การบังคับใช้กฎหมาย กับการชุมนุมทางการเมือง

25 พ.ย. 2563 | 05:05 น.

การบังคับใช้กฎหมายกับการชุมนุมทางการเมือง : คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3630 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 26-28 พ.ย.2563 โดย...ประพันธุ์ คูณมี

          สืบเนื่องจากกรณีเมื่อ 19 พ.ย.63 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกแถลงการณ์โดยมีรายละเอียดว่า “จากสถานการณ์การชุมนุมในห้วงที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลและทุกฝ่ายกำลังร่วมกันหาทางออกโดยสงบและสันติ บนพื้นฐานของกระบวนการตามกฎหมาย และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวยังไม่มีทีท่าที่บรรเทาลง แม้รัฐบาลได้แสดงความจริงใจในการแก้ปัญหา โดยหน่วยงานความมั่นคงได้ใช้ความพยายามปฏิบัติหน้าที่ ในการรักษาความสงบเรียบร้อย รวมทั้งติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใก้ลชิด ดำเนินการต่างๆตามหลักสากลด้วยความระมัดระวัง โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรักษาบรรยากาศ ของความรักความสามัคคีปรองดองของทุกคนในชาติ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของบ้านเมือง และประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นสำคัญ 

          ปัจจุบันสถานการณ์ยังคงไม่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีนัก และมีแนวโน้มจะพัฒนาไปสู่ความขัดแย้ง นำไปสู่ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป อาจเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ และสถาบันอันเป็นที่รักยิ่ง รวมทั้งความสงบสุขปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยทั่วไป รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคง จึงจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติ โดยจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย เพิกเฉยต่อการเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น โดยจะดำเนินคดีต่างๆ ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติ ธรรมของประเทศ ที่สอดคล้องกับหลักสากล จึงขอแจ้งมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน”

          จากคำแถลงดังกล่าว เท่ากับเป็นการยอมรับต่อประชาสังคมของนายกรัฐมนตรีว่า การบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีข้อบกพร่องหย่อนประสิทธิภาพ โดยมิได้เคร่งครัดในการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมทางการเมือง ที่ได้กระทำความผิดต่อกฎหมาย โดยหวังว่าการกระทำโดยละเว้นการปฏิบัติตามกฎหมาย ทุกมาตราและทุกการกระทำความผิด จะเกิดผลให้มีความปรองดองสามัคคี เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง 

          แต่ที่สุดการทั้งหลายก็หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ผลคือสังคมยิ่งเกิดปัญหาและความวุ่นวายมากยิ่งขึ้น มีการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมาย และมีพฤติกรรมที่เป็นการจาบจ้วงล่วงละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเหิมเกริมหนักข้อยิ่งขึ้นไปอีก โดยผู้ชุมนุมไม่นำพาต่อกฎหมายและขื่อแปรของบ้านเมือง พวกเขาไม่เคยเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นแต่อย่างใด ทั้งที่ปากก็ประกาศปาวๆ ว่าตนสู้เพื่อประชาธิปไตย มิหนำซ้ำยังหนักข้อลามปามไปถึงทำลายทรัพย์สินราชการ หรือของบุคคลอื่น กระทั่งบังอาจท้าทายอำนาจรัฐ ส่อเจตนามุ่งทำลายไปถึงทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยผิดกฎหมายอีกด้วย

          ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในการชุมนุมทางการเมืองของพวกที่อ้างชื่อว่าเป็น “กลุ่มราษฎร” นี้ ล้วนแต่แสดงออกไปในทางที่หยาบคาย ถ่อยเถื่อน ละเมิดผู้อื่นและกระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มต้น มิใช่เพิ่งเกิดขึ้นแต่อย่างใด เหตุที่คนเหล่านี้ยังเหิมเกริมและบังอาจกระทำการอันเป็นความผิดต่อกฎหมาย ก็เพราะการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐอ่อนแอและไร้ประสิทธิภาพนั่นเอง 

          ไม่มีประเทศใดในโลกนี้ ที่รัฐบาลจะปล่อยให้บุคคลใดมีอำนาจเหนือกฎหมายหรือเหนืออำนาจรัฐ แม้แต่สหรัฐอเมริกา ประเทศที่พวกผู้ชุมนุมชื่นชมยกย่อง เขายังจัดการกับผู้ชุมนุมที่กระทำผิดกฎหมายโดยเด็ดขาด กระทั่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืนเพื่อระงับยับยั้งการกระทำผิดด้วยกฎหมาย และที่เป็นการคุกคามต่อชีวิตร่างกายของเจ้าหน้าที่ได้ด้วย

          การชุมนุมโดยผิดกฎหมายและการกระทำที่เป็นการเจตนาทำลายความสงบสุขของบ้านเมือง การคุกคามต่อสิทธิเสรีภาพผู้อื่น และการกระทำความผิดทางอาญาเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ หรือกระทำความผิดต่อสถาบันกษัตริย์ ย่อมไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ ตามรัฐธรรมนูญ ข้อเท็จจริงว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้กระทำความผิดเช่นนั้นจริงหรือไม่ ได้ปรากฏขึ้นตั้งแต่การชุมที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อ 10 ส.ค.63 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกในวันที่ 25 พ.ย.63 ที่หน้าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก่อนจะเปลี่ยนสถานที่ไปชุมนุมที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ซึ่งทุกการชุมนุมล้วนมิใช่การชุมนุมด้วยความสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ ตามรัฐธรรมนูญหรือโดยเคารพต่อกฎหมายตาม พรบ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 แต่อย่างใด 

          จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรต้องแถลงข้อเท็จจริงแก่ประชาชนโดยทั่วไปว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมีพฤติกรรมและการกระทำใดบ้างอันเป็นความผิดต่อกฎหมาย และเป็นการชุมนุมที่มิใช่เป็นการใช้สิทธิ เสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญอย่างไร กระทำให้เกิดความเดือดร้อน เสียหาย แก่บุคคคลอื่นและรัฐ อย่างไร เป็นสิ่งที่รัฐพึงกระทำและเป็นหน้าที่โดยตรงของผู้บังคับใช้กฎหมาย ต้องแถลงและนำข้อเท็จจริงมาตีแผ่ให้สังคมร่วมรับทราบ เพื่อเหตุผลและความจำเป็นที่รัฐต้องดำเนินการกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายโดยเด็ดขาด เพราะรัฐบาลไม่มีหน้าที่ที่จะหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมาย และไม่มีหน้าที่ที่จะเลือกใช้หรืองดเว้นการใช้อำนาจตามกฎหมาย เมื่อพบว่ามีผู้กระทำความผิดกฎหมาย

          การแถลงของนายกรัฐมนตรี แม้จะฟังดูดีและน่าเห็นใจเพียงใดก็ตาม แต่ถ้อยแถลงดังกล่าว ก็มิอาจรับฟังให้เป็นข้ออ้างในการละเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กับเหตุการณ์การกระทำความผิดใดๆ ของผู้ชุมนุมที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมทางการเมืองกลุ่มราษฎร ได้ทำความผิดต่อกฎหมายอย่างโจ่งแจ้งและกระทำผิดซ้ำซาก โดยท้าทายต่ออำนาจรัฐ จนเป็นที่อิดหนาระอาใจของประชาชน 

          หากนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานรัฐทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง ไม่ดำเนินการบังใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดกับผู้กระทำความผิดแล้ว รัฐบาลก็ไม่อาจดำรงความเป็นรัฐบาลได้อีกต่อไป ความไม่กล้าหาญในการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาล จะทำให้รัฐกลายเป็นรัฐที่ล่มสลาย สังคมไร้ความสงบสุข ที่สุดย่อมสิ้นชาติสิ้นแผ่นดินเท่านั้นเอง 

          ภารกิจของรัฐบาลที่สำคัญเร่งด่วน จึงมิใช่เพียงการแถลงว่าจะปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะท่านมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และดำเนินการกับผู้กระทำผิดให้เห็นผลมาตั้งนานแล้ว เพราะมีแต่การบังคับใช้กฎหมายโดยเด็ดขาด ด้วยความเป็นธรรม ทำให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันเท่านั้น สังคมไทยจึงจะอยู่รอด