ประโยชน์ของการเตรียมตัวตาย

02 ธ.ค. 2563 | 04:20 น.

ประโยชน์ของการเตรียมตัวตาย : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ  โดย... รศ.ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,632 หน้า 5 วันที่ 3 - 5 ธันวาคม 2563

 

ประชาชนไทยมีสิทธิตามกฎหมายในการเตรียมตัวตาย รัฐอนุญาตให้ประชาชนทำ “พินัยกรรม” เพื่อระบุรูปแบบการจัดการกับร่างกายและทรัพย์สิน (รวมไปถึงการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกและผู้จัดการทำศพ) หลังความตายได้ และยังอนุญาตให้ทำ “พินัยกรรมชีวิต” เพื่อแสดงเจตนาในการปฏิเสธการรักษาที่มีวัตถุประสงค์ในการยืดชีวิต เมื่อเจ็บป่วยหนักจนรักษาไม่ได้แล้วและอยู่ในระยะใกล้ตาย 

 

การให้สิทธิในการเตรียมตัวตาย นับเป็นกระบวนการของรัฐในการอนุญาตให้บุคคลมีอำนาจ (Autonomy) ตัดสินใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและทรัพย์สินของตนเองได้ แม้ในช่วงใกล้ตายหรือหลังความตาย แทนที่จะให้ผู้อื่นตัดสินใจแทน โดยรัฐถ่ายโอนการตัดสินใจดังกล่าวให้เกิดขึ้นในสภาวะที่บุคคลมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ โดยมองว่า สำหรับบุคคลหนึ่งๆ การตัดสินใจในช่วงที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์จะใกล้เคียง หรือเหมือนกันกับการตัดสินใจของบุคคลเดียวกันนั้นในช่วงที่ไม่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์แล้ว 

 

การทำพินัยกรรมและพินัยกรรมชีวิตมีประโยชน์อย่างมาก เพราะช่วยลดโอกาสที่ผู้เสียชีวิตและผู้ที่ใกล้เสียชีวิตจะได้รับการปฏิบัติที่ไม่ได้เป็นไปตามความประสงค์ของตนซึ่งอาจนำไปสู่การตายไม่ดี ช่วยลดความขัดแย้งระหว่างคนในครอบครัว และช่วยลดต้นทุนทางอารมณ์ของผู้เสียชีวิตและครอบครัวอันเกิดจาก ความขัดแย้งดังกล่าว ในกรณีของพินัยกรรมชีวิต ประโยชน์ยังรวมถึงการลดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพในระยะใกล้ตายที่ไม่จำเป็น (เนื่อง จากขัดกับความต้องการของผู้ป่วย) ซึ่งมีการประมาณไว้ว่าอาจสูงถึงหนึ่งในสามของค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพตลอดชีพโดยเฉลี่ย (Alemayehu and Warner, 2004) 

 

นอกจากนี้ การพิจารณาถึงความตายยังส่งผลในเชิงบวกต่อพฤติกรรมทางเศรษฐกิจ การประเมินความตาย (ว่าตนเองน่าจะตายเมื่อไหร่) ทำให้ผู้บริโภคสามารถวางแผนการบริโภค การลงทุน และการออมตลอดชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดการบริโภคที่มากเกินไปในช่วงหนุ่มสาวจนทำให้เกิดความยากจนในยามสูงวัย และไม่เกิดการออมที่มากเกินไปจนไม่มีโอกาสใช้ทรัพย์สมบัติ เพื่อสร้างประโยชน์สุขให้กับตนเองและสังคมอย่างเพียงพอ 

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการเตรียม ตัวตายจะมีประโยชน์และกฎหมายก็เอื้อให้ประชาชนจัดการกับชีวิตและทรัพย์สินหลังความตายได้ แต่การเตรียมตัวตายก็มีอยู่อย่างจำกัด ในด้านการทำพินัยกรรม 

 

การสำรวจ Estate Planning and Wills Study ของ Caring.com ที่เก็บข้อมูลของประชากรที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 2,400 คน เมื่อต้นปีที่ผ่านมา พบว่า สัดส่วนของผู้ตอบแบบสอบถามที่ระบุว่าตนเองมีพินัยกรรมคิดเป็นเพียงร้อยละ 32 เท่านั้น 

 

สำหรับประเทศไทย แม้ว่าจะยังไม่มีการสำรวจอย่างเป็นทาง การ แต่ก็คาดการณ์ได้ว่าตัวเลขน่าจะตํ่ากว่าของประเทศสหรัฐ อเมริกาเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยประเทศไทยมีสัดส่วนของผู้สูงอายุที่มีทรัพย์สินส่วนเกิน (มีทรัพย์สินมากกว่าที่จะใช้จนหมดในยามที่มีชีวิตอยู่) และพี่งพาตนเองทางการเงินได้ที่ตํ่ากว่าประเทศสหรัฐอเมริกา

 

 

 

สำหรับการทำพินัยกรรมชีวิต สัดส่วนของผู้ที่ทำนิติกรรรมดังกล่าวก็มีจำกัดเช่นกัน การศึกษาของ Yadav et al. (2017) พบว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วง พ.ศ. 2554-2559 ประชาชนราวหนึ่งในสามเท่านั้นที่มีพินัยกรรมชีวิต ส่วนในประเทศไทย แม้จะยังไม่มีการรายงานตัวเลขในระดับชาติ แต่การศึกษาในกลุ่มตัวอย่างเฉพาะที่ผ่านมา (เช่น การศึกษาของชนิกานต์ วงศ์ประเสริฐสุข และ ธัญญรัตน์ ประมวลวงษ์ธีร (2561) และของรุ่งมณี พุกไพจิตร์ และคณะ (2561) เป็นต้น) ชี้ให้เห็นว่า คนไทยในกลุ่มตัวอย่าง (แทบ) ทั้งหมดยังไม่ได้เขียนพินัยกรรมชีวิต แม้จะมีทัศนคติในเชิงบวกต่อการกระทำดังกล่าวก็ตาม 

 

 

ประโยชน์ของการเตรียมตัวตาย

 

 

คำถามที่สำคัญ คือ ทำไมคนจึงเลือกที่จะไม่เตรียมตัวตาย ทั้งที่การเตรียมตัวตายและการคำนึงถึงความตายมีประโยชน์ สาเหตุมีด้วยกันหลายประการ ทั้งการขาดความรู้เกี่ยวกับการเขียนพินัยกรรมและพินัยกรรมชีวิตอย่างถูกต้อง ความยากลำบากและต้นทุนในการทำและเก็บรักษานิติกรรมดังกล่าว 

 

การที่ความกังวลต่อความตาย (Death Anxiety) อยู่ในระดับสูงจนทำให้หลีกเลี่ยงการคิดถึงความตาย และการขาดความสามารถในการประเมินอายุขัยของตนเอง อันทำให้ไม่แน่ใจว่าควรเขียนพินัยกรรมและพินัยกรรมชีวิตเมื่อไหร่ และผัดผ่อนการกระทำดังกล่าวไปเรื่อยๆ จนไม่มีโอกาสได้เตรียมตัวตายในที่สุด

 

สาเหตุทุกประการข้างต้นมีนัยเชิงนโยบายร่วมกัน คือ รัฐต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยทั่วไปและให้ความรู้ทางกฎหมายในด้านการเตรียมตัวตาย งานวิจัยในต่างประเทศที่ผ่านมามักจะมีบทสรุปในทางเดียวกันว่าการศึกษาที่ดีจะช่วยทำให้บุคคลประเมินสถานการณ์ในชีวิต (อันรวมถึงความตาย) ได้อย่างแม่นยำขึ้น ทำให้เกิดความรู้สึกถึงคุณค่าในชีวิตและลดระดับกังวลต่อความตายลง และทำให้เกิดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเตรียมตัวตายที่เพิ่มขึ้นด้วย

 

 

เอกสารอ้างอิง: 

Alemayehu, B., and Warner, K. E. (2004). The lifetime distribution of health care costs. Health Services Research, 39(3), 627-642.

 

Witvorapong, N. (2015). The relationship between upstream intergenerational transfers and wealth of older adults: Evidence from Thailand. Journal of Population Research, 32, 215-242.

 

ชนิกานต์ วงศ์ประเสริฐสุข และ ธัญญรัตน์ ประมวลวงษ์ธีร (2561). ทัศนคติต่อการเขียนแสดงเจตนารมณ์ของตนเองในวาระสุดท้ายของชีวิต. วารสารการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Journal of Medicine and Health Sciences), 25(3), 81-94.

 

นพพล วิทย์วรพงศ์ (2563). การตัดสินใจในระยะท้ายของชีวิตกับสังคมไทย: บทเรียนจากประสบการณ์ของต่างประเทศ. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ. โรงพิมพ์ภาพพิมพ์.

 

นพพล วิทย์วรพงศ์ (2563). ความคาดหวังต่อความยืนยาวของชีวิต ความกังวลต่อความตาย และพฤติกรรมของผู้บริโภค. Working Paper.

 

รุ่งมณี พุกไพจิตร์, สุธี อยู่สถาพร, ฉัตรสุมน พฤฒิภิญโญ และ นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์ (2561). การตัดสินใจใช้สิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตของผู้ป่วยทหารผ่านศึก. วารสารกฎหมายสุขภาพและสาธารณสุข, 4(1) (มกราคม-เมษายน), 1-14.