อุทาหรณ์ของโควิดระลอกสอง

30 พ.ย. 2563 | 01:45 น.

อุทาหรณ์ของโควิดระลอกสอง : คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์


          เมื่อวานนี้(วันที่ 28 พฤศจิกายน) เห็นข่าวสาวชาวเมียนมาที่ติดเชื้อ COVID-19 ระลอกสอง แล้วลักลอบเข้ามาที่เชียงใหม่ ปรากฏว่าอาละวาดไปทั่วเมือง ทำให้ผู้คนแตกตื่นกันไปหมด ผมเชื่อว่าทุกท่านคงได้รับข่าวสารชิ้นนี้กันหมดแล้ว แต่สิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้ คืออุทาหรณ์ที่เราต้องเตือนใจกันนะครับ เพราะวันนี้เราคนไทยเคยชินกับสถานการณ์เลวร้ายของเจ้าวายร้าย COVID-19 จนกลายเป็นเรื่องปกติของชีวิตกันไปเสียแล้ว

          ถ้าจำกันได้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ผมพยายามจะส่งข่าวมาตลอดว่า อันตรายจากเจ้าวายร้าย COVID-19 ระลอกสองได้เจ้าสู่ประเทศเมียนมาแล้ว เราต้องระวังตัวกันนะครับ ออกนอกบ้านหรือนอกที่ทำงาน ต้องอย่าลืมหน้ากากอนามัยและน้ำยาล้างมือเป็นอันขาด เพราะเราจะไม่มีทางรู้เลยว่าใครติดเชื้อเจ้าวายร้ายนี้ไปแล้ว และอีกอย่างหนึ่งคือผู้คนที่หนีตายจากประเทศเมียนมา ที่เข้ามาสู่ประเทศไทยเรานั้น เราจะไม่มีทางรู้เลยว่ามีใครบ้างนั่นเอง

          หากจะนึกย้อนกลับไปในอดีต ยุคที่คุณพ่อ-คุณแม่ผมหนีตายมาจากประเทศจีน บั่นปลายชีวิตของคุณแม่ผม ท่านได้มาอยู่กับผมก่อนที่ท่านจะไม่ได้มีโอกาสเดินเหินและพูดได้ เพราะท่านได้ถูกโรคอัมพาตจนกระทั่งเสียชีวิตไป ในช่วงที่ท่านพำนักอยู่กับผม ท่านจะเล่าเรื่องบ้านเกิดของท่านให้ผมฟังทุกวัน ซึ่งนับว่าเป็นโชคดีของผมที่สามารถฟังภาษาจีนจากปากของท่านได้อย่างดี เพราะผมได้เล่าเรียนภาษาจีนมาตั้งแต่เด็กๆ จนกระทั่งจบมัธยมปลายที่ไต้หวัน จึงมีความถนัดภาษาจีนมากกว่าพี่น้องคนอื่นๆ ท่านเล่าว่าในยุคนั้นเป็นยุคสงครามกลางเมืองระหว่างจีนคณะชาติกับจีนคอมมิวนิสต์ ชาวจีนได้ประสบกับภัยแล้งอย่างรุนแรง แต่ละบ้านจะได้รับการปันส่วนข้าวสารมื้อละหนึ่งถ้วยเล็กๆเท่านั้น ดังนั้นทุกบ้านจะต้องนำเอาข้าวสารมาผสมใส่เผือกหรือมันเทศเยอะๆ เพื่อต้มเป็นข้าวต้มทานกัน จึงจะเพียงพอให้สมาชิกครอบครัวอิ่มท้องได้

          หลังจากที่ท่านทราบว่า ที่เซี่ยมล้อ(สยามประเทศ) มีความอุดมสมบูรณ์ ไม่อดยากปากแห้ง จากการที่คุณลุง(พี่ชายคนโต)ของคุณพ่อผมได้มาถึงประเทศไทยก่อน และส่งจดหมายพร้อมเงินที่เป็นลักษณะโพ้ยกว้านกลับไปให้ปู่-ย่าผมที่มืองจีน ท่านจึงตั้งปณิธานว่าจะต้องมาที่ประเทศไทยให้ได้ ท่านจึงขายควายไปสองตัว พร้องทั้งเดินทางด้วยเท้า สองวันสามคืนมาที่เมืองซัวเถา เพื่อมาลงเรือที่นั่น การมาเมืองไทยครั้งนั้นลำบากมาก การเดินเท้ามาซัวเถาถือว่าเล็กน้อยมากๆ เพราะที่หนักหนาคือการนั่งเรือสำเภา เพราะบนเรือนั้นเนืองแน่นไปด้วยผู้คน ที่หนีตายกันมาพึ่งพระโพธิสมภารด้วยกันทั้งนั้น เรือสำเภาลำไม่ใหญ่มาก แต่แออัดไปด้วยผู้โดยสารร่วมพันคน ทุกคนไม่มีที่นอนกัน ก่อนขึ้นเรือมีเพื่อนบ้านท่านหนึ่ง ได้กรุณาต่อเก้าอี้ด้วยไม้ให้คุณพ่อ-คุณแม่ผมถือมาจากบ้านเกิดด้วย (ตอนหลังผมมีโอกาสไปที่บ้านเกิด จึงได้ให้ซองแดงที่ใส่เงินเล็กน้อยให้กับลูกหลานของท่านผู้นั้นเป็นการแทนบุญคุณ) เมื่ออยู่บนเรือสำเภา ท่านทั้งสองได้ที่นั่งอยู่ที่ท้ายเรือ ท่านก็ได้อาศัยเก้าอี้ตัวที่เพื่อนบ้านทำให้ นั่งมาตลอดการเดินทาง เพราะไม่มีที่กว้างพอที่จะนอนได้นั่นเอง และแทบจะทุกวันท่านจะเห็นขนขนศพคนตายมาทิ้งลงทะเลทุกวัน พอเรือสำเภาเทียบท่าเรือที่ท่าดินแดง ท่านก็บอกว่าเหมือนได้เห็นสวรรค์อยู่เบื้องหน้า ทุกวันนี้จึงได้มีพวกผมเกิดมาในผืนแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์นี้ครับ 

         

          ที่ผมเล่ามาทั้งหมด เพื่อให้นำมาเปรียบเทียบกับยุคปัจจุบันนี้ครับ ในยุคของเจ้าวายร้าย COVID-19 ระลอกสองที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา  ณ วันนี้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในนั้น รุนแรงมากกว่ายุคคุณพ่อ-คุณแม่ผมหนีตายเป็นไหนๆ เพราะภัยแล้งอย่างมากก็แค่ปีสองปีเท่านั้น แต่สถานการณ์ COVID-19 เราไม่สามารถรู้เลยว่าจะมีจุดจบกันวันไหน อีกอย่างภัยแล้งก็ไม่ได้มีการติดเชื้อโรคร้าย ยังมีโอกาสเดินเหินไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกสบาย ไม่มีกฏเกณฑ์อะไรมาปิดกั้น แต่เจ้าวายร้าย COVID-19 ระลอกสองนี้ จะต้องมีการจำกัดทุกเรื่อง สุขอนามัยก็ต้องป้องกันกันอย่างเข้มงวด และยังทำให้เศรษฐกิจพังอย่างยับเยิน การทำมาหากินยากลำบากมากๆ คนที่อยู่ในประเทศเช่นนี้ ต้องมีสักวันถ้ามีโอกาสหนีตาย จะต้องดั้นด้นหนีตายกันอย่างแน่นอนครับ

          สถานที่จะไปที่ง่ายที่สุด ต้องเป็นประเทศที่อยู่ทางตะวันออกคือประเทศไทยเท่านั้น เพราะถ้าหนีตายไปทางตะวันตก เจอประเทศอินเดียและบังคลาเทศ ก็หนักหนาสาหัสพอๆกันกับประเทศเมียนมาของตนเอง จะไปทางเหนือก็เจอประเทศจีน ซึ่งก็หนีเข้าไปลำบากมาก เพราะทางการจีนเขาเข้มงวดมาก ดังนั้นประเทศไทยที่มีพร้อมทั้งความปลอดภัย และมีความเมตตากรุณาสูงสุด อีกทั้งเข้ามาแล้วยังเจอญาติมิตรเพื่อนฝูงที่ทำงานอยู่แล้ว ก็ไม่ลำบากเลยครับ ดังนั้นแผ่นดินที่ติดกันสองพันสี่ร้อยกว่ากิโลเมตร จะเข้าทางป่าเขาหรือช่องทางธรรมชาติด้วยการเดินเท้า ก็ยังสบายกว่าคุณพ่อ-คุณแม่ผมมาก แล้วมีเหตุผลอะไรที่จะทำให้เขาไม่หนีเข้ามาประเทศไทยละครับ นี่คือสิ่งที่น่ากลัวที่สุดครับ

          ทีนี้เราดูว่าสถานที่ไหนที่เขาจะหนีเข้ามาละครับ แน่นอนว่าเขาคงไม่สะเหร่อหนีไปอยู่ในหมู่บ้านหรือตำบลเล็กๆหรอกครับ เพราะที่เหล่านั้นของประเทศไทย มีอาสาสมัครหมู่บ้าน อีกทั้งที่เล็กๆถ้ามีใครหลงเข้ามา ก็มีคนรู้ได้ทันที เขาจึงฉลาดพอที่จะเข้ามากรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ๆ เช่นเชียงใหม่ โคราช อุบล อุดร ฯลฯ เพราะสังคมเมืองของเรา จะไม่มีคำว่า “เพื่อนบ้าน”หลงเหลืออยู่กันแล้ว แม้บ้านที่อยู่ใกล้กัน ก็ไม่มีใครสนใจใคร ไม่เหมือนต่างจังหวัดหรือภูธร ในอดีตตอนผมเป็นเด็กเล็กๆ ยังจำได้ว่าเวลาทำกับข้าวกับปลา ยังมีแบ่งให้เพื่อนบ้านได้กินกัน เวลานี้อาจจะไม่มีหลงเหลือให้เห็นแล้วก็ได้ครับ น่าเสียดายวัฒนธรรมดีๆเหล่านี้นะครับ แต่ที่ยังเหลืออยู่ก็เพียง การสอดรู้สอดเห็นเรื่องของชาวบ้าน ซึ่งแม้จะไม่ค่อยดีนัก แต่ในสถานการณ์นี้ก็ยังโอเค...พอจะช่วยได้ครับ นั่นคือจะได้ช่วยกันสอดส่องดูแลกัน ไม่ให้มีผู้ติดเชื้อที่เราไม่รู้จักเข้ามาในหมู่บ้านเราครับ ดังนั้นคนที่เขาหนีตายจึงหนีเข้ากรุงเทพฯและเมืองใหญ่ๆกันหมดครับ
 

          สรุป พวกเราที่อยู่ในสังคมเมืองใหญ่ คงจะต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงความรู้สึกว่า “ไม่มีอะไร ไม่เห็น่ากลัวเลย” ให้กลับมาช่วยกันระมัดระวังตัวเองกันให้ดีได้แล้วครับ อย่าลืมนะครับ เวลาออกนอกบ้าน ต้องมีหน้ากากอนามัยและน้ำยาล้างมือเสมอครั