ระวัง! แรงจูงใจด้านภาษี กลายเป็นละเมิดกฎการอุดหนุนโดยภาครัฐอียู

23 เม.ย. 2559 | 23:00 น.
แรงจูงใจทางด้านภาษี คือแม่เหล็กสำคัญที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ใช้ดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ รัฐบาลในประชาคมยุโรป (อียู) หลายประเทศก็เช่นกัน ต่างแข่งขันกันลดภาษีดึงดูดการลงทุน จนเรียกได้กลายว่าเป็นสงครามภาษีระหว่างประเทศ หรือ International Tax War แต่ตอนนี้เอกชนที่ไปลงทุนในอียูคงต้องระวังมากขึ้น เพราะแรงจูงใจทางภาษีที่ได้รับ อาจกลายเป็นดาบสองคมที่ย้อนกลับมาทำร้ายบริษัท หากไม่ได้ตรวจสอบให้ดีก่อนว่า การลดหรือยกเว้นภาษีนั้นผิดกฎการอุดหนุนโดยภาครัฐ

เมื่อไม่นานมานี้ เอกสารลับปานามา (Panama Papers) กลายเป็นประเด็นร้อนแรงที่ประชาคมทั่วโลกต่างกล่าวถึง เพราะได้เปิดเผยความจริงของนโยบายของรัฐอย่างปานามาที่กำหนดภาษีนิติบุคคลเป็นศูนย์ ทำให้ปามามาเป็นแหล่งหลบเลี่ยงภาษีชั้นดีของนักการเมืองและนักธุรกิจผู้มีชื่อเสียงระดับโลก โดยเฉพาะจากภูมิภาคยุโรป เหตุการณ์นี้เป็นเหมือนเชื้อเพลิงกระตุ้นที่ให้นานาชาติตระหนักว่า นโยบายของรัฐที่เอื้อต่อการหลีกเลี่ยงภาษีเป็นการเปิดช่องว่างให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม อีกทั้งส่งผลต่อรายได้ที่รัฐจะสามารถเรียกเก็บเพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศและอุดหนุนสวัสดิการทางสังคมสำหรับประชาชน ซึ่งทุกฝ่ายควรต้องร่วมกันหาทางป้องกันและแก้ไข

ล่าสุด คณะกรรมาธิการยุโรปต้องปรามรัฐบาลในอียูที่ส่อแววช่วยเหลือบริษัทต่างชาติเลี่ยงภาษีโดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย ผู้ประกอบการไทยจึงควรเพิ่มความระวังในการตัดสินใจดำเนินธุรกิจกับเอกชนในกลุ่มประเทศอียู กฎการอุดหนุนโดยภาครัฐของอียู (ข้อ 107 ของ Treaty on the Function of the European Union) ระบุว่า รัฐของประเทศสมาชิกสามารถให้ความช่วยเหลือหรืออุดหนุนเพื่อช่วยพัฒนากิจกรรมและสาขาทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก ตราบเท่าที่การอุดหนุนนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศในทางที่ขัดกับประโยชน์ร่วมของอียู ซึ่งหลายประเทศใช้ข้อนี้ในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ตลอดจนสิทธิประโยชน์ทางการเงินเพื่อดึงดูดการลงทุน อาทิ สหราชอาณาจักรอนุญาตให้ลดหย่อนภาษีได้ถึง 225% ของค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาสำหรับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก และ 130% สำหรับบริษัทขนาดใหญ่

คณะกรรมาธิการยุโรปได้เริ่มสอบสวนกรณีประเทศในอียูบางประเทศกระทำผิดกฎหมายอียู โดยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีบรรษัทข้ามชาติหรือบริษัทที่ประกอบธุรกิจร่วมกับบรรษัทข้ามชาติพิเศษกว่าบริษัทอื่น ๆ ยกตัวอย่างกรณีรัฐบาลเบลเยียมที่ดึงดูดบรรษัทข้ามชาติและผู้ประกอบการต่างประเทศด้วยคำโฆษณา "Only in Belgium" และยกเว้นภาษีให้กับบริษัทเพียงบางแห่ง ได้ละเมิดนโยบายการส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรีและความหลากหลายของภาคเอกชนในอียู ผลการสอบสวนทำให้รัฐบาลเบลเยียมต้องเรียกคืนภาษีจากบรรษัทข้ามชาติกลุ่มนี้ ซึ่งคาดว่ามีจำนวนสูงถึง 700 ล้านยูโร ขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรปอยู่ระหว่างการสอบสวนบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Apple Inc. ในไอร์แลนด์ บริษัท Amazon ในลักเซมเบิร์ก รวมถึงบริษัทฟาสต์ฟูดชื่อคุ้นหูสัญชาติสหรัฐฯ อย่าง McDonald’s ที่ตั้งสาขาในลักเซมเบิร์กเช่นกัน

กระแสความสนใจของประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะคนที่มีรายได้ปานกลางต่อประเด็นการหลีกเลี่ยงภาษีของบริษัทขนาดใหญ่กำลังเพิ่มมากขึ้นในทุกภูมิภาค เพราะมูลค่ารวมของการหลีกเลี่ยงภาษีของบริษัทเหล่านี้ส่งผลร้ายต่อการบิดเบือนการแข่งขันตามกลไกตลาดและการค้าระหว่างประเทศ

ผู้ประกอบการที่ทำการหรือมีแผนที่จะไปค้าขายและลงทุนในอียูจึงควรต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเข้าไปลงทุนทำธุรกิจกับบริษัทหรือหุ้นส่วนในอียู โดยจะต้องตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญทางภาษีว่า สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับจากประเทศอียูที่เข้าไปค้าและลงทุนนั้น สอดคล้องกับกฎหมายและหลักเกณฑ์ของสหภาพยุโรปด้วย เพราะหากเกิดการตรวจสอบและพบว่าละเมิดกฎการอุดหนุนโดยภาครัฐของอียูแล้ว โทษย้อนหลังอาจสร้างความเสียหายและภาพลักษณ์ต่อบริษัทได้

พบกับการอัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.ThaiBiz.net หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,150 วันที่ 21 - 23 เมษายน พ.ศ. 2559