใจ เพราะหลายกิจการแทบจะเลิกกิจการไปเลย เพราะถูกปิดประเทศ ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ก็ได้ลืมตาอ้าปากอีกรอบจากเราเที่ยวด้วยกันนี่แหละ ต่อมาก็กระตุ้นด้วย “คนละครึ่ง”อีก คราวนี้บุคคลทั่วไปโดย SME ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ทั้งคนทำงานทั่วไป และคนเฒ่าคนแก่ ต่างแห่แหนแต่นแต้กับเล่นแอพพิเกชั่นกันแทบทุกพื้นที่ เรียกว่าถูกใจพ่อยกแม่ยกกันเลย ทำให้ตัว C หรือการจับจ่ายใช้สอยของคนไทยเรา กระเตื้องขึ้นอย่างเห็นได้ชัดมาก

​​​​​​​          ในส่วนตัว I หรือการลงทุน ผมก็เห็นทาง BOI ออกมาให้ข่าวว่า ผลการยื่นขอเข้ารับการส่งเสริมการลงทุนในปีนี้ มากกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเดียวกันของเดือนด้วย โอ้โห...เมืองไทยแดนศิวิลัยไปเลยครับ อาจจะเป็นเพราะว่าเราป้องกันโรคระบาดวายร้ายCOVID-19 ได้ดีก็เป็นได้ จึงสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่างชาติได้มากขึ้น ในส่วนอีกสองตัวสุดท้ายของเครื่องจักรเศรษฐกิจ ผมไม่อยากวิเคราะห์เลย เพราะตัว G หรืองบประมาณที่นำมาใช้ในการกระตุ้นก็คงต้องไปรวมกับสองโปรโมชั่นที่กล่าวมาแล้ว ในขณะที่ตัว X-M ก็ตายสนิท ทั้งค่าระวางขนส่งทางเรือขึ้นมาสองเท่าตัว ตลาดสำคัญของเราเขาก็เดี้ยงกันหมดทั้งยุโรปและอเมริกา สลดกันไปถ้วนหน้า เอาเป็นว่าเครื่องยนต์สองตัวใบพัดยังหมุนฉลุย คงไม่ทำให้เครื่องบินลำนี้ในนาม “ประเทศไทย” ตกลงมาแน่นอน ยังคงลอยลำบนอากาศได้อย่างสง่าผ่าเผยครับ
   

          เมื่อมาดูว่าผลจะตามมาในอนาคตจะเป็นอย่างไรนะครับ ผมเชื่อว่าหลังจาก “คนละครึ่ง” จบลง ร้านค้าที่เป็นนิติบุคลต้องเลิกกิจการกันระนาว เพราะไม่มีคนเข้าร้าน เนื่องจากนิติบุคคลเขาเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งไม่ได้ ดังนั้นช่วงนี้นิติบุคคลต้องทนๆกันหน่อย ปล่อยให้รัฐบาลท่านไปช่วยกลุ่มบุคคลธรรมดากับกลุ่มส่วนล่างก่อน พอส่วนฐานรากฟื้นตัว ผมยังมั่นใจว่าท่านจะหันมามองกลุ่มบนหรือนิติบุคคลต่อไป นั่นอาจจะเป็นปีหน้าละครับ ยังไงๆก็ขอเชียร์ให้ท่านนายกประยุทธ อย่าเพิ่งถอดใจลาออกตามเสียงเรียกร้องของคนบางกลุ่มซะก่อนละครับ เอามาแจกจ่ายให้นิติบุคคลบ้างนะครับ พวกเรากำลังตั้งตารอคอยครับ จะพยายามไม่ให้ล้มละลายไปก่อนมีรายการโปรโมชั่นใหม่จะออกมาครับ 

          สรุป ทั้งสองประเทศมีจุดเด่นจุดด้อยด้วยกันทั้งนั้น อยู่แต่ว่าใครจะแก้เกมกันอย่างไร และกล้าที่จะทำหรือไม่ ผมยังเชื่อว่าถ้าทำโปรเจ็คอะไรออกไป แล้วไม่ไปคอรัปชั่นเอง ประชาชนเขาสนับสนุนอยู่แล้วครับ