“วัคซีนโควิด-19” กับสัญญาณบวกทางเศรษฐกิจ

02 ธ.ค. 2563 | 04:57 น.

จากที่หลายบริษัทได้ค้นคว้าและวิจัยวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สร้างความหวังคนทั่วโลกจะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติในเร็ววัน ส่งสัญญาณบวกเศรษฐกิจไทยและทั่วโลกจะกลับมาฟื้นตัวนั้น

นับเป็นข่าวดีของไทยที่เมื่อเร็ว ๆ นี้กระทรวงสาธารณสุข  สยามไบโอไซเอนซ์  เอสซีจี และแอสตร้าเซนเนก้า บริษัทผู้ผลิตชีวภัณฑ์ชั้นนำสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ร่วมลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) ในการผลิตและจัดสรรวัคซีนวิจัยป้องกันโควิด-19 AZD1222 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด

 

โดยข้อตกลงทุกฝ่ายจะทำงานร่วมกัน เพื่อเสริมศักยภาพด้านกำลังการผลิตของ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ให้พร้อมรองรับการผลิตวัคซีนจำนวนมากเพื่อให้ประเทศไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมและทันเวลา 

 

แอสตร้าเซนเนก้า จะจัดสรรวัคซีนวิจัยดังกล่าวโดยไม่มุ่งหวังผลกำไรในช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมกันนี้จะถ่ายทอดเทคโนโลยีและร่วมมือกับสยามไบโอไซเอนซ์ ในการติดตั้งกระบวนการผลิต ความร่วมมือดังกล่าวเกิดจากการผลักดันโดยกระทรวงสาธารณสุข ที่สร้างความเชื่อมั่นต่อการผลิตในประเทศไทย

 

กระทรวงสาธารณสุข จะได้รับวัคซีนวิจัย AZD1222 หลังจากผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด โดยมีเป้าหมายเริ่มจัดสรรวัคซีนสำหรับประชาชนชาวไทยได้ภายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564

 

“วัคซีนโควิด-19” กับสัญญาณบวกทางเศรษฐกิจ

ข่าว“วัคซีนโควิด-19”ความหวังของคนทั้งโลกขยับไปทางไหนก็มีทั้งผลบวก ผลลบต่อเศรษฐกิจ  ล่าสุดก็ดีดราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นหลังตลาดมีความหวัง  ยิ่งไปกว่านั้นภาคเอกชนไทยหลายรายมีความเห็นอย่างมีความหวัง

 

 ในปี2564 “วัคซีนโควิด-19”จะเป็นอัศวินขี่ม้าขาวมาปลุกเศรษฐกิจโลก อย่างน้อยได้เห็นความเคลื่อนไหว ไล่ตั้งแต่ภาคท่องเที่ยว  นับจากที่เริ่มมีการประกาศความสำเร็จของวัคซีนทั้งของ Pfizer และ Moderna จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งมาตรการการคลายล็อคให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าไทยได้มากขึ้น คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประมาณ 10-12 ล้านคน

 

ขณะที่ภาคส่งออกของไทย น่าจะได้นับอานิสงส์จากผลสำเร็จของวัคซีนเช่นกัน และยังรวมถึงนโยบายของว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่จะใช้เงินงบประมาณจำนวนมากกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐอัดฉีดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ ย่อมส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐด้วย รวมทั้งการที่ไทยลงนามเข้าร่วม ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค 15 ประเทศสมาชิก RCEP ซึ่งเป็นเขตการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก  คาดว่าการส่งออกจะพลิกกลับมาเป็นบวกราว 4-5% แต่ต้องระวังเรื่องการแข็งค่าของเงินบาทที่อาจจะกดดันยอดการส่งออกได้ในระยะต่อไป

 

“วัคซีนโควิด-19” กับสัญญาณบวกทางเศรษฐกิจ

สำหรับภาคการลงทุนในประเทศทั้งของคนไทยและการลงทุนโดเยตรงจากต่างประเทศ(FDI) โดยได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ยังส่งผลให้มีการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมายังกลุ่มอาเซียนมากขึ้น และไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมาย ส่วนนักลงทุนไทยก็คงได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้การส่งออกมากขึ้น ทั้งสองเหตุผล คาดว่าการลงทุนน่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2563

 

“วัคซีนโควิด-19” กับสัญญาณบวกทางเศรษฐกิจ

 

เช่นเดียวกับที่ก่อนหน้านี้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยว่าอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในไตรมาส 3 ของปี 2563 ติดลบ 6.4% ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ติดลบถึง 12.1% รวมเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปี 2563 ติดลบ 6.7% ปัจจัยหนุนการเติบโตเศรษฐกิจไตรมาส 3 เนื่องจากมาตรการคลายล็อกดาวน์ส่งผลให้กิจกรรมกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจทั้งปี 2563น่าจะดีขึ้นโดยติดลบแค่ 6% จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 7.5%  ด้านท่าทีภาคเอกชนและนักวิชาการต่างออกมาประเมินว่าไตรมาสสุดท้ายปีนี้การส่งออกจะติดลบลดลงทำให้ทั้งปี 2563 การส่งออกยังติดลบต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ หลังจากที่กำลังซื้อค่อย ๆ ฟื้นตัวได้

 

ทั้งหมดนี้นับเป็นสัญญาณบวก... เป็นความหวัง....ที่จะทำให้ภาพรวมทางเศรษฐกิจค่อย ๆ กลับมาฟื้นตัวดีขึ้นเพียงแต่การฟื้นตัวจะไม่ขยับตัวแรงเหมือนในอดีต  เหมือนอย่างทุกครั้งที่ไทยเจอวิกฤติเพียงลำพัง แต่ครั้งนี้เป็นการเผชิญวิกฤติพร้อมกันทั้งโลกจึงต้องใช้เวลาและความอดทนมากกว่าเดิมเป็นเป็น 2 เท่า