ความเห็นต่าง หรือความขัดแย้ง ที่มิอาจประนีประนอมได้

19 พ.ย. 2563 | 07:42 น.

ความเห็นต่าง หรือความขัดแย้ง ที่มิอาจประนีประนอมได้ : คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3628 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 19-21 พ.ย.2563 โดย...ประพันธุ์ คูณมี

 

          บรรยากาศทางการเมืองในบ้านเมืองของเราขณะนี้ มีการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นแทบทุกสัปดาห์ หลังจากเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้ได้เงียบสงบไปหลายปี นับแต่มีการยึดอำนาจการปกครองโดยคณะนายทหาร เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา 

          แต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองคราวนี้ แตกต่างจากอดีตโดยสิ้นเชิงโดยมีลักษณะเฉพาะที่พิสดารหลายประการ กล่าวคือ

          1. องค์ประกอบของกลุ่มผู้ชุมนุม เริ่มจากแกนนำพรรคการเมืองที่ถูกยุบ แปรเปลี่ยนมาเป็นกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่เป็นมวลชนและแนวร่วมกับพรรคถูกยุบ พัฒนาไปเป็นกลุ่มราษฎร 2563 โดยมีอาจารย์นักวิชาการสายต่อต้านสถาบันกษัตริย์ และยึดมั่นอุดมการณ์ปฏิวัติ 2475 เป็นพี่เลี้ยงอยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลัง และก็เปลี่ยนชื่อไปเรื่อยๆ จนไม่ทราบว่าใครเป็นใคร

          2. การชุมนุมจากมีแกนนำ กลายเป็นไร้แกนนำและการนำที่เปิดเผย แต่มีการจัดตั้งมีคนชักใยอยู่ข้างหลัง แถมมีการสนับสนุนจากองค์กรต่างชาติ เช่นเดียวกับที่เคยป่วนฮ่องกงและโลกตะวัน ออกกลางจนย่อยยับ

          3. ข้อเรียกร้องก็สะเปะสะปะ ไม่มีประเด็นหลักรอง ใน 3 ข้อเรียกร้องมีหลายประเด็นแต่ไม่ชัดเจนว่าต้องการประชาธิปไตย หรือต้องการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ จะแก้รัฐธรรมนูญหรือต้องการให้นายกฯลาออก

          4. เป็นการชุมนุมของคนส่วนน้อยที่ท้าทายท้ารบกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ แกนนำผู้ชุมนุมไม่สนใจแนวร่วมหรือพันธมิตร เพราะด่าทุกคนที่ไม่เห็นด้วย ด้วยถ้อยคำหยาบคาย ตามด้วยพฤติกรรมจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันกษัตริย์ โดยมิได้คำนึงถึงความรู้สึกของปวงชนชาวไทยผู้จงรักภักดี ว่าจะโกรธแค้นหรือไม่พอใจอย่างไร

          5. กิจกรรมในการชุมนุมหาสาระไม่ได้ ข้อมูลการปราศรัยไม่มี ด่าทอหยาบคายลูกเดียว สลับการแสดงและจัดปาหี่ทางการเมือง

          6. เป็นการชุมนุมที่ฝ่ายค้านชื่นชม ผู้ใหญ่ที่หลอกใช้เด็กเชียร์ ยกยอว่าเด็กคิดดีก้าวหน้า ทั้งๆ ที่เป็นการชุมนุมที่ออกไปทางเถื่อนถ่อยและล้าหลังที่สุด ไร้ความคิดสร้างสรรค์ไม่ประเทืองปัญญา ไม่อาจฝากความหวังอะไรได้เลย กลายเป็นม็อบฝนตกขี้หมูไหล เป็นที่อิดหนาระอาใจ

          แม้การชุมนุมทางการเมืองที่เห็นและเป็นอยู่ จะแสดงออกมาในทางที่ไม่เคารพกฎหมายและสิทธิเสรีภาพผู้อื่น ไม่ฟังความคิดเห็นของใคร แต่ก็ยังปรากฏว่า บรรดานักการเมือง อาจารย์นักวิชาการ ที่ถือหางเด็กเหล่านี้ มักจะออกมาแสดงความคิดเห็นบ่อยๆ ว่า นี่เป็นการชุมนุมตามระบอบประชาธิปไตย เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยพยายามเรียกร้องให้คนที่ไม่เห็นด้วยเคารพสิทธิของผู้ชุมนุม และเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง 

          ทั้งที่คนเหล่านั้นไม่เคยเคารพความคิดเห็นของผู้อื่นแต่อย่างใด ครั้นถูกดำเนินคดีหรือถูกสลายการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย พวกเขาก็จะออกมาตะโกนประสานเสียงคัดค้าน ห้ามมิให้รัฐจัดการกับผู้ชุมนุม โดยอ้างว่านี่เป็นเรื่องการแสดงออกทางการเมือง เป็นเรื่องความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ในระบอบประชาธิปไตย และเรื่องนี้ แม้แต่นายกรัฐมนตรี, ส.ส., ส.ว., หลายคน ก็เห็นไปในทำนองเดียวกัน ในการอภิปรายปัญหานี้ในสภาฯ ว่าเป็นเรื่องความคิดเห็นที่แตกต่างกันในระบอบประชาธิปไตย

          ความจริงแล้ว การชุมนุมของกลุ่มฝนตกขี้หมูไหลเหล่านี้ มิใช่เป็นการแสดงออกทางการเมืองด้วยความคิดเห็นที่แตกต่างกันแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีข้อเท็จจริงที่รัฐควรพิจารณาและพึงได้ทบทวนเสียใหม่ เพราะเมื่อพิจารณาจากข้อเรียกร้องและพฤติกรรมของผู้ชุมนุมแล้ว จะเห็นได้ว่าใน 3 ข้อเรียกร้องนั้น มีทั้งเรื่องความคิดเห็นที่แตกต่างกันในทางการเมือง ปนกับเรื่องความคิดเห็นที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสังคมอย่างร้ายแรง ที่มิอาจรับฟังและประนีประนอมกันได้รวมอยู่ด้วย กล่าวคือ

          1.ข้อเรียกร้องและข้อเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในบางมาตราหรือทั้งฉบับนั้น ถือว่าเป็นความคิดเห็นทางการเมือง ที่แต่ละคนสามารถมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามกฎ กติกาของกฎหมายและประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ถ้าจะต้องแก้ทุกมาตรา ทุกหมวด ย่อมเป็นเรื่องที่มิอาจประนี ประนอมได้

          2. ข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาตนเองลาออก ด้วยเหตุผลต่างๆ ในทางการเมืองก็ยังถือได้ว่า เป็นเรื่องทัศนคติและความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน การปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ย่อมมีทั้งคนที่นิยมและชื่นชอบ หรือไม่นิยมไม่ชื่นชอบเป็นธรรมดา แต่นายกจะลาออกหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงทางการเมืองว่า ได้กระทำความผิดร้ายแรง สร้างความเสียหายหรือมีพฤติกรรมการกระทำผิดอย่างไร หรือไม่ก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการการตรวจสอบ ควบคุมจากฝ่ายนิติบัญญัติ หรือโดยต้องคดีและถูกพิพากษาจากศาลว่ากระทำผิด จนไม่อาจดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เท่านั้น 

          3. แต่ข้อเรียกร้องเรื่องการปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ที่ส่อเจตนาชัดแจ้งว่าเป็นการล้มล้างและริดรอนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์นั้น หาใช่เป็นการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างกันในทางการเมืองแต่อย่างใดไม่ 

          เพราะโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามบทบัญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ นับแต่มีประเทศไทยเป็นต้นมา สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งในสถาบันหลักของชาติ จึงปรากฏเป็นหลักให้คนไทยทุกคนยึดมั่นในคำว่า “ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์” เป็นคำขวัญและหลักยึดเหนี่ยวจิตใจชาวไทยทุกคนตลอดมา 

          นอกจากนี้รัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 ว่าด้วยประเทศไทยและสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงมีบทบัญญัติห้ามแก้ไข โดยบัญญัติในมาตรา 1 “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกัน จะแบ่งแยกมิได้” และบัญญัติในมาตรา 6 ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” 

          ด้วยเหตุนี้ ปัญหาว่าประเทศไทยควรมีสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ หรือควรต้องริดรอนอำนาจลงหรือไม่ ควรจะต้องถูกม็อบขี้หมูไหลจากคนส่วนน้อยหยิบมือเดียว มาลบหลู่ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้อย จาบจ้วงล่วงละเมิดหรือไม่ จึงมิใช่เป็นเรื่องของการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันแต่อย่างใด 

          การกระทำใดๆ ของกลุ่มหรือบุคคลใดในกรณีดังกล่าว จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นและการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ ต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญและต่อประชาชนไทยทั้งมวล หาใช่การแสดงออกด้วยความคิดเห็นที่แตกต่างกัน รัฐธรรมนูญไทย กฎหมายไทย และประชาชนไทย ไม่ยินยอมและไม่ได้ให้สิทธิ เสรีภาพใดๆ แก่บุคคลที่จะกระทำเช่นนั้นได้โดยเด็ดขาด การกระทำเช่นนั้นจึงเป็นกรณีที่เป็นการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาชน และหลักการสำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่มิอาจประนีประนอมให้แก่บุคคลใดๆ กระทำเช่นนั้นได้แต่อย่างใด

          ด้วยเหตุผลข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และหลักประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดังกล่าว จึงไม่อนุญาตและไม่ยินยอมให้นำเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ และเรื่องความเป็นราชอาณาจักรไทย ไปเจรจาต่อรองใดๆ กับใครทั้งสิ้น 

          เรื่องนี้รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาและแยกแยะให้ถูก ไม่ควรหน่อมแน้มกับปัญหาปล่อยให้ม็อบขี้หมูไหลก้าวล่วงละเมิดต่อปัญหานี้ บางเรื่องเจรจาได้ ประนีประนอมได้ แต่เรื่องสถาบันกษัตริย์ ไม่ใช่เรื่องที่จะปล่อยให้ม็อบถ่อยมายํ่ายีได้ และไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลจะลอยตัว ปล่อยให้สถาบันเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุมโดยลำพังอีกต่อไป เพราะเรื่องนี้ไม่อาจประนีประนอมได้และเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาล ที่จะต้องดำเนินการกับผู้กระทำผิดโดยเด็ดขาดตามกฎหมายนั่นเอง