มาแล้ว! ‘โกดังพักหนี้’ เซฟเฮ้าส์ฟื้นธุรกิจ

26 พ.ย. 2563 | 05:00 น.

มาแล้ว! ‘โกดังพักหนี้’ เซฟเฮ้าส์ฟื้นธุรกิจ : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3630 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 29-28 พ.ย.2563 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

          ข่าวดีที่ทำให้รัฐบาลและผู้ประกอบการไทยใจชื้นขึ้นมาในระยะที่ผ่านมาคือ ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 3 จะออกมาติดลบ 6.4% เมื่อเทียบกับปี 2019 ที่ผ่านมา แต่เติบโตขึ้นจากไตรมาส 2 ถึง 6.5% ทำให้เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจโดยรวมของไทยเริ่มพ้นจากก้นเหว

          อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเศรษฐกิจไทยหลายอย่างในไตรมาส 3/2563 ยังน่าเป็นห่วง เพราะการบริโภคภาคเอกชนถดถอยติดลบ 0.6% การส่งออกยังถดถอยมากติดลบอยู่ 22.6% การนำเข้าติดลบ 19.9%

          และถึงแม้ว่าสถาบันทางเศรษฐกิจหลายแห่งพากันประเมินว่า เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวชัดเจน แต่โครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาต้องแก้ไขกันขนานใหญ่ 

          สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินั้น คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะติดลบ 6% และคาดว่าในปี 2564 จะเติบโตขึ้นมาในช่วง 3.5-4.5% โดยจะได้ปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว การบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัว การเบิกจ่ายของรัฐบาลและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 

          ขณะที่ Goldman Sachs คาดว่า จีดีพีของไทยในปีนี้จะถดถอยติดลบราว 6.3% จากตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ที่ดีกว่าที่คาด และเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะเติบโตได้มากถึง 5%

          ส่วน UOB สถาบันการเงินในสิงคโปร์นั้น คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบราว 6.5% ดีขึ้นกว่าที่เคยประมาณไว้ว่าจะติดลบ 7.5% เพราะเศรษฐกิจไทยนั้นพึ่งพาการส่งออกและท่องเที่ยวในสัดส่วนที่สูงมาก เมื่อมีปัจจัยขาลงทำให้เศรษฐกิจไทยย่ำแย่กว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย แต่ในปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจไทยโตได้ถึง 6%

          แต่ข่าวร้ายที่ยังกลายเป็นฝีกลัดหนองของประเทศไทย คือธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่มีสัดส่วนทางเศรษฐกิจอยู่ประมาณ 12.5% ของจีดีพีประเทศยังจมน้ำหายใจไม่ออก 

          อย่าลืมว่าประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด 3 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ราว 1.9 ล้านล้านบาท หรือ 63% ของรายได้ของการท่องเที่ยวทั้งหมด มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อน่านฟ้าของการเดินทางปิดสนิทผู้ประกอบการก็สลบไสลหายใจไม่ออก

          เช่นเดียวกับผู้ประกอบการและประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ขอรับการปรับโครงสร้างหนี้รวมกันกว่า 12.12 ล้านราย มูลหนี้ทั้งสิ้นกว่า 6.9 ล้านล้านบาท แยกเป็นลูกหนี้สถาบันการเงินของรัฐ 6.57 ล้านราย มูลหนี้ 2.89 ล้านล้านบาท ที่เหลือกว่า 5.56 ล้านราย มูลหนี้ราว 4.01 ล้านล้านบาท คนกลุ่มนี้ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มชักหน้าไม่ถึงหลัง ตกอยู่ในสภาพของคนที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ พร้อมที่จะ “ชักดาบ” ขึ้นมาสู้กับเจ้าหนี้แทบทั้งสิ้น

          แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินเจ้าหนี้ จะออกมาตรการขยายระยะเวลาการลดดอกเบี้ย ขยายเวลาในการผ่อนชำระหนี้ออกไปยาวถึงเดือนมิถุนายน 2564 แต่ข้อมูลในความเป็นจริงคนกลุ่มนี้ก็ยังไม่ออกจากห้องไอซียู เพราะวิกฤติทางเศรษฐกิจจากพิษไวรัสโควิด-19 นั้น ยังคงกัดกินผู้คนไปอีกอย่างน้อย 2 ปีกว่าจะค่อยฟื้นตัวกลับมา

          ปัญหาคือ จะทำอย่างไรไม่ให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่จมน้ำอยู่จำนวนมาก ลุกขึ้นมายืนอยู่ได้ไม่ล้มหายตายจากไปจากสภาวะการปิดล็อกดาวน์ของโลก

          แนวทางหนึ่งที่ผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยจุดพลุขึ้นมาเป็นนโยบายในเดือนที่ผ่านมาคือ “มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ และธนาคารพาณิชย์ที่ต้องรับมือกับหนี้เสีย (NPL) ที่เพิ่มสูงขึ้น” ด้วย “การจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อมาดูแล NPL ทั้งหมด โดยจะดำเนินการในรูปแบบของการสร้างโกดังพักหนี้ขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่า Assets Warehousing” ขึ้นมา กลุ่มเป้าหมายหลักที่โกดังพักหนี้จะเข้าช่วยเหลือคือผู้ประกอบการโรงแรมในประเทศไทยทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และมีปัญหาทางด้านรายได้ เงินสดในการชำระหนี้ และถ้าทำสำเร็จจะขยายไปยังกลุ่มเอสเอ็มอีที่กำลังอยู่ในห้องไอซียู

          ผมมีโอกาสพูดคุยกับกลุ่มคณะของสมาคมธนาคารไทยและผู้บริหารกระทรวงการคลัง ที่กำลังออกแรงเดินหน้าสร้าง “โกดังพักหนี้” แล้วเห็นว่าแนวคิดนี้ดีมาก ถ้าทำได้จะกลายเป็นเซฟเฮ้าส์ของผู้ประกอบการโรงแรมให้ฟื้นตัวขึ้นมาโดยกิจการไม่ถูกยึดและสามารถทำธุรกิจต่อไปได้ในระยะยาว

          บรรดาเจ้าของโรงแรมและโฮสเทลในประเทศไทยมีอยู่ทั้งสิ้นกว่า 1.6 หมื่นแห่ง มีห้องพักราว 775,000 ห้อง ปัจจุบันธุรกิจโรงแรมว่างงานทั้งแบบชั่วคราวและถาวรกว่า 1 ล้านคน ในจำนวนนี้กว่า 25% เป็นการว่างงานถาวรรอลุ้นกันได้เลยครับ

          แนวทางหลักๆ คือ จะมีการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ ที่เรียกกันว่า AMC ขึ้นมา โดยที่หน่วยงานของรัฐ และสถาบันการเงิน หรือภาคเอกชนที่สนใจร่วมกันเป็นผู้ถือหุ้น เพื่อรับซื้อ รับโอนหนี้เสียจากสถาบันการเงิน โดยใช้วิธีการประเมินมูลค่าของหนี้เสียตามมูลค่าที่แตกต่างกันไปของคุณภาพหนี้หรือมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสด ที่เรียกกันว่า (Present Value of Cash Flow) ที่คาดว่าสินทรัพย์ดังกล่าวจะสามารถสร้างได้ในอนาคต 

          เมื่อ AMC ได้ถือกรรมสิทธิ์ของ NPL แทนที่สถาบันการเงินเจ้าหนี้แล้ว AMC จะเป็นผู้เจรจาประนอมหนี้กับลูกหนี้ ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะมีทั้งการชำระหนี้ด้วยเงินสด การโอนหลักประกัน หรือการตีทรัพย์ชำระหนี้ หรือการแปลงหนี้เป็นทุน โดยไม่ต้องไปพึ่งกระบวนการทางศาลให้รำคาญหัวใจ

          แนวคิดการจะจัดตั้ง AMC ขึ้นมาเพื่อเป็นโกดังพักหนี้ในตอนแรกถูกจำกัดวงแคบเพียงแค่การเปิดทางให้ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของรัฐสถาบันการเงินขายหรือโอนลูกหนี้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่คุณภาพดีแต่ประสบปัญหาทางการเงิน ขาดรายได้ จ่ายหนี้ไม่ไหว เพราะไม่มีลูกค้า นำลูกหนี้กลุ่มโรงแรมมาพักฟื้นชั่วคราวไว้ที่ AMC เพื่อดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้จนกว่าภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาอยู่ในสถานการณ์ปกติ 

          ในระยะของการเข้าสู่โกดังพักหนี้นั้น หากผู้ประกอบการรายใดไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ หรือชำระหนี้ได้น้อย ทาง AMC จะเป็นผู้จัดหาเงินไปชำระดอกเบี้ยและเงินต้นให้แทนเจ้าของ จนกว่าจะฟื้นตัวซึ่มีการประเมินกันว่าน่าจะตกประมาณ 2-3 ปี แล้วแต่ศักยภาพของธุรกิจแต่ละราย จากนั้นก็ทอนเม็ดเงินที่ชำระให้แทนกลับมาเป็นสัดส่วนการถือหุ้นตามสัดส่วน เหมือนกับการแปลงหนี้เป็นทุนนั่นแหละ

          แม้ว่าทาง AMC จะมีการแปลงหนี้เป็นทุน แต่ไม่มีการปิดกั้นการเป็นบริหารและการเป็นเจ้าของกิจการขอลุกหนี้แต่อย่างใด เพราะ AMC จะกำหนดเงื่อนไขไว้ตั้งแต่แรกว่าจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมสามารถซื้อสินทรัพย์ หรือโรงแรมของตนเองคืนมาจาก AMC ได้เมื่อกิจการฟื้นตัวหรือเมื่อเจ้าของตัวจริงมีเงินพร้อมาจ่ายหนี้ และผลตอบแทนที่หน่วยงานของรัฐจะคิดจากลุกหนี้จะต้องไม่สูงเกินไป เช่นถ้ากำหนดซอฟต์โลนไว้แค่ 2% ผลตอบแทนที่จะขายออกไปก็ต้องไม่เกินเกณฑ์นี้เช่นกัน

          แนวคิดของการช่วยเหลือแบบนี้แหละครับที่เรียกกันว่า “โกดังเก็บหนี้” หรือเรียกขานกันในหมู่นักการเงิน นายธนาคารว่า Warehousing 

          แต่ผมขอเรียกว่ากระบวนการนี้แบบนี้ว่า เซฟเฮ้าส์ลูกหนี้เอ็นพีแอล!

 

          ข้อดีของมาตรการเซฟเฮ้าส์ลูกหนี้เอ็นพีแอลนั้น ผมจำแนกได้ 3 อย่าง ข้อแรก เท่ากับเป็นการจำศีลหรือแช่แข็ง ธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างน้อย 2-3 ปี เพราะมีหน่วยงานมารับพอร์ตหนี้เสียของธุรกิจจากสถาบันการเงินไปบริหารแทน 

          ข้อสอง ลูกหนี้หายใจทั่วท้อง เพราะจะมีหน่วยงานกลางมาช่วยเหลือให้แบงก์สถาบันการเงินต้องปรับเทอมชำระหนี้ ยืดเวลาการจ่ายหนี้ออกไปนานขึ้น โดยที่ธนาคารไม่ต้องตั้งสำรอง 

          ข้อสาม ลูกหนี้สบายใจได้ว่า มีหน่วยงานของรัฐอาจเข้ามาช่วยจ่ายภาระดอกเบี้ยช่วงที่มีการแช่แข็งหรือจำศีล ทางธุรกิจไว้ได้

          ข้อสุดท้ายคือ อาจมีการแปลงหนี้เป็นทุนได้ แต่ลูกหนี้ซื้อคืนมาได้แน่นอน ไม่ต้องถูกยึดกิจการออกไป

          จะเห็นได้ว่าแนวทางการสร้าง โกดังพักหนี้ที่ผมเรียกว่า เซฟเฮ้าส์เอ็นพีแอลนั้น สถาบันการเงินไม่ต้องชาร์จหนี้กับลูกหนี้ และมีเงินไปปล่อยสินเชื่อในระบบ ขณะที่ผู้ประกอบการโรงแรมที่มีปัญหาการชำระหนี้ไม่ต้องอึดอัดใจว่าจะถูกยึดทรัพย์โรงแรมไปขายทอดตลาดในราคาถูกให้รายอื่น เพราะธุรกิจยังเปิดต่อไปได้ โดยที่ตัวเองยังเป็นเจ้าของกิจการและบริหารกิจการโรงแรมอยู่ต่อไป และเมื่อธุรกิจฟื้นตัวก็นำเงินไปจ่าย AMC ที่จ่ายหนี้แทนตัวเองไป เป็นอันว่าจบ

          แม้รูปแบบของมาตรการสร้างโกดังพักหนี้ Warehousing ของธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนี้ จะยังไม่มีการสรุปแนวทางที่ชัดเจนให้เป็นรูปธรรม แต่ความพยายามคิดที่นอกกรอบแบบนี้แหละครับจะช่วยประเทศได้

          สถานการณ์จากโควิดนั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะฉะนั้นจะใช้กรรมวิธีแบบเดิมที่เราเคยใช้มาแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องคิดนอกกรอบ คิดนอกตำรา 

          เพราะความผิดของการทำธุรกิจไม่ได้เกิดจากผู้ประกอบการเลย แต่เกิดจากวิกฤติการระบาดของโรค จนรัฐบาลต้องประกาศล็อกดาวน์ประเทศ ห่วงโซ่ของเศรษฐกิจจึงพังพาบ การจะปล่อยให้ผู้ประกอบการต้องล้มหายตายจากและหาทางออกด้วยตัวเองจึงไม่ใช่วิธีคิดที่ถูกต้อง

          รัฐบาล หน่วยงานทางเศรษฐกิจหลักของประเทศ จะต้องกระโดดลงมาช่วยอย่างเต็มแรง เพราะสุดท้ายธุรกิจเหล่านี้แหละที่จะมาจ่ายภาษี ช่วยจ้างงานผู้คนในประเทศ ช่วยซื้อสินค้าการเกษตรที่เป็นวงจรเศรษฐกิจให้หมุนไป...คุณเห็นด้วยมั้ยครับ!