“คนละครึ่ง-ลมหนาว” หัวเชื้อ เคลื่อนเศรษฐกิจชาวบ้าน

21 พ.ย. 2563 | 02:00 น.

“คนละครึ่ง-ลมหนาว” หัวเชื้อ เคลื่อนเศรษฐกิจชาวบ้าน : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3629 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 26-28 พ.ย.2563

 

นอกจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงว่ามีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ จากตัวเลขจีดีพีไทยไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.2563) แม้ยังหดตัวที่ -6.4% แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ที่ลงไปถึง -12.1% และน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ทำให้คาดจีดีพีทั้งปี 2563 จะอยู่ที่ -6% จากการขยายตัวของการใช้จ่ายการลงทุนภาครัฐ การกลับมาเปิดดำเนินการของภาคธุรกิจต่างๆ หลังคลายล็อกอย่างค่อยเป็นค่อยไปแล้ว
 

บรรยากาศเศรษฐกิจไทยเวลานี้มีแนวโน้มทางบวกเพิ่มขึ้น จากปัจจัยบวกหลายประการที่เริ่มส่งผล ไม่ว่าจะเป็นโครงการ “คนละครึ่ง” ที่มีกระแสตอบรับอย่างสูง ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายของผู้บริโภคในการซื้อหาของกินของใช้ประจำวัน โดยเม็ดเงินนี้กระจายตรงผ่านมือประชาชนผู้ร่วมโครงการ 10 ล้านคน ผ่านร้านค้ารายย่อยกว่า 300,000 รายทั่วประเทศ รวมวงเงินใช้จ่ายรวมกัน 60,000 ล้านบาทในรอบแรก  จุดประกายให้เศรษฐกิจระดับฐานรากเกิดการหมุนเวียนคล่องตัวยิ่งขึ้น จนรัฐบาลเตรียมขยายโครงการสู่เฟส 2 และ 3
   

ขณะที่โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่รัฐบาลออกมาก่อนหน้านี้กระตุ้นไทยเที่ยวไทย  เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเชื้อโควิด-19 ระบาด ผู้คนลดเดินทาง นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมาเดินทาง แต่ไม่ได้รับเสียงตอบรับนัก การใช้สิทธิตํ่ากว่าเป้า ทั้งจากยังไม่มั่นใจที่จะไปเที่ยว หรือไม่มั่นใจอนาคตทางเศรษฐกิจว่าผลกระทบโควิด-19 จะสิ้นสุดลงเมื่อใด มีที่พอได้อานิสงส์บ้างในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ก็จำกัดอยู่ในกลุ่มเมืองท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯเป็นหลัก
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"คลัง" พร้อมมากมอบของขวัญปีใหม่"คนละครึ่งเฟส2 – เติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ"
วิธี "ตรวจสอบเงินประกันรายได้"ข้าว -ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ -ยาง
ธ.ค.เตรียมพร้อมลงทะเบียนคนละครึ่งรอบ4

เดือนพฤศจิกายนนับแต่เทศกาลลอยกระทงที่เริ่มเข้าสู่หน้าหนาว และเป็นช่วงปิดเทอมของนักเรียนปีนี้ กระแสการเดินทางท่องเที่ยวหัวเมืองภาคเหนือค่อยเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นลำดับ ล่าสุด ตัวเลขคนเดินทางผ่านสนามบินเชียงใหม่เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 20,000-22,000 คน และอาจถึง 25,000 คนในช่วงหยุดยาว แม้ยังไม่เท่า 40,000 คนช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แต่ก็เป็นตัวเลขเฉพาะนักเดินทางคนไทย
 

นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ (ตอนบน) ชี้ว่า อัตราการเข้าพักของโรมแรมในเชียงใหม่เวลานี้เขตเมืองขยับจาก 15% มาอยู่ที่ประมาณ 40% หากเป็นโซนภูเขาปรับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 60% นอกจากเป็นช่วงปิดเทอม สภาพอากาศหนาวเป็นใจแล้ว ยังอยู่ในช่วงใช้สิทธิเราเที่ยวด้วยกัน ที่ภาครัฐช่วยอุดหนุน 40% ยังสมทบกับที่สถานประกอบการลดอัตราค่าที่พักลงมาเพื่อดึงดูดลูกค้าอีกส่วนหนึ่งด้วย และมาจับจ่ายในตลาดยังได้ใช้สิทธิคนละครึ่งอีก ทำให้เศรษฐกิจพื้นที่หมุนเวียนดีขึ้น
 

นอกจากนี้แล้ว ปัจจุบันสายการบินต่างๆ ยังเปิดเส้นทางบินข้ามภาค เชื่อมโยงหัวเมืองเศรษฐกิจต่างพื้นที่เข้าด้วยกันเพิ่มขึ้น เช่น ล่าสุดไทยสมายล์เปิดเส้นทางบินตรงจากเชียงใหม่และอุดรธานีไปจังหวัดนครศรีธรรมราช เพิ่มโอกาสการเดินทางนำคนภาคเหนือ-อีสาน ไปทัวร์ไหว้ “ไอ้ไข่วัดเจดีย์” พร้อมรับคนภาคใต้ขึ้นไปรับลมหนาวภาคเหนือและอีสาน เกิดการแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจภายในระหว่างกันใกล้ชิด
 

ปรากฎการณ์เหล่านี้เป็นรูปธรรมของเศรษฐกิจ “ชาวบ้าน” คนไทยด้วยกันเอง ที่รัฐควรเร่งขยายผลเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้หันมาพึ่งตลาดภายในด้วยกันเองซึ่งจะมั่นคงและยั่งยืนกว่าการพึ่งตลาดภายนอกเช่นที่เป็นมา