นับถอยหลัง โอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่ง (จบ)

13 ธ.ค. 2563 | 06:20 น.

นับถอยหลัง โอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่ง (จบ) : คอลัมน์มังกรกระพือปึก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

 

ปัจจุบัน จีนมีสนามกีฬาฤดูหนาวชั้นนำเป็นจำนวนมาก อาทิ ลู่กระโดดสกีในร่มขนาด 800,000 ตารางเมตร ซึ่งนับว่าใหญ่ที่สุดในโลก แต่การลงทุนก่อสร้างและพัฒนาสนามกีฬาฤดูหนาวในจีน ทั้งในร่มและกลางแจ้ง จะยังคงดำเนินไปอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยรัฐบาลจีนตั้งเป้าที่จะมีลานสเก็ตจำนวน 650 แห่งภายในปี 2022 

 

ขณะที่สกีรีสอร์ตที่ได้มาตรฐานก็ดูจะเติบโตในอัตราเร่งยิ่งกว่า ย้อนกลับไปในปี 2010 จีนมีสกีรีสอร์ตเพียง 270 แห่ง เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเป็น 568 แห่งใน 5 ปีต่อมา และพุ่งขึ้นเป็นเกือบ 800 แห่งในปัจจุบัน ดังนั้น เป้าหมายของรัฐบาลจีนที่ต้องการมีสกีรีสอร์ตที่มีมาตรฐานจำนวน 800 แห่งภายในปี 2022 จึงไม่ไกลเกินเอื้อม 

 

แต่การลงทุนก่อสร้างสกีรีสอร์ตในจีน จะไม่หยุดไปพร้อมกับการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฯ เพราะจีนตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนสกีรีสอร์ตขึ้นเป็น 1,000 แห่งภายในปี 2030 

 

ด้วยศักยภาพของตลาดจีนดังกล่าว ทำให้ธุรกิจของต่างชาติจำนวนมากต่างขยับเข้ามาร่วมมือในจีนกัน ตัวอย่างหนึ่งได้แก่ การร่วมลงทุนระหว่างซานเหอกรุ๊ป (Sanhe Group) กับด็อปเปิลเมเยอร์ (Dopplemayr) ผู้วิจัยและผลิตลู่กระโดดสกีรายแรกๆ ของโลก ก่อตั้ง Sanhe Dopplemayr Transport Systems Co., Ltd. เป็นสำนักงานประจำภูมิภาคเอเซียขึ้นที่มณฑลเหอเป่ยเพื่อรองรับความต้องการที่จะเติบใหญ่ในจีน 

 

ขณะเดียวกัน จีนก็ยังตระหนักถึงขนาดและศักยภาพของตลาดอุปกรณ์กีฬาฤดูหนาวในจีน โดยคาดว่าในปี 2022 ตลาดนี้จะมีมูลค่ากว่า 22,000 ล้านหยวน และเติบโตในอัตราเฉลี่ยมากกว่า 20% ต่อปี

 

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา จีนต้องนำเข้าอุปกรณ์กีฬาฤดูหนาวที่มีราคาแพง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มความนิยมในการเล่นกีฬานี้ในวงกว้าง จีนจึงพยายามลดการพึ่งพาดังกล่าว โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา และการลดต้นทุนในการผลิตอุปกรณ์ เพื่อให้คนจีนสามารถหาซื้อและมีความสุขกับกีฬาฤดูหนาวได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต

 

ด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก เทคโนโลยี และอุปกรณ์กีฬาที่ทันสมัยดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสกีรีสอร์ทและสนามกีฬาในร่ม และเครื่องทำหิมะเทียม ชาวจีนจะสามารถเล่นสกี สเก็ตน้ำแข็ง สโนบอร์ด สเก็ตลีลา สเก็ตความเร็ว ฮ็อกกี้น้ำแข็ง และเคิร์ลลิ่ง (กีฬาน่ารักๆ ที่แข่งดันลูกหินบนพื้นน้ำแข็งให้เข้าใกล้เป้าหมายมากที่สุด) รวมทั้งอีกสารพัดกีฬา ได้โดยไม่ต้องรอฤดูหนาว 

 

จากข้อมูลในปี 2019 สนามกีฬาฤดูหนาวในจีนมีลูกค้าใช้บริการราว 23.5 ล้านคน และกระจุกตัวในเชิงฤดูกาล แต่รัฐบาลจีนตั้งเป้าสูงกว่านั้นมาก เพราะตั้งเป้าให้ชาวจีนจำนวนถึง 300 ล้านคนสามารถเล่นกีฬาฤดูหนาวกันได้ในทุกฤดูกาล และมีมูลค่าตลาดแตะ 1 ล้านล้านหยวน คิดเป็นราว 1 ของจีดีพีโดยรวมของจีนภายในปี 2025 

นับถอยหลัง  โอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่ง (จบ)

นอกเหนือจากการยกระดับภาพลักษณ์ประเทศและสินค้า/บริการของจีน และสร้างความเป็นที่รู้จักในด้านนวัตกรรม วัฒนธรรม และกีฬาฤดูหนาวแล้ว จีนจะได้รับประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวอีกมาก สถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะพระราชวังต้องห้าม กำแพงเมืองจีน และพระราชวังฤดูร้อนในกรุงปักกิ่งจะคราคร่ำไปด้วยผู้คน 

 

ขณะที่เมืองอื่นที่ร่วมและไม่ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพ ก็น่าจะได้รับผลพลอยได้อีกมาก ผมเชื่อมั่นว่าจะมีคอกีฬาจำนวนมากถือโอกาสนั่งรถไฟแม่เหล็กไฟฟ้าไปเยือนนครเซี่ยงไฮ้ หรือรถไฟความเร็วสูงไปยังเมืองอื่นๆ เพื่อท่องเที่ยวและชื่นชมนวัตกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในจีน และลดการขาดดุลด้านการท่องเที่ยวของจีนได้อีกด้วย

 

หลายเมืองของจีนจึง “ถูมือ” เตรียมรอรับโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น นครฮาร์บิน (Harbin) เมืองเอกของมณฑลเฮยหลงเจียง (Heilongjiang) ซึ่งอยู่บริเวณหัวไก่ ถือเป็นเมืองเอกของจีนที่ตั้งอยู่ในแนวละติจูดที่สูงสุดของจีน ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่จะรอต้อนรับนักท่องเที่ยวนี้

 

ฮาร์บินโด่งดังกับ “เทศกาลน้ำแข็ง” (Ice Festival) ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงครึ่งหลังของเดือนธันวาคมถึงครึ่งแรกของเดือนมกราคม ซึ่งนักแกะสลักน้ำแข็งชาวไทยไปร่วมงานแข่งขันท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บระดับ -30 องศาเซลเซียส และสามารถคว้ารางวัลกลับมาตุภูมิทุกปี ผมเชื่อว่า เทศกาลน้ำแข็งในปลายปี 2021 ต่อต้นปี 2022 จะยิ่งใหญ่และแปลกตาจากที่ผ่านมาอย่างแน่นอน

        นับถอยหลัง  โอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่ง (จบ)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

นับถอยหลัง โอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่ง (2)

นับถอยหลัง โอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่ง (1)

 

ปัจจุบันจีนมีนักท่องเที่ยวฤดูหนาวอยู่กว่า 200 ล้านคนต่อปี บางส่วนเดินทางไปเล่นสกีที่ยุโรปและญี่ปุ่น แต่เมื่อมีสกีรีสอร์ตชั้นนำในจีนในอนาคต ชาวจีนคงสามารถประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายได้อีกมาก 

 

แต่ด้วยสภาพการณ์และศักยภาพดังกล่าว แม้กระทั่งการท่องเที่ยวแห่งสวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland Tourism) เจ้าแห่งจุดหมายปลายทางสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการเล่นสกี ยังยอมรับว่า จีนจะกลายเป็นตลาดกีฬาฤดูหนาวที่ใหญ่สุดในโลกในอนาคตอันใกล้ 

 

จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นกิจการสกีรีสอร์ตชั้นนำของสวิตเซอร์แลนด์ 14 แห่งที่มีฐานลูกค้าในมือเป็นจำนวนมากได้ขยับเข้าไปร่วมมือกับจีนแล้วในปัจจุบัน 

 

สำหรับคนบ้านเราทั้งที่หลงไหลและไม่ค่อยคุ้นชินกับกีฬาฤดูหนาว ก็สามารถประหยัดเงินและเวลาในการเดินทางไปพักผ่อนรับอากาศหนาว และสนุกสนานกับการทดลองเล่นกีฬาเหล่านี้ แถมยังอาจอาจไปสัมผัสบรรยากาศในสนามการแข่งขันโอลิมปิกจริงได้ในอนาคต

 

อย่างไรก็ดี ความท้าทายหลักของการเป็นเจ้าภาพฯ ในครั้งนี้คงหนีไม่พ้นวิกฤติโควิด-19 ที่ยังคงระบาดอยู่ทั่วโลก อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะสภาพอากาศในหน้าหนาวที่เอื้อประโยชน์กับไวรัสในการแพร่ระบาด 

 

แม้ว่าบริษัทยาชั้นนำของจีนและต่างชาติต่างทยอยเปิดเผยถึงความสำเร็จในการทดลองใช้วัคซีนมาเป็นระลอก แต่รัฐบาลจีนก็ไม่นิ่งนอนใจแต่อย่างใด เพราะยังคงตรวจสอบประชาชนในแต่ละพื้นที่ในเชิงรุก ทยอยฉีดวัคซีนที่คิดค้นขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง กำหนดให้ผู้คนต้องล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย และรักษาระยะห่างเมื่อต้องเข้าไปในพื้นที่สาธารณะในร่ม 

 

นอกจากนี้ จีนยังคงใช้มาตรการกักตัวผู้ที่เดินทางจากพื้นที่เสี่ยงภายในประเทศ และผู้ที่เดินทางเข้าประเทศอย่างเข้มงวด และเมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ใด ก็จะสืบหาผู้มีความเสี่ยงและปิดพื้นที่เหล่านั้นในทันที

 

ในด้านกีฬา รัฐบาลจีนได้ยกเลิกการเป็นเจ้าภาพจัดและเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศเกือบทุกรายการอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2020 และออกแนวปฏิบัติให้ผู้จัดงานต้องระมัดระวังอย่างสูงกับการเชิญกรรมการและผู้ที่เกี่ยวข้องจากต่างประเทศเข้ามาร่วมการแข่งขัน เพื่อลดระดับความเสี่ยงที่มีต่องานใหญ่ที่รออยู่ ทั้งนี้ ในบรรดารายการแข่งขันกีฬาที่ถูกปรับเปลี่ยนนั้น มิได้รวมถึงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ณ กรุงปักกิ่งในปี 2022 

 

แม้ว่าจะเหลืออีกกว่า 300 วันที่พิธีเปิดการแข่งขันจะเริ่มขึ้น แต่ดูเหมือนจีนพร้อมแล้วสำหรับการเป็นเจ้าภาพฯ คอกีฬาฤดูหนาวชาวไทยอาจเริ่มหยอดกระปุก ฟิตร่างกาย และเตรียมฝ่าลมหนาวไปชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่งกันได้เลยครับ ...

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3635 วันที่ 13-16 ธันวาคม 2563