1 ใน 10 ความยากง่าย การประกอบธุรกิจ

02 ธ.ค. 2563 | 05:30 น.

1 ใน 10 ความยากง่าย การประกอบธุรกิจ : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3632 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 3-5 ธ.ค.2563

 

          รัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายผลักดันปรับปรุงการอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจในการจัดตั้งและดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ติด 1 ใน 10 ประเทศ ตามการประเมินความยากง่ายการทำธุรกิจ Ease of doing business ของธนาคารโลกในอีก 2 ปีข้างหน้าหรือปี 2565 หลังจากช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอันดับของไทยขยับดีขึ้นจากอันดับที่ 49 มาอยู่ที่อันดับที่ 21 จาก 190 ประเทศทั่วโลก

          ก่อนหน้านี้ เอกอัครราชทูต 4 ชาติประจำประเทศไทย อันประกอบไปด้วย ออสเตรเลีย เยอรมนี สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ได้ร่วมกันออกมาเสนอแนะให้ประเทศไทย ปรับปรุงความยากง่ายในการประกอบธุรกิจยกระดับสู่ท็อป 10 ประเทศที่ประกอบธุรกิจได้ง่ายที่สุด ด้วยเห็นว่าผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจนั้นรุนแรง ต้องหาวิธีการทำงานใหม่ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างภูมิต้านทานให้เศรษฐกิจ เพื่อจะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

          การไปสู่เป้าหมายดังกล่าวทูต 4 ชาติเสนอ อาทิเช่น ให้ลดขั้นตอนพิธีการศุลกากรการค้าผ่านแดนสู่ระบบดิจิทัล ทําให้การยื่นเอกสารการทําง่ายขึ้น เดินหน้าสู่การค้าดิจิทัล สร้างสภาพแวดล้อมแบบ sandbox เพื่อพัฒนานวัตกรรม ดําเนินโครงการทบทวนการอนุญาตของทางราชการ ปฏิรูปกฎระเบียบขั้นตอนราชการ ลดขั้นตอนการขอวีซ่าสําหรับแรงงานฝีมือและช่วยขจัดอุปสรรคการลงทุนในสาขาที่เน้นความรู้และเทคโนโลยีระดับสูง เพิ่มแพลตฟอร์มรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ทําให้กระบวนการทํางานและกฎระเบียบทุกชนิดของรัฐบาล อยู่บนระบบออนไลน์

          เน้นทํางานร่วมกับนักลงทุนด้วยความโปร่งใสเพื่อคลี่คลายข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ลดความซับซ้อนในการสมัครขอรับการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ปรับปรุงกระบวนการเข้าสู่การล้มละลาย กระบวนการบังคับคดีล้มละลาย เผยแพร่สร้างความชัดเจนกฎหมายว่าด้วยการล้มละลาย ปรับพิธีการศุลกากรให้ทันสมัยและได้มาตรฐาน เพิ่มกระบวนการดิจิทัลในการอนุมัติขององค์กรอาหารและยา ปรับปรุงระบบเอกสารและเปิดรับลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์

          อย่างไรก็ดี แม้คะแนนในการประเมินอยู่ที่ 80.1 ซึ่งดีที่สุดในรอบ 10 ปี และยังมีคะแนนห่าง จากท็อป 10 เพียง 3 คะแนน และมีข้อเสนอหลายข้อจากทูตและนักธุรกิจต่างชาติในไทยได้ดำเนินการไปแล้ว แต่รัฐบาลและหน่วยราชการสำคัญ ยังต้องดำเนินการอีกหลายประเด็น โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎหมายด้านใบอนุญาตอีกหลายธุรกิจและหลายหน่วยงานที่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญ รวมทั้งกฎหมายที่เอื้อให้ประเทศเข้าสู่ระบบดิจิทัลหรือกฎหมายเกี่ยวข้องกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด และในบางเรื่องจำเป็นต้องใช้ความกล้าหาญในทางการเมืองระดับสูง เพราะต้องไปตัดทอนอำนาจของราชการที่เป็นเสมือนบ่อนํ้าในการตักตวงผลประโยชน์ที่เคยได้ให้ลดลงไป