โควิดทุบ “GDP” เมียนมา ต่ำสุดใน “3 ทศวรรษ”

10 ธ.ค. 2563 | 11:51 น.

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย เขียนบทวิเคราะห์ โควิดทุบ “GDP” เมียนมา ต่ำสุดในรอบ “3 ทศวรรษ”

โควิดทุบ “GDP” เมียนมา ต่ำสุดใน “3 ทศวรรษ”

โควิดรอบสองของเมียนมาเริ่มเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 ในรัฐยะไข่ (Rakhine) ซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศบังคลาเทศ (โควิดรอบแรกพบผู้ติดโควิดเมื่อวันที่ 23 มี.ค.2563) ทำให้เมืองชิตตะเว่ (Sittwe) กลายเป็น “ศูนย์กลางโควิด” รวมไปถึง “ย่างกุ้ง” อีกด้วย

 

หลังจากนั้นเป็นต้นมา จำนวนของผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (เพิ่มขึ้นวันละพันคน ในขณะที่รอบแรกไม่เกิน 10 คนต่อวัน) ซึ่งเมืองที่มีการติดเชื้อโควิดเป็นอันดับต้นๆ คือย่างกุ้ง รัฐยะไข่ เขตพะโค (Bago) และเขตมัณฑะเลย์ เป็นต้น ตามรายงานของ “Worldometer” เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 พบว่า ประเทศเมียนมามีผู้ติดโควิดรวม 101,739 คน มีผู้ติดโควิดใหม่เพิ่มขึ้น 1,308 คน และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 2,151 คน และเป็น  1 ใน 23 ประเทศของเอเชียที่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น

 

ผลกระทบโควิดทั้งสองรอบทำให้เมียนมามีมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ “ADB (September 2020)” ได้ประเมินว่า GDP ของเมียนมา ในปี 2020 แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากโควิดก็ตาม แต่เป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวลดลงน้อยที่สุดในอาเซียนร่วมกับเวียดนามและยังมี GDP เป็นบวก โดยมีอัตราการขยายตัว GDPเหลือ 1.8% นอกนั้นอีก 7 ประเทศอาเซียนมีอัตราการขยายตัวติดลบหมด ประเทศไทยเป็นประเทศที่มี GDP ลดลงมากที่สุดของอาเซียน (-8%) แต่ในปี 2021 มีการคาดการณ์ว่า GDP ของเมียนมาปรับขึ้นเป็น “6%” อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าอัตราการขยายตัวทั้งปี 2020 “น่าจะต่ำกว่าที่ ADB คาดการณ์ไว้” เพราะผลของโควิดรอบที่สองและขณะนี้สถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่คลี่คลาย

 

โควิดทุบ “GDP” เมียนมา ต่ำสุดใน “3 ทศวรรษ”

รายงานของ “International Food Policy Research และ USAID (June 4, 2020) ได้ประเมินผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์อันเนื่องมาจากโควิดพบว่าโควิดรอบแรกทำเศรษฐกิจเมียนมาได้รับผลกระทบหนักสุดในช่วงไตรมาส 2 และ 3 และไตรมาสที่ 4 เริ่มปรับตัวดีขึ้น ซึ่งบทวิเคราะห์นี้ได้ประเมินของโควิดรอบแรก ฉะนั้นถ้ารวมผลกระทบโควิดรอบที่สองด้วยแล้ว GDP เมียนมา ปี 2020 ต่ำกว่าคาดการณ์แน่นอน

 

โควิดทุบ “GDP” เมียนมา ต่ำสุดใน “3 ทศวรรษ”

 

ในบทวิเคราะห์นี้ยังพบว่ากลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักสุดได้แก่ บันเทิง อุตสาหกรรม และก่อสร้าง ส่วนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบน้อยคือเกษตรกรรม เหมืองแร่ ธนาคาร การศึกษาและสาธารณสุข ซึ่งถ้าแยกออกเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากสุด เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม ได้แก่ ธุรกิจบริการอาหาร ธุรกิจเกษตรแปรรูปและการขนส่งอาหาร ส่วนธุรกิจอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบได้แก่ เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักร แปรรูปผลไม้ เครื่องดื่มและยาสูบ อ้อยและน้ำตาล เป็นต้น

 

นอกจากนี้มีการประเมินว่า ถ้าเมียนมามีการล็อกดาวน์ 2 สัปดาห์ (ประเมินในรอบแรก) จะทำให้ GDP รวมของประเทศลดลงไป 41% GDP ของก่อสร้างลดลงมากที่สุดถึง 80% ตามด้วย GDP ภาคบริการลดลงไป 56% และ GDP ด้านอุตสาหกรรมลดลงไป 52% และจะทำให้แรงงานในเมียนมาตกงาน 5.3 ล้านคน  หากไปดูไทม์ไลน์ล็อกดาวน์ของเมียนนาพบว่ามีการล็อกดาวน์ครั้งที่ 1 ระหว่างกลางเดือนมีนาคมถึงเมษายน 2563 และมีการล็อกดาวน์ครั้งที่สองเมื่อเดือนกันยายน 2563

 

โควิดทุบ “GDP” เมียนมา ต่ำสุดใน “3 ทศวรรษ”

อย่างไรก็ตาม ปี 2021 เศรษฐกิจเมียนมาจะกลับมา “โชติช่วง” อีกครั้ง (ตามที่สถาบันเศรษฐกิจต่างๆ คาดไว้) หากเป็นตามนั้น “ธุรกิจหลังโควิดในเมียนมาใดที่น่าสนใจ” ถ้าให้ผมประเมิน ผมพบว่า “ธุรกิจ E-commerce” น่าสนใจมาก การค้าขายออนไลน์ในเมียนมากำลังโต

 

นอกจากสินค้าที่ขายออนไลน์แล้ว ธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น การอบรมออนไลน์ หลักสูตรออนไลน์ อุปกรณ์เครื่องมือไอที และการทำอินโฟกราฟิก(infographic) เป็นธุรกิจหลังโควิดทั้งสิ้น  นอกจากโควิดจะทำให้ E-Commerce ในเมียนมาโตเร็วแล้ว การที่รัฐบาลจีนและเมียนมาให้มี “cross border economic cooperation zone” ระหว่างรัฐฉานกับมณฑลยูนนานของจีน (มูเซ-รุ่ยลี่) ที่มีการสร้างระเบียงเศรษฐกิจแบบครบวงจร เพื่อผลักดันให้เกิดการค้าแบบ “cross border e-commerce” ยิ่งเป็นแรงผลักดันอีกแรงหนึ่งอีกด้วย ธุรกิจต่อไปหลังจากโควิดผมคิดว่า “ธุรกิจก่อสร้าง” เพราะเมียนมาที่แผนก่อสร้างโครงการต่างๆ มากมาย นอกจากนี้ “กลุ่มอาหารสุขภาพ เครื่องมือด้านสุขภาพ และเครื่องสำอางด้านสุขภาพและดูแลสุขภาพ” จะได้รับการสนใจในตลาดเมียนมา

 

สิ่งที่ควรระวังคือ หลังจากนี้เมียนมาจะมีการตรวจสินค้านำเข้าเข้มขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน รวมไปถึงค่าเงินจ๊าต (Kyat) ที่จะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ครับ